กางแผน สธ.ลุยฉีดโควิดเข็มแรก มี.ค. ดึง “ไทยเบฟ-SCG” ขนวัคซีน

ดึงไทยเบฟ-SCG ขนวัคซีน
ภาพโดย torstensimon จาก Pixabay

วัคซีน Sinovac จากจีนลอตแรก 2 แสนโดส ถึงไทย 24 ก.พ.นี้่ กรมวิทย์ฯตรวจคุณภาพ 5 วันพร้อมกระจายสู่จังหวัดเป้าหมาย เร่งฉีดคน 3 กลุ่ม นพ.โสภณ เมฆธน ประธานอนุ กก.บริหารจัดการวัคซีนฯ มั่นใจโรงพยาบาล-บุคลากร-ระบบโลจิสติกส์พร้อมเต็มร้อย ฉีดได้ทันทีที่วัคซีนกระจายถึง

นพ.โสภณ เมฆธน ประธานอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากไม่มีอะไรผิดพลาด วัคซีน 2 แสนโดสแรก จาก Sinovac จะมาถึงประเทศไทยวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 จากนั้นลอตที่ 2 จำนวน 8 แสนโดส จะมาถึงเดือนมีนาคม และลอตที่ 3อีก 1 ล้านโดส มาถึงเดือนเมษายน

กระจายวัคซีนโซนสีแดง-ส้ม

ไทม์ไลน์การดำเนินงานหลังวัคซีนมาถึงคือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะตรวจคุณภาพวัคซีนใช้เวลา 5 วัน แล้วจะกระจายไปยังจังหวัดเป้าหมาย จะเริ่มฉีดให้เร็ว แต่ยังไม่สามารถระบุวันชัดเจนได้ คาดว่าใช้เวลาฉีดเพียงไม่กี่วัน เนื่องจากวัคซีนลอตแรกมีไม่มาก การฉีดทั้งหมดระยะแรกรวม 2 ล้านโดสจะใช้เวลาไม่นาน

จังหวัดเป้าหมายที่จะได้ฉีดวัคซีนลอตแรก คือ พื้นที่สีแดงหรือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่สีส้ม คือ พื้นที่ควบคุม ปัจจุบันประกอบด้วย สมุทรสาคร กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสงคราม นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี ตาก ราชบุรี แต่ทั้งนี้ จังหวัดเป้าหมายที่จะได้ฉีดจะต้องพิจารณาตามสถานการณ์ หากจังหวัดไหนสถานการณ์ดีขึ้น และมีจังหวัดที่ระบาดหนักขึ้นมาใหม่ จะต้องปรับจังหวัดให้ตรงตามสถานการณ์

ขั้นตอนการฉีดวัคซีนเป็นไปตาม 8 ขั้นตอน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) วางไว้ 1.ลงทะเบียน (ทำบัตร) 2.ชั่งน้ำหนักวัดความดันโลหิต 3.คัดกรอง ซักประวัติ ประเมินความเสี่ยง ลงนามความยินยอมรับวัคซีน 4.รอฉีดวัคซีน 5.ฉีดวัคซีน 6.พักสังเกตอาการ 30 นาที และสแกน line official account “หมอพร้อม” 7.ตรวจก่อนกลับ พร้อมรับเอกสารการปฏิบัติตัวหลังฉีดวัคซีน 8.ประเมินผลความครอบคลุมการฉีดวัคซีนและอาการไม่พึงประสงค์ และนัดหมายฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ผ่าน “หมอพร้อม”

3 กลุ่มได้ฉีดก่อน

นพ.โสภณกล่าวว่า ประชากรในจังหวัดเป้าหมายซึ่งจะได้ฉีดวัคซีนลอตแรกมี 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข อสม. และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย เช่น ตำรวจ ทหาร

2.ประชาชนที่ป่วยโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจ และหลอดเลือด ไตเรื้อรังโรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน โดยให้แพทย์เป็นผู้ประเมินและคัดเลือกจากฐานข้อมูลการเข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาล 3.ประชาชนทั่วไปอายุ 18-59 ปี ที่ทำงานที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยว แรงงานภาคอุตสาหกรรม ผู้ที่ต้องเดินทางระหว่างประเทศ เช่น นักบิน/ลูกเรือ นักธุรกิจระหว่างประเทศ เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ และนักการทูต

สำหรับกรณีประชาชนที่เป็นผู้ป่วยโรคที่ควรจะได้รับการฉีดวัคซีนก่อน หากปกติเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในจังหวัดที่ไม่ได้เป็นเป้าหมายการฉีด แต่ทำงานอยู่ในจังหวัดเป้าหมายซึ่งเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อ ให้ไปพบแพทย์ที่รักษาประจำ แล้วขอประวัติการรักษาเพื่อไปยื่นต่อแพทย์ในจังหวัดที่ทำงานอยู่ แพทย์จะพิจารณาให้ฉีดวัคซีนได้

เตรียมโรงพยาบาลพร้อม

นพ.โสภณกล่าวว่า การฉีดวัคซีนระยะแรกจะให้บริการในโรงพยาบาลเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยของประชาชน เนื่องจากยังไม่ทราบว่าเกิดผลข้างเคียงหรือไม่ หากติดตามผลในระยะแรกแล้วไม่มีผลข้างเคียง ระยะที่ 2 อาจพิจารณาขยายให้ฉีดวัคซีนในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือสถานที่อื่น ๆ เพื่อความรวดเร็วในการให้บริการ

ตอนนี้ให้โรงพยาบาลทุกจังหวัดเตรียมการทั้งด้านสถานที่ และซักซ้อมบุคลากรพร้อมแล้ว รวมถึงจังหวัดที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มจังหวัดเป้าหมายฉีดลอตแรกก็ต้องเตรียมความพร้อมเช่นกัน

สิ่งที่ต้องเตรียมประกอบด้วย 1.สถานที่ อุปกรณ์ ขั้นตอน บุคลากรที่จะปฏิบัติงานในการฉีดและติดตามผล 2.ตู้เย็นเก็บสต๊อกวัคซีน 3.ระบบข้อมูลข่าวสาร ระบบประเมินผลหลังฉีด ซึ่งต้องส่งข้อมูลทั้งหมดเข้ามาที่คลังข้อมูลกลางที่กระทรวงสาธารณสุข

ส่วนสิ่งที่ส่วนกลางกำลังดำเนินการคือ ระบบโลจิสติกส์ การขนส่งกระจายวัคซีนต้องใช้รถห้องเย็นที่ควบคุมอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส เป็นรถที่มีคุณสมบัติเหมือนรถขนส่งวัคซีนที่ใช้อยู่แล้ว เพียงแต่วัคซีนโควิด-19 มีจำนวนมากกว่าปกติ จึงต้องหารถขนส่งเพิ่ม ล่าสุดองค์การเภสัชกรรมได้ลงนามความร่วมมือขนส่งวัคซีนกับบริษัท ดีทแฮล์ม เคลเลอร์ โลจิสติกส์ จำกัด (DKSH) และหารือกับเอกชนหลายรายที่สนใจจะเข้ามาร่วมขนส่ง เช่น การบินไทย ไทยแอร์เอเชีย เอสซีจีโลจิสติกส์ และไทยเบฟฯ ซึ่งยังไม่ได้สรุป

“การเตรียมความพร้อมคิดว่าไม่น่ามีปัญหา สิ่งที่เป็นห่วงคือเรื่องระบบข้อมูลและระบบไอที ที่ต้องเตรียมเยอะ ต้องนำรายชื่อคนที่จะได้รับวัคซีนขึ้นระบบ เมื่อมาฉีดจะได้สะดวก ซึ่งจะต้องติดต่อกับโรงพยาบาลได้ ต้องมีการติดตามผลว่าผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ และเตือนให้มาฉีดโดสที่ 2 อาจจะใช้ line official account ‘หมอพร้อม’ ถ้าไม่ได้ก็ให้ อสม.ไปถามที่บ้าน หรือให้เจ้าหน้าที่โทรศัพท์ไปถาม วางแผนไว้ 3 ระบบ”

นพ.โสภณ เมฆธน

ความหวังกับวัคซีน-แผนสำรอง

ผู้สื่อข่าวถามว่า วัคซีนเป็นความหวังของไทยได้มากแค่ไหน มีแผนสำรองหรือไม่หากภูมิคุ้มกันไม่เกิดขึ้นอย่างที่หวัง ทั้งยังไม่ทราบว่าภูมิคุ้มกันจะอยู่นานเท่าไหร่ นพ.โสภณชี้แจงว่า หากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นจริง ต้องหาสาเหตุทางวิชาการว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น แล้วเร่งหารือว่าจะปรับเปลี่ยนเชิงนโยบายอย่างไร จะศึกษาวิจัยอะไรต่อหรือไม่ ข้อมูลส่วนใดที่ยังไม่ทราบต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เมื่อมีข้อมูลแล้วต้องสั่งการทันที

“ภูมิต้านทานจะอยู่นานเท่าไหร่เป็นเรื่องวิชาการ ส่วนเป็นความหวังแค่ไหน มันเหมือนเราออกรบสู้กับข้าศึก ตอนนี้เราใส่เสื้อเกราะชั้นนอก คือ การใส่หน้ากากล้างมือ เว้นระยะห่าง และเราถือดาบด้วยเช่น มาตรการทางกฎหมาย การปิดล็อกดาวน์ ปิดสถานประกอบการบางส่วน วัคซีนเป็นเหมือนเกราะชั้นในที่ใส่เพิ่มเข้าไป เพื่อให้มั่นใจว่าถ้าโดนข้าศึกฟันแล้วไม่น่าจะเป็นแผลหรือสูญเสีย แต่เราทิ้งสองอันนั้นไม่ได้ จนกว่าจะประเมินให้มั่นใจจริง ๆ”

ไทม์ไลน์ภาพรวมระยะ 1-2

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุขเผยแพร่ข้อมูลจำนวนสถานบริการที่จะให้บริการฉีดวัคซีนในจังหวัดเป้าหมายระยะแรก 2 ล้านโดส ที่จะมาถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ ประกอบด้วย สมุทรสาคร โรงพยาบาลรัฐ 4 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 6 แห่ง รวม 10 แห่ง, กรุงเทพฯ โรงพยาบาลรัฐ 32 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 30 แห่ง รวม 62 แห่ง, นนทบุรี โรงพยาบาลรัฐ 9 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 12 แห่ง รวม 21 แห่ง, ปทุมธานี โรงพยาบาลรัฐ 10 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 12 แห่ง รวม 22 แห่ง

ระยอง โรงพยาบาลรัฐ 8 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 5 แห่ง รวม 13 แห่ง, ชลบุรี โรงพยาบาลรัฐ 19 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 13 แห่ง รวม 32 แห่ง, จันทบุรี โรงพยาบาลรัฐ 12 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 2 แห่ง รวม 14 แห่ง, ตราด โรงพยาบาลรัฐ 7 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 1 แห่ง รวม 8 แห่ง และตาก โรงพยาบาลรัฐ 9 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 2 แห่ง รวม 11 แห่ง

ส่วนภาพรวมทั้งระยะที่ 1 และ 2 ประมาณตัวเลขว่า มีโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่ให้บริการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ 1,000 แห่ง แต่ละแห่งสามารถฉีดได้ 500 คน/วัน สำหรับระยะที่ 1 จะฉีดแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2564 ส่วนระยะที่ 2 จะฉีดเดือนมิถุนายน-ธันวาคม 2564 โดยเฉลี่ยฉีดได้เดือนละ 10 ล้านโดส แต่หากสามารถขยายไปฉีดใน รพ.สต.ได้จะลดเวลาการฉีดลง