สธ. ชี้แจงวัคซีนโควิดที่ไทยมี รับมือไวรัสกลายพันธ์ได้

สธ. ชี้แจงวัคซีนโควิดที่ไทยมี รับมือไวรัสกลายพันธ์ได้ และกำลังมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพรับมือกับเชื้อที่รุนแรงมากขึ้น ออกมาในตลาดโลก ประมาณ 13–15 ตัว

วันนี้ (29 เม.ย. 2564) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ชี้แจงประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19 ที่ไทยมีตอนนี้ และผลข้างเคียง

นพ.ทวี กล่าวว่า ขณะนี้คนไทยกังวลเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีน จึงขอยืนยันว่าวัคซีนเป็นอาวุธสำคัญที่นำมาใช้ในการต่อสู้กับเชื้อโรค และรัฐบาลได้จัดหาวัคซีนที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกมาฉีดให้ประชาชน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

ขณะนี้ไทยมีวัคซีนของ 2 บริษัทคือ ซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า ส่วนวัคซีนของบริษัทอื่น ๆ กำลังจะตามเข้ามา ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาของสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่มีคณะผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบก่อนอนุมัติใช้ในไทยต่อไป จนถึงวันนี้ฉีดวัคซีนโควิดให้คนไทยแล้ว 1.3 ล้านโดส คิดเป็นร้อยละ 1.7 ของประชากร

โดยประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวก ผลิตโดยเทคโนโลยีเชื้อตาย ใช้กระบวนการผลิตดั้งเดิม มีความปลอดภัย และเป็นที่ยอมรับโดยข้อมูลจากประเทศบราซิลตีพิมพ์ว่า หลังฉีดวัคซีนซิโนแวกเข็มที่ 1 ผ่านไป 14 วัน สามารถป้องกันโรคได้เกือบ 50% และเมื่อฉีดเข็มที่ 2 ป้องกันได้สูงขึ้นมากกว่า 60%

สำหรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเทคโนโลยีไวรัลเวกเตอร์ ใช้เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ตัดตอน ไม่สามารถแพร่ขยายจำนวนได้ และฝังเข้าไปให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน จากการศึกษาพบว่า การฉีดเข็มที่ 1 ครบ 3 สัปดาห์ จะเริ่มป้องกันโรคได้ 71% หลังจากนั้นก็จะค่อย ๆ ลดลง จะเห็นว่าวัคซีน 2 ชนิดไม่ต่างกันมาก อยู่ในเกณฑ์ที่ทั่วโลกยอมรับ มีประสิทธิภาพที่ดี

นพ.ทวี บอกว่า เรื่องผลข้างเคียงที่เกิดจากการรับวัคซีนสามารถเกิดขึ้นได้ตลอด แต่ต้องดูว่าเกิดจากอะไร เพราะการฉีดวัคซีน 1 ล้านโดสที่ผ่านมาทั้งของบริษัทซิโนแวก และบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เกิดผลข้างเคียงไม่ถึง 10 ครั้ง

“ผลข้างเคียงจากวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวกมีประมาณ 20-30% พบอาการปวด บวม แดงร้อน ปวดร่างกายหลังฉีด แต่จะหายไปภายใน 2 วัน ส่วนกรณีกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ พบอาการหลังฉีดวัคซีนคล้ายอัมพฤกษ์ชั่วคราว จากการวิเคราะห์พบว่าเป็นผลข้างเคียงที่มาจากความวิตกกังวล รวมถึงความอ่อนเพลียจากการทำงาน ซึ่งอาการหายภายใน 3 วัน”

ส่วนผลข้างเคียงจากวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า มีคล้ายกัน เช่น ปวดศีรษะ ปวดร่างกาย แดงร้อน เกิดขึ้นสูงถึง 40-50% แต่หายภายใน 48 ชั่วโมง กรณีลิ่มเลือดอุดตันที่พบในต่างประเทศเกิดขึ้นได้ 4 ใน 1 ล้านโดสเท่านั้น และส่วนใหญ่พบในฝรั่งยุโรป อาการแบบนี้พบน้อยมากในคนเอเชีย และการศึกษาพบว่าหากเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ 1 แสนคน ต่อ 1 ล้านคนที่ป่วย ซึ่งสูงกว่าการเกิดจากวัคซีนเป็นร้อยเท่า

ส่วนคำถามที่ประชาชนสงสัยว่า วัคซีนที่ไทยมีสามารถรองรับเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ได้หรือไม่ นพ.ทวี อธิบายเป็น 2 ข้อ ดังนี้ 1) ทางประเทศจีนได้ศึกษาวิจัยวัคซีนบริษัทซิโนแวค และบริษัทซิโนฟาร์ม ด้วยการนำน้ำเหลืองของผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 และน้ำเหลืองของผู้ป่วยที่หายแล้วมาดูว่าสามารถจัดการกับไวรัสที่กลายพันธ์ได้หรือไม่ ปรากฎว่าทำได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่าไม่ดีเทียบเท่ากับเชื้อดั้งเดิม

2) วัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า กับสายพันธุ์อังกฤษที่ระบาดเยอะในบ้านเรา สู้กับเชื้อกลายพันธ์ได้ประมาณเกือบ 70% (สายพันธ์ดั้งเดิมสู้ได้ 81%) จึงสรุปได้ว่าวัคซีนที่ไทยมี ยังรับมือเชื้อกลายพันธุ์ ได้แต่อาจไม่ได้ดีเท่ากับสายพันธุ์ดั้งเดิม

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทั่วโลกมีวัคซีนโควิด-19 ที่ทดสอบระยะที่ 3 สำเร็จ และกำลังจดทะเบียน ประมาณ 13–15 ตัว ซึ่งทุกตัวมีประสิทธิภาพในการรับมือกับเชื้อที่รุนแรงมากขึ้น มีผลในการป้องกันการเสียชีวิต ป้องกันอาการรุนแรงของโรคโควิด-19 ช่วยลดการใส่ท่อช่วยหายใจได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นต้น

สำหรับกรณีหญิงตั้งครรภ์ โดยปกติการตั้งครรภ์ในไตรมาสสุดท้าย ท้องจะดันปอดทำให้การหายใจไม่ดี อีกทั้งมีผลการศึกษาออกมาเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า หญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิด-19 มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าผู้ตั้งครรภ์ที่ไม่ติดถึง 22 เท่า ดังนั้น การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในหญิงตั้งครรภ์ ต้องปรึกษาแพทย์ก่อน และผู้ที่ต้องการจะฉีดวัคซีนต้องพิจารณาระหว่างผลดีและผลเสียเอง ทั้งนี้ ข้อมูลจากสหรัฐอเมริการะบุว่า หญิงตั้งครรภ์ 35,000 คน ที่ได้รับวัคซีน ไม่ค่อยมีผลต่อครรภ์ แต่อาจจะมีบางคนคลอดก่อนกำหนดบ้างเล็กน้อย


“ฉะนั้นขอย้ำว่า เราสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ทุกตัว แต่ก่อนฉีดต้องศึกษาข้อมูลต่าง ๆ เพื่อสร้างความพร้อมก่อนฉีด”