กทม.ติดเชื้อโควิดเพิ่ม 3 ราย โยงเคสจุฬาฯ ลุยโรงงานเสี่ยง 13,480 ราย

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค.

กทม.ติดเชื้อโควิดใหม่วันนี้แค่ 3 ราย สะสมแล้ว 863 คาดโยงเคสพบผู้ติดเชื้อที่จุฬา ฯ ระบุอาจมีติดเชื้อเพิ่มอีก 9 ราย ด้านศบค.ลุยตรวจโรงงานเสี่ยงแล้ว 13,480 ราย พบติดเชื้อแค่ 54 ราย เน้นย้ำใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันไม่ติดเชื้อ แต่ต้องล้างมือ-ใส่หน้ากาก

วันที่ 8 ก.พ. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยพบมีผู้ติดเชื้อใหม่ 3 ราย

ป่วยสะสมรวม 863 ราย

ทั้งหมดเป็นการติดเชื้อภายในประเทศจากการไปพื้นที่เสี่ยง มีอาชีพเสี่ยง หรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อก่อนหน้านี้ทั้งหมด

สำหรับรายละเอียดผู้ติดเชื้อใหม่ เป็นเพศชายทั้งหมดอายุ 28-64 ปี สัญชาติไทยทั้งหมด แสดงอาการทั้ง 3 ราย และรักษาตัวที่โรงพยาบาลพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทุกราย

ทำให้ตัวเลขผู้ติดเขื้อสะสม (18 ธ.ค. 2563 – 8 ก.พ.2564) รวมแล้วอยู่ที่ 863 ราย เป็นอันดับ 2 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด รองจากจ.สมุทรสาคร

เคสจุฬาฯส่อติดเพิ่มอีก 9 ราย

ด้านพญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า ตัวเลขตัวติดเชื้อใหม่ประจำวันนี้ (8 ก.พ. 2564) มีความเกี่ยวข้องกับเคสการพบผู้ติดเชื้อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยยังมีการสอบสวนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอยู่ เบื้องต้นคาดว่าจะมีอีกอย่างน้อย 9 ราย ที่จะกลายเป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ จึงขอให้ติดตามการแถลงของกระทรวงสาธารณสุขในช่วงบ่ายวันนี้ด้วย

ทั้งนี้ จุฬาฯได้สอบสวนการแพร่เชื้ออย่างเข้มงวด โดยผู้ที่สัมผัสเสี่ยงสูงก็ให้ลาหยุดและกักตัวเป็นเวลา 14 วันแล้ว และได้ทำความสะอาดพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาดแล้ว

ค้นตรวจโรงงาน 123 แห่ง 13,480 ราย

ส่วนการตรวจเชิงรุกในโรงงานต่าง ๆ มีการคัดกรองต่อเนื่อง โดยวันที่ 8 ก.พ. 2564 ตรวจคัดกรองในโรงงานต่าง ๆ รวมแล้ว 123 แห่ง มีพนักงานที่เข้ารับการตรวจ 13,480 ราย พบติดเชื้อ 54 ราย คิดเป็น 0.4% ของจำนวนทั้งหมด

และจากการสอบสวนพฤติกรรมและสิ่งของเสี่ยงสูงที่จะแพร่เชื้อ เช่น ขันน้ำ ก๊อกน้ำดื่ม ลูกบิดประตู เป็นต้น ไม่พบเชื้อปนเปื้อน เนื่องจากมีการทำความสะอาดค่อนข้างสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตาม ในที่ที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก ประชาชนอาจกังวลว่าจะเป็นผู้ที่มีสัมผัสกับผู้ติดเชื้อสูงหรือไม่ กรมควบคุมโรคจะมีหลักเกณฑ์อยู่ 4 ข้อให้พิจารณา 1.มีสมาชิกในครอบครัวเดียวกันกับผู้ป่วย 2. มีการพูดคุยกับผู้ป่วยเกิน 5 นาที 3. ถูกผู้ป่วยจามไอรดใส่ และ 4.อยู่ในที่อับร่วมกับผู้ป่วยเกิน 15 นาที โดยที่ไม่ได้ใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย

สรุปคือ การใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันไม่ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงสูง เพียงแต่ให้ระมัดระวังตัวตามปกติ หากมีการจับ สัมผัสอะไรก็ตามที่คนใช้เยอะๆ ต้องล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และใส่หน้สกากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้ง

นอกจากนี้ ขอฝากไปยังเจ้าของหอพัก คอนโดฯ และหมู่บ้านจัดสรรขอให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ราชการ และกำหนดมาตรการควบคุมตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งหลายๆพื้นที่ทำได้ดีอยู่แล้ว