สถาบันวัคซีนแห่งชาติ คาดไทยผลิตวัคซีนโควิดใช้เองได้ปลายปี 64

ภาพ Pixabay

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เผยความคืบหน้าไทย ผลิตวัคซีนโควิด จุฬาฯ เริ่มทดลองในลิง หากสำเร็จเตรียมขยายการทดสอบในคนช่วงปลายปี 63 ขณะที่ภาพรวมทั่วโลกวิจัยในคนแล้ว 10 ชนิด คาดหากเป็นไปตามแผน ไทยจะผลิตใช้ได้เองปลายปี 64

วันที่ 24 พฤษภาคม 2563 ในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เผยความคืบหน้าการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยตอนนี้ โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) จับมือกันวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิดให้เกิดขึ้นในประเทศ พร้อมกับหน่วยงานต่างๆ ที่ริเริ่มพัฒนาวัคซีนต้นแบบขึ้น ไม่ว่าจะเป็น จุฬาฯ ไบโอเนทเอเชีย ไบโอเทค สวทช. ม.มหิดล คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ทั้งหมดอยู่ในระหว่างพัฒนาวัคซีนพร้อมทั่วโลก

“ในวันนี้เรามีความก้าวหน้าวัคซีนต้นแบบ 2 ชนิด คือวัคซีน DNA กับ mRNA ซึ่งเป็นรูปแบบที่ทันสมัยพัฒนาได้อย่างรวดร็ว และเริ่มทดลองในสัตว์ทดลองแล้ว ในส่วนของ DNA วัคซีน บริษัทไบโอเนท-เอเชีย ได้เริ่มทำการทดลองในหนูแล้ว และ mRNA วัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ผ่านการทดลองในหนู และเริ่มทดลองในลิงแล้วเมื่อวานนี้”

อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่ผ่านการทดสอบจะต้องมีขั้นตอน โดยต้องผ่านการทดสอบในสัตว์ทดลองให้ได้ผลเป็นที่พอใจ ผ่านเงื่อนไขทั้งในแง่ความปลอดภัยและกระตุ้นภูมิคุ้มกันในสัตว์ ถึงจะนำมาเริ่มทดสอบในคน ซึ่งการทดสอบในคนจะต้องมี 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ความปลอดภัย ต้องทดสอบในอาสาสมัคร 30-50 คนขึ้นไป ระยะที่ 2 การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ต้องทดสอบในอาสาสมัครตั้งแต่ 250-500 คน และระยะที่ 3 ดูว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นให้ผลในการป้องกันโรคหรือไม่ และจะต้องทดสอบ 1,000 คนขึ้นไป

นายแพทย์นครกล่าวต่อว่า ตอนนี้ในระดับนานาชาติเริ่มทดสอบในคนแล้ว ข้อมูล ณ วันที่ 22 พฤษภาคม มีการเริ่มทดสอบในคนไปแล้วทั้งหมด 10 ชนิด ประกอบด้วย ประเทศจีน 5 ชนิด สหรัฐอเมริกา 2 ชนิด อังกฤษ 1 ชนิด เยอรมัน 1 ชนิด และออสเตรเลีย 1 ชนิด ขณะเดียวกันมีวัคซีนในสัตว์ทดลองอีก 114 ชนิด ซึ่งรวมของประเทศไทยด้วย จะเห็นได้ว่าแม้ว่าประเทศไทยจะช้ากว่าประเทศแนวหน้า แต่ก็ไม่ได้อยู่แถวหลัง เราอยู่ในกลุ่มที่จะต้องวิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หลายประเทศเริ่มเดินหน้าแล้ว ก็จะเป็นพื้นฐานให้ประเทศที่กำลังพัฒนา นักวิจัยทั่วโลกก็หวังจะมีวัคซีนโควิดเกิดขึ้น ไทยก็มีนักวิจัยที่มีศักยภาพใประเทศ และมีนักวิจัยจากหลากหลายเข้าร่วมสนับสนุนด้วย นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้สร้างพันธมิตรกับนานาชาติในการร่วมมือวิจัยพัฒนาวัคซีน เช่น จีน โดยหวังว่าถ้าวัคซีนชนิดไหนที่พันธมิตรพัฒนาแล้วสามารถใช้ป้องกันโรคได้ เราก็จะขอร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีและมีข้อตกลงในการจัดซื้อวัคซีนร่วมกัน เพื่อให้ประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันโรคโควิดได้ใช้ในเวลาใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ

ด้าน ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวต่อว่า ในส่วนของภาพรวมทั่วโลก จีนมีโอกาสเป็นแชมป์ในการผลิตวัคซีนได้เร็วสุด แต่ประเทศเขามีประชากรราว 400 กว่าล้านคน ต่อด้วยอเมริกาที่มีประชากรหลายร้อยล้านคนเช่นกัน ซึ่งจะต้องผลิตใช้เองในประเทศเขาก่อน ไทยจึงจำเป็นต้องพึ่งตนเอง ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีประมาณ 6-7 ตัวในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด โดยชนิด mRNA ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ขณะนี้ผ่านการทดลองในหนูแล้ว และพบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ผลดี และตอนนี้อยู่ในขั้นทดลองในลิง และได้มีการฉีดไปแล้วเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ซึ่งปกติวัคซีนเมื่อฉีดแล้วภูมิคุ้มกันจะขึ้นสูงในช่วง 4-6 สัปดาห์ คาดว่าช่วงปลายเดือนมิถุนายนจะสามารถตรวจเลือดลิงเพื่อดูผลการทดลองได้ หากตรวจพบภูมิคุ้มกันต่ำ ก็จะต้องตรวจอีกครั้งประมาณต้นเดือนหรือปลายเดือนกรกฎาคม

นอกจากนี้สิ่งที่ทำคู่ขนานกันไปคือการประสานโรงงานผลิตวัคซีน mRNA 2 แห่งคือบริษัทไบโอเนทสหรัฐอเมริกา และไบโอเนทเยอรมันเพื่อผลิตวัคซีนเริ่มต้นจำนวน 10,000 โดส สำหรับใช้ทดลองในคนที่เป็นอาสาสมัคร โดยจะใช้อาสาสมัคร 5,000 คน ฉีดให้คนละ 2 เข็ม และคาดว่าจะเริ่มในช่วงปลายปี 2563 นี้ แบ่งการทดลองออกเป็น 3 ระยะ เพื่อดูความปลอดภัย การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดย ระยะที่ 1 จะเป็นกลุ่มอาสาสมัครที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่ำ ระยะที่ 2 จะเป็นกลุ่มอาสาสมัครที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทั้งสูงและต่ำ และระยะที่ 3 จะใช้อาสาสมัครที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง แต่ทั้งนี้ ประเทศไทยเริ่มมีจำนวนผู้ป่วยลดลงในระยะ 3 ต้องประเมินอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม หากทดสอบวัคซีนแล้วว่ามีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพได้ผลดี ป้องกันโควิด-19 ได้ ไทยน่าจะมีความพร้อมในการผลิตวัคซีนอีกประมาณ 1 ปีครึ่ง หรือหากทดสอบแล้วเป็นไปตามแผนที่วางไว้ทุกขั้น น่าจะเริ่มทดสอบวัคซีนในคนปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564 และคาดว่าปลายปี 2564 ประเทศไทยจะสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อให้คนไทยหลายล้านคนได้ใช้