กรมควบคุมโรค นิยาม โควิด-19 ในไทยยังไม่มีผู้แพร่เชื้อจาก Superspreader

ภาพจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

หลังจากประเทศไทยพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มอีก 3 ราย ในวันนี้ (26 กพ.63) ซึ่ง 2 รายเดินทางกลับญี่ปุ่น และไม่แจ้งประวัติการเดินทางในวันแรกที่เข้ารับการรักษา ทำให้แพร่เขื้อบุคคลที่เกี่ยวข้องแวดล้อมอีก 1 ราย และต้องเฝ้าระวัง และปิดสถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวกับ 3 รายนี้

ทำให้ในสังคมโซเชียล วิพากษ์วิจารณ์ ถึงผู้ป่วยที่แพร่เชื้อว่าอาจจะเป็น Superspreader

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายว่านิยามของ Superspreadet -ซูเปอร์สเปรดเดอร์ คือ “คนที่มีความสามารถแพร่โรคไปให้กับคนอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก โดยมีตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่สองกว่า ๆ พูดง่าย ๆ คนหนึ่งคนจะสามารถแพร่โรคโดยเฉลี่ยไปได้ประมาณ 2 คนกว่า ๆ ตัวเลขนี้เป็นเลขที่สูงมาก แค่ตัวเลขนี้ตัวเลขเดียว ถ้าไม่ควบคุมโรคจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นเร็วมาก”

ซูเปอร์สเปรดเดอร์ เป็นคนที่ติดเชื้อแล้วสามารถแพร่โรคให้กับคนได้มากกว่าค่าเฉลี่ยหลาย ๆ เท่า ตอนนี้ที่พบในต่างประเทศ 1 คน มีการแพร่ให้กับคน 20 คน

“กรณีของไทย จนถึงวันนี้จากการสอบสวนโรคเท่าที่พยายามค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงมาตรวจแล้วนั้น ตอนนี้ผู้ป่วยรายแรกที่เป็นผู้ป่วยนำเข้า เดินทางกลับมาจากประเทศญี่ปุ่นจนถึงวันนี้ (26 ก.พ.63) ทำให้คนรอบตัวติดเชื้อแค่ 1 คน เพราะรายที่เป็นภรรยาน่าจะติดมาจากญี่ปุ่นด้วยกัน ตอนหลังอาจมีผู้สัมผัสติดเชื้อเดี๋ยวค่อยว่ากัน”

นพ.ธนรักษ์ยืนยันว่า “มีผู้สัมผัสติดเชื้อผู้ป่วยรายนี้แค่คนเดียว ซูเปอร์สเปรดเดอร์ คือ แพร่เชื้อไปให้คนอื่นเป็นสิบคน แต่สำหรับกรณีนี้ตอนนี้ยังไม่ไปถึงขนาดนั้น”

“เคสนี้อาจมีความยากลำบากตรงที่มีผู้สัมผัสเป็นจำนวนมาก แต่การมีผู้สัมผัสเป็นจำนวนมากไม่ได้บอกว่า คนไข้เป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ การที่มีผู้สัมผัสมากขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนสัมผัสมากน้อยแค่นี้ ซึ่งเราก็จะติดตามผู้สัมผัสให้ได้ทั้ง 14 วัน ดูว่าติดเชื้อหรือเปล่าต่อไป”