ขับรถผิดกฎจราจรต้องจ่ายเท่าไหร่? เช็กก่อนเดินทางช่วงสงกรานต์

ขับรถผิดกฎจราจรต้องจ่ายเงินเท่าไหร่
ภาพจาก มติชน

เปิดโทษและค่าปรับ หากขับรถผิดกฎจราจร เช็กให้ชัวร์ เตรียมเงินให้พร้อม ก่อนเดินทางช่วงสงกรานต์ พร้อมวิธีแจ้งเบาะแส ตามความผิด พ.ร.บ. พ.ศ. 2522 (รถส่วนบุคคล) รับส่วนแบ่งค่าปรับ 50%

วันที่ 9 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงาน กรมประชาสัมพันธ์ รายงานข้อมูลขาก กองความปลอดภัยแรงงาน เรื่อง เมื่อขับรถผิดกฎจราจร ต้องจ่ายเท่าไหร่ ดังนี้

  1. ใช้โทรศัพท์ระหว่างขับรถ ปรับ 400-1,000 บาท
  2. หยุดรถบนทางเท้า ปรับ 500 บาท
  3. แซงในเส้นทึบ ปรับ 400-1,000 บาท
  4. หยุดรถขวางทางแยก ปรับไม่เกิน 500 บาท
  5. ฝ่าสัญญาณไฟแดง ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
  6. ท่อแต่งเสียงดัง ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
  7. ขับขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกนิรภัย ปรับไม่เกิน 500 บาท
  8. ติดไฟนีออนใต้ท้องรถ ติดไว้กับป้ายทะเบียน ปรับไม่เกิน 2,000 บาท
  9. ขับรถบนทางเท้า ปรับ 400-1,000 บาท
  10. หยุดรถล้ำเส้นหยุด ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
  11. ขับรถย้อนศร ปรับไม่เกิน 500 บาท
  12. จอดรถกีดขวางการจราจร ปรับไม่เกิน 500 บาท
  13. ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนวางไว้ที่กระจก ปรับไม่เกิน 2,000 บาท
  14. ใช้ป้ายแดงเกิน 1 เดือน หรือวิ่งระยะทางเกิน 3,000 กิโลเมตร โดยใช้ป้ายแดง ปรับไม่เกิน 10,000 บาท
  15. แผ่นป้ายทะเบียนปลอม มีความผิดทางอาญา ฟ้องศาล!
  16. เมาแล้วขับ มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับตั้งแต่ 10,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลสามารถสั่งพักใช้ใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบขับขี่และสามารถยึดรถไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน

ความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 (รถส่วนบุคคล)

ซึ่งทางการขนส่งทางบก ให้ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดได้เช่นกัน โดยมีข้อหาการกระทำความผิด ได้แก่

  • ดัดแปลงไฟหน้าหรือไฟท้ายรถ ทำให้สีของแสงไฟไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด (ไฟท้ายต้องเป็นสีแดง ไฟเลี้ยวต้องเป็นสีเหลืองอำพัน)
  • ดัดแปลงหรือเพิ่มเติมอุปกรณ์ส่วนควบ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจผู้อื่น เช่น รถกระบะต่อเติมตัวถัง หรือโครงหลังคาเกิน 3 เมตร
  • นำวัสดุอื่นใดมาปิดบังแผ่นป้ายทะเบียน
    • แขวนหรือติดตุ๊กตาบดบังแผ่นป้ายทะเบียน
    • ทำให้ไม่สามารถมองเห็นตัวอักษรตัวเลข หรือจังหวัดได้ชัดเจน
    • แก้ไขหรือดัดแปลงตัวเลขบนแผ่นป้ายทะเบียน เช่น ปิดแผ่นทองบนหมายเลขทะเบียน เพิ่มเติม ตัวเลขบนแผ่นป้ายทะเบียนรถ
    • ใช้กรอบแผ่นป้ายลายกราฟิกปิดทับแผ่นป้ายทะเบียน
    • ตัดแผ่นป้ายทะเบียนรถ
  • แก้ไขดัดแปลงขนาดของล้อรถให้ล้นเกินตัวถัง
  • อุปกรณ์ส่วนควบไม่มั่นคงแข็งแรง

วิธีแจ้งเบาะแส รถกระทำความผิด

กรมการขนส่งทางบกดำเนินการตรวจสอบการกระทำความผิดและดำเนินการเปรียบเทียบปรับตามระเบียบอย่างเคร่งครัด โดยค่าปรับส่วนแรกนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน เพื่อนำไปพัฒนาประเทศ ส่วนที่เหลือจะนำมาจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และมอบให้ผู้แจ้งพฤติการณ์การกระทำความผิด โดยการจ่ายเงินส่วนแบ่งค่าปรับให้ผู้แจ้งมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

1. พฤติการณ์การกระทำความผิดที่แจ้งต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ครบถ้วน เช่น ภาพหรือคลิปวิดีโอ ต้องบันทึกการกระทำความผิดที่ชัดเจน วันเวลา สถานที่เกิดเหตุ รายละเอียดรถ ทะเบียนรถ และอื่นๆ ให้มากที่สุด เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ผู้แจ้งต้องระบุชื่อและนามสกุลของผู้แจ้ง ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ ช่องทางการติดต่อ และในกรณีผู้แจ้งประสงค์จะขอรับเงินส่วนแบ่งค่าปรับ ให้ระบุหมายเลขบัญชีธนาคารของผู้แจ้งด้วย โดยข้อมูลของผู้แจ้งจะถูกปกปิดเป็นความลับ

2. ช่องทางในการติดต่อ เมื่อรวบรวมหลักฐานครบถ้วนแล้ว สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ สายด่วน 1584, Line@ : @1584DLT, Facebook: 1584 ร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะ, เว็บไซต์ http://ins.dlt.go.th/cmpweb/ หรือ https://www.dlt.go.th/, E-mail: [email protected], เดินทางมาร้องเรียนด้วยตนเอง หรือร้องเรียนผ่านศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐ “GECC 1111 ทำเนียบรัฐบาล” และ “GECC กรมการขนส่งทางบก”

3. ผู้แจ้งจะได้รับข้อความ SMS ยืนยันการรับแจ้งเรื่องร้องเรียน

4. กรมการขนส่งทางบกจะดำเนินการตามกระบวนสืบข้อเท็จจริงตามที่มีผู้แจ้ง โดยเรียกตัวผู้ถูกร้องเรียนมารายงานตัวและสอบสวนจนได้ข้อยุติ

5. การรับเงินส่วนแบ่งจะได้รับภายหลังจากที่ผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบปรับแล้ว จะมีข้อความ SMS ส่งให้ผู้แจ้งทราบผลการดำเนินการและจะดำเนินการโอนเงินส่วนแบ่งค่าปรับภายใน 15 วันทำการ

อย่างไรก็ตาม ยังมีพฤติกรรมการขับรถอื่นๆ ที่ถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 เช่น การขับรถย้อนศร ฝ่าไฟแดง จอดรถในที่ห้ามจอด แซงในเส้นทึบ ไม่ปฎิบัติตามสัญญาณจราจร เป็นต้น ถึงจะแจ้งจับแล้วไม่ได้รับส่วนแบ่ง 50 % แต่เป็นพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุตามมาได้

ข้อมูลจาก กรมการขนส่งทางบก