ประกาศแล้ว! เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออกไปอีก 1 ปี

ราชกิจจา

มีผลแล้ว! ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ พระราชกฤษฎีกา เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ออกไปก่อนจนถึงวันที่ 31 พ.ค. 2565 เหตุมีผลกระทบจากโควิด กฎหมายมีรายละเอียดซับซ้อน ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และมีบทลงโทษทั้งคามรับผิดทางแพ่งและโทษทางปกครองและอาญา ค่อนข้างแรง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานและกิจการที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่อยู่ภายใต้บังคับ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2564  ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวระบุว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดหน่วยงานและกิจการที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลพ.ศ. 2562

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 4 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า“พระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานและกิจการที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564”

มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค.2564 เป็นต้นไป)

มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 2 แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงาน และกิจการที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2563 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จนถึงวันที่ 31พฤษภาคม พ.ศ. 2565

สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานและกิจการที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562  พ.ศ. 2563 กำหนดยกเว้นไม่ให้นำบทบัญญัติบางส่วนแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มาใช้บังคับแก่บางหน่วยงานและบางกิจการในช่วงระยะเวลาระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

อันเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 กำหนดนั้นมีรายละเอียดมากและซับซ้อน กับต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อให้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสมดังเจตนารมณ์ของกฎหมาย

ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องและรุนแรงยิ่งขึ้นจนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งเป็นหน่วยงานและกิจการต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนมากทั่วประเทศยังไม่พร้อมที่จะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าว

ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น สมควรขยายระยะเวลาการใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานและกิจการที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 พ.ศ. 2563 ออกไปอีกจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2564  ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบในหลักการ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานและกิจการที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาฯ พ.ศ. 2563 ในส่วนที่กำหนดระยะเวลาใช้บังคับ ทำให้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มิถุนายน 2565

สำหรับพ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เป็นกฎหมายกลางที่กำหนด หลักเกณฑ์ กลไก หรือมาตรการกำกับดูแลเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นไปตามมาตรฐานสากล และมีมาตรการเยียวยาเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลจากการถูกละเมิด รวมทั้งมีการการกำหนดโทษปรับทางปกครอง ความรับผิดทางแพ่งและทางอาญาค่อนข้างสูง

แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องและรุนแรงยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมเป็นอย่างมาก

หากกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีผลบังคับใช้ทั้งฉบับ จะทำให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ตั้งแต่ธุรกิจขนาดใหญ่-เล็ก รวมทั้งประชาชนทั่วไป ต้องเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในพ.ร.บ. ซึ่งมีรายละเอียดที่ซับซ้อน และต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อให้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีประสิทธิภาพ

อีกทั้งการกำหนดโทษปรับทางปกครอง ความรับผิดทางแพ่งและทางอาญาในสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นการเพิ่มภาระและความยากลำบากให้กับทุกกลุ่มที่อยู่ภายใต้การบังคับใช้ของกฎหมายฉบับนี้

ที่ผ่านมาภาคธุรกิจประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และกลุ่มสมาคมด้านการท่องเที่ยว ได้ร่วมกันขอให้รัฐบาลบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากความไม่พร้อมในการปฏิบัติตามรายละเอียดของกฎหมายฉบับนี้ออกไปก่อน

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส จึงได้นำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. และได้รับความเห็นชอบให้ขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ ไปอีก 1 ปี