ศบค. ประกาศขยายเวลาใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่ออีก 2 เดือน

ควบคุมสูงสุด
FILE PHOTO : Madaree TOHLALA / AFP

ศบค.ชุดใหญ่ ไฟเขียว ประกาศขยายระยะเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั่วราชอาณาจักร ออกไปอีก 2 เดือน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโรคไวรัสโควิด-19

วันที่ 21 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้อนุมัติ ขยายระยะเวลาการใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 12 ตามข้อเสนอของศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ออกไปอีก 60 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน- 31 กรกฎาคม 2564

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีการขยายเวลาคราวละตั้งแต่ 30 วัน 45 วัน และ 60 วัน โดยการขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นครั้งที่ 12 นับตั้งแต่มีโรคไวรัสโควิด-19 ระบาด เมื่อต้นปี 2563 โดยเหตุผลหลักมาจากการควบคุมโรค ของกระทรวงสาธารณสุข

มติ ศบค. ระบุเหตุผลการขยายเวลาครั้งนี้ ว่า “เนื่องจากยังพบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเมินตามห้วงเวลา ประกอบกับความพร้อมของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ ฉบับใหม่ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งนี้จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารที่ 25 พฤษภาคม 2564 เพื่อเห็นชอบต่อไป”

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.แถลงว่า ที่ประชุมเห็นชอบการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 12 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ทั้งสถานการณ์ทั่วโลก ในประเทศเพื่อนบ้านและสถานการณ์ภายในประเทศยังมีความน่ากังวล ซึ่งมาจากแนวโน้มของจำนวนผู้ป่วยหนักที่ต้องใช้ท่อหายใจเพิ่มมากขึ้น การปล่อยข่าวบิดเบือนเพื่อสร้างความกลัวต่อการฉีดวัคซีน และในห้วงวันที่ 24 – 28 กรกฎาคม 2564 เป็นช่วงวันหยุดยาวที่จะเดินทางข้ามจังหวัดของประชาชนจำนวนมากเพื่อกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยว

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุม ศบค.ยังเห็นชอบมาตรการสาธารณสุข ในการจัดการประชุมรัฐสภา สมัยสามัญ ประจำปี ครั้งที่ 1 พ.ศ.2564 ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2564 ซึ่งจะมีการพิจารณากฎหมายสำคัญ คือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 โดยที่ประชุมเห็นชอบมาตรการป้องกันโรคในการประชุมตามที่เสนอ โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ได้แก่

1.การสวมหน้ากากอนามัยให้ถูกต้องตลอดเวลา ยกเว้นผู้ควบคุมการประชุมผ่อนผันในช่วงเวลาการอภิปรายหรือแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมตามความเหมาะสมแห่งสภาพการณ์และสมควรแก่เหตุ ตามข้อ 1 ของข้อกำหนด ฉบับที่ 23

2.การนั่งในห้องประชุมเว้นระยะห่าง 2 เมตร 3.ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีผู้ติดตามได้ 1 คนเท่านั้น 4.ให้ตำรวจสภากำกับการใช้ลิฟท์ไม่เกินครั้งละ 6 คน 5.จัดอาหารให้สมาชิกเฉพาะบุคคล งดทานอาหารร่วมกัน 6.งดการประชุมกรรมาธิการทุกคณะ ทั้งสามัญและวิสามัญ และอนุกรรมาธิการ จนกว่าจะกำหนดเป็นอย่างอื่น 7.ให้สำนักงานที่จัด WFH 100 %

8.ให้ปรับแผนการปฏิบัติงานตามตัวชี้วัด ตามสถานการณ์โควิด 9.ขอวามร่วมมือให้ข้าราชการรัฐสภา ฉีดวัคซีนทุกคน 100 % โดยผู้ใดที่ไม่ฉีดจะไม่อนุญาตให้เข้าห้องประชุม (เว้นแต่มีเหตุจำเป็น) และ 10.จัดสรรวัคซีน จำนวน 2,000 โดส เพื่อฉีดระหว่างวันที่ 21 – 25 พฤษภาคม 2564

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า กล่าวว่า สำหรับการเปิดภาคเรียนในวันที่ 14 มิ.ย.64 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เสนอมาตรการแนวปฏิบัติของสถานศึกษาเพื่อเปิดเทอม ในส่วนของ 4 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการไม่อนุญาตให้จัดการเรียนการสอนในห้องเรียน (On Site) โดยให้จัดการเรียนการสอนแบบทางไกล 4 แบบตามความเหมาะสม ได้แก่ 1.On Air 2.On Demend 3.Online และ 4.On Hand (ส่งไปรษณีย์)

โดยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น เป็นการอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร โดยต้องปฏิบัติตามมาตรา 9 แห่ง พรก.ฉุกเฉิน

สำหรับมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรี ออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติขึ้นไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ข้อปฏิบัติในการสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าอย่างถูกวิธีตามข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เมื่ออยู่นอกเคหสถานหรือเมื่ออยู่ในที่สาธารณะยังคงเป็นข้อปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่หรือรับเชื้อ

การจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่ายที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีที่กลุ่มบุคคลที่จำเป็นต้องเข้าประชุมอยู่ในสถานที่หนึ่งที่ใดเป็นระยะเวลานานและต่อเนื่องหลายชั่วโมงซึ่งการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาอาจไม่สะดวกหรือเป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ในการประชุม หากผู้จัดประชุมได้กำหนดให้มีมาตรการตรวจคัดกรองบุคคลและได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างรอบคอบ รัดกุม และเข้มงวดเพียงพอแล้ว เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม

การให้ผู้เข้าร่วมประชุมสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าและเครื่องป้องกันตามมาตรการที่ทางราชการกำหนด รวมทั้งการแสดงใบรับรองผลการตรวจว่าไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการจัดให้มีกระบวนการคัดกรองโดยพิจารณาจากอาการของโรค ประกอบกับได้ดำเนินการภายใต้มาตรการควบคุมการประชุมตามระเบียบหรือข้อบังคับเมื่อเกิดเหตุที่มีความเสี่ยงโดยให้ผู้ควบคุมการประชุมกำหนดให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาการประชุม แต่อาจพิจารณาผ่อนผันได้เฉพาะช่วงเวลาของการอภิปรายหรือแสดงความเห็นในที่ประชุมได้ตามความเหมาะสมแห่งสภาพการณ์และความสมควรแก่เหตุ

ข้อ 2 การกำหนดพื้นที่สถานการณ์ ปรับระดับการกำหนดเขตพื้นที่สถานการณ์ เพื่อการบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์

ทั้งนี้ การประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ซึ่งมีการขยายระยะเวลาการบังคับใช้ไปแล้วทั้งหมด 11 ครั้ง ดังนี้

  • ขยายครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563
  • ขยายครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563
  • ขยายครั้งที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563
  • ขยายครั้งที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563
  • ขยายครั้งที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563
  • ขยายครั้งที่ 6 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2563
  • ขยายครั้งที่ 7 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563
  • ขยายครั้งที่ 8 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 จนถึงวันที่ 15 มกราคม 2564
  • ขยายครั้งที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2564 จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564
  • ขยายครั้งที่ 10 ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564
  • ขยายครั้งที่ 11 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564
  • ขยายครั้งที่ 12 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 จนถึงวันที่ 31 กรกฏาคม 2564