มองข้ามชอตวัคซีน “โควิด” 100 ล้านโดส ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

วัคซีนโควิด
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration

ยอดผู้ป่วย ผู้เสียชีวิต จากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 พุ่งขึ้นรายวันช่วงเดือน เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา เข้าสู่เดือน พ.ค.ยังทำสถิตินิวไฮฉุดไม่อยู่

ขณะที่การติดเชื้อคลัสเตอร์ใหม่ทั้งในส่วนกลาง ต่างจังหวัดเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ล่าสุด การแพร่ระบาดของโควิดในชุมชนคลองเตยและชุมชนใกล้เคียง แหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งทำงานที่มีประชาชนนับแสนคน เบื้องต้นพบผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 300 คน สถานการณ์น่าห่วงอย่างยิ่ง

นำมาสู่คำถามถึงการบริหารจัดการวัคซีนของภาครัฐที่หลายฝ่ายมองว่าล่าช้า ค่อนข้างล้มเหลวในการจัดหานำเข้าและการกระจายวัคซีนในช่วงที่ผ่านมา เพราะย้อนไปช่วงโควิด-19 ระบาดระลอกแรก ไทยมีเวลาวางแผนนำเข้าวัคซีนตั้งแต่ปี 2563 แต่การนำเข้ากลับติดปัญหา “คอขวด” ขณะที่วัคซีนที่นำเข้ามาแล้วก็ทยอยฉีดให้ประชาชนล่าช้า ณ ต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ยอดฉีดวัคซีนมีแค่ 0.4% ของจำนวนประชากรทั้งหมด กว่าจะฉีดได้ถึงเป้าหมาย 70% ของจำนวนประชากร อาจไม่ทันการเปิดประเทศปลายปี 2564

ย้อนดูไทม์ไลน์การผลักดัน “วาระแห่งชาติเรื่องวัคซีน” ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ช่วงเดือน ก.พ. 2564 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธาน กกร. เสนอรัฐบาลกำหนดเรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วน พร้อมให้ตั้งคณะกรรมการจัดการวัคซีน หวังปลุกเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 1.5-3.5%

ต่อมาเดือน มี.ค. ภาคเอกชนโดย ส.อ.ท.รวบรวมตัวเลขความต้องการวัคซีนของภาคเอกชน 109 บริษัท รวม 51,000 คน หรือ 1 แสนโดส เพื่อประสานองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จัดหานำเข้าวัคซีนทุกยี่ห้อมาให้โรงพยาบาลฉีด โดยเอกชนยินดีจ่ายค่าวัคซีนเอง เพียงขอให้สามารถฉีดโดยเร็วเพื่อสร้างความมั่นใจให้ภาคธุรกิจ

ขณะที่รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขและสถาบันวัคซีน มีแผนจัดหาวัคซีนตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2563 โดยได้พิจารณาจัดซื้อวัคซีน 2 ยี่ห้อ คือ AstraZeneca ที่เจ้าของสิทธิบัตรคัดเลือกให้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เป็นผู้ผลิต จะเริ่มผลิตออกสู่ตลาดเดือน มิ.ย. 2564 กับ Sinovac ของจีน

ทั้งนี้ ข้อมูลของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ระบุว่า ไทยจะต้องจัดซื้อวัคซีน 100 ล้านโดส เพื่อฉีดให้กับประชาชน 50 ล้านคน สร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” แบ่งเป็นการซื้อจากบริษัทที่ทำสัญญาแล้ว 63 ล้านโดส จะได้รับกลางปีนี้ และอีก 37 ล้านโดส อยู่ระหว่างการเจรจา และรอให้บริษัทผู้ผลิตขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา (อย.)

แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ทำให้ทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและ ส.อ.ท.เสนอตัวจัดหา “วัคซีนทางเลือก” โดยอาศัย “สายสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับนานาประเทศ” เบื้องต้นพูดถึงตัวเลข 10-20 ล้านโดส ที่เอกชนต้องการคือขอให้รัฐออกหนังสือรับรอง “letter of intent” ไปยืนยันกับผู้ผลิตวัคซีน

โดยลอตแรกเอกชนพร้อมพรีออร์เดอร์จ่าย 1 ล้านโดส แต่ด้วยเงื่อนไขที่ว่า หากฉีดแล้วเกิดมีผลข้างเคียงจะต้องมี “ผู้รับผิดชอบ” โดยสมาคมโรงพยาบาลเอกชนจะเป็นผู้ฉีด และ “สมาคมประกันภัย” ประกันผลกระทบจากฉีดวัคซีน

ในส่วนของสภาหอการค้าฯ ได้ตั้งทีมงานขึ้น 4 ชุด เพื่อขับเคลื่อนวัคซีนทางเลือก ซึ่งเป็นผลจากที่นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าฯ ที่รับไม้ต่อจากนายกลินท์ สารสิน หารือร่วมกับ 40 ซีอีโอ เมื่อ 19 เม.ย. 2564 อย่างไรก็ตาม หลังนายสนั่นนำทีมเข้าร่วมประชุมกับนายกรัฐมนตรี เมื่อ 28 เม.ย. แผนนำเข้าวัคซีนทางเลือกก็อยู่ในสภาพฝุ่นตลบ

โดยนายสนั่นพร้อมทีมงานหอการค้าออกแถลงการณ์ว่า การจัดหาวัคซีนจะดำเนินการโดยองค์การเภสัชกรรมเท่านั้น เนื่องจากรัฐบาลมีอำนาจต่อรองมากกว่าเอกชน และขอบคุณที่รัฐบาลจะจ่ายค่าวัคซีนให้เอกชนทั้งหมด เอกชนพร้อมสนับสนุนทีมไทยแลนด์

ขณะที่ ส.อ.ท.ยังยืนกระต่ายขาเดียวว่า เอกชนต้องนำเข้าให้ได้ โดยย้ำว่า หากรัฐใจกว้างก็ควรปลดล็อก “import licence” ให้เอกชนที่ไม่ใช่ผู้ผลิต ผู้กระจายสินค้า หรือผู้อยู่ในอุตสาหกรรมสามารถนำเข้าวัคซีนได้ เพราะ “ดีลลับ” ที่กำลังเจรจามีแนวโน้มว่าไทยจะได้วัคซีนยี่ห้อดี ๆ ที่บางประเทศสั่งซื้อไว้เกิน “overdose” มาช่วยแบบฟรี ๆ ถึง 1 ล้านโดส แต่หากยังจำกัด “ใบอนุญาต” เท่ากับปิดทางไม่ให้เอกชนนำเข้า

ส่วนคนในแวดวงทางการแพทย์ โรงพยาบาลเอกชน ต่างประเมินสถานการณ์ไปไกลกว่านั้น และมองว่าสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการเป็นการบริหารจัดการระยะสั้น โดยจะพยายามฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และมีเป้าหมายเพื่อลดการแพร่ระบาดให้ได้ภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

แต่ในทางปฏิบัติจริง ๆ กว่าจะฉีดได้ครอบคลุมในระดับ 70% ของประชากรทั้งประเทศ อาจจะต้องรอเวลาไปจนถึงต้นปีหน้า และเมื่อฉีดครบตามเป้าแล้ว วัคซีนอาจจะมีภูมิคุ้มกัน 6-8 เดือน นั่นหมายความว่า จากนั้นจะต้องเริ่มฉีดวัคซีนใหม่อีกรอบเพื่อป้องกันโควิด-19

ดังนั้น รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ควรต้องเร่งหาวัคซีนสต๊อกไว้อีกจำนวนหนึ่งให้มากพอสำหรับการฉีดรอบ 2 ในปีถัดไป ให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เศรษฐกิจประเทศจะได้เดินต่อไปได้


ที่เป็นอยู่เป็นเหมือนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งการหาวัคซีนและการเร่งฉีด แต่ลืมมองไปว่าหลังจากที่ภูมิคุ้มกันเริ่มอ่อนแรงหรือหมดลง จะต้องฉีดวัคซีนกันใหม่ หากไม่มีวัคซีน โควิด-19 ก็จะกลับมาระบาดเป็นระลอก ๆ กระทบเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ไม่จบสิ้น