ศบค.เผยผู้เสียชีวิต โควิดระลอกเมษายน เฉลี่ย 6 วัน หลังพบเชื้อ

โควิด-19 ปกใน 6

ศบค.พบข้อมูล ค่ามัธยฐานเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด ระลอก 3 ในวันที่มีอัตราการเสียชีวิตมากที่สุด คือ 7 คนในวันเดียว โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 6 วัน หลังพบเชื้อ 

วันที่ 22 เมษายน 2564 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 1,470 ราย และพบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 7 ราย ภายในวันเดียว

ในการแถลงวันนี้ นพ.ทวีศิลป์ ได้เปิดเผยข้อมูลเปรียบเทียบสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในแต่ละระลอก และค่ากลาง หรือค่ามัธยฐาน ในการระบาด 3 ระลอก ของประเทศไทย พบว่า

  • ระลอกแรก (2563 ทั้งปี) พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 6,772 ราย เสียชีวิตสะสม 67 คน คิดเป็นอัตรา 0.82%
  • ระลอกสอง (1 ม.ค.-31 มี.ค. 2564) พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 21,035 ราย เสียชีวิตสะสม 27 คน คิดเป็น 0.13%
  • ระลอกสาม (เม.ย. 2564) พบผู้ป่วยยืนยันสะสมแล้ว 17,780 ราย เสียชีวิตสะสม 16 คน คิดเป็น 0.1%

นายแพทย์ทวีศิลป์ สรุปว่า “ระลอกปัจจุบัน (ผู้เสียชีวิต) ก็อยู่ที่อายุที่มากกว่า 60 ปีขึ้นไปอยู่ ถึงแม้จะมีรายงานว่าอายุน้อย ๆ แต่เปรียบเทียบเปอร์เซ็นต์แล้วไม่ได้มาก ไม่เหมือนในช่วยระลอกแรกปี 2563 เกือบครึ่งหนึ่งของปี 2564 นี้ เกิดขึ้นจากการติดเชื้อของคนในครอบครัว”

นพ.ทวีศิลป์ ยังแสดงให้เห็นถึงข้อมูลค่ามัธยฐาน (ค่ากลาง) ระยะเวลา นับจากวันทราบผลตรวจพบเชื้อ จนถึงวันที่เสียชีวิตในการระบาดระลอกเดือน เม.ย. นี้ อยู่ที่ 6 วัน โดยระยะเวลาสั้นที่สุดคือ 0 วัน และนานที่สุดคือ 57 วัน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการระบาดในปี 2563 ค่ามัธยฐานอยู่ที่ 12 วัน (ระยะเวลาสั้นสุด-นานสุดอยู่ที่ 2-67 วัน) และการระบาดระลอกสองอยู่ที่ 7 วัน (ระยะเวลาสั้นสุด-นานสุด 6-39 วัน)

ที่มา : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

ตัวอย่าง กรณี ผู้เสียชีวิตรายที่ 111 หญิงไทยวัย 24 ปี จ.พัทลุง อาชีพค้าขาย มีโรคอ้วน มีประวัติไปสถานบันเทิงซึ่งมีผู้ติดเชื้อเมื่อ 7 เม.ย. เธอไปตรวจหาเชื้อเมื่อ 16 เม.ย. โดยมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ก่อนที่วันถัดมาจะพบยืนยันติดเชื้อ ต่อมา 19 เม.ย. ระดับออกซิเจนต่ำลง มีภาวะปอดอักเสบรุนแรง ก่อนจะเสียชีวิตในวันรุ่งขึ้น หมายความว่าใช้เวลาเพียง 3 วันหลังได้รับการยืนยันว่าเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ก็เสียชีวิตลง