ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม ล็อตแรก มิ.ย. 1 ล้านโดส

วัคซ๊นซิโนฟาร์ม
Robert ATANASOVSKI / AFP

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จับมือ สธ.-อย. เดินหน้านำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม ดีเดย์ล็อตแรก มิ.ย. 1 ล้านโดส ขายพ่วงประกันวัคซีนโควิด ลั่นดีมานด์สูงภาครัฐ-เอกชนรุมจอง ลุ้นอนาคตนำเข้าวัคซีนตัวอื่นเพิ่ม

วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดที่ยังทวีความรุนแรง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในฐานะหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ได้เล็งเห็นความสำคัญเรื่องการกระจายวัคซีน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดให้เร็วที่สุด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีให้เป็น ‘ตัวแทน’ ประเทศไทยในการจัดหาวัคซีนทางเลือกให้แก่ประชาชน โดยร่วมกับ อย. และ สธ. ติดต่อขอซื้อจากซิโนฟาร์มโดยตรง และให้บริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด เป็นผู้นำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม ตั้งแต่การยื่นเอกสารขออนุญาตจาก อย. ตลอดจนการขนส่งวัคซีน

โดยเบื้องต้นคาดว่าจะนำเข้ามาราว 1 ล้านโดส ภายในเดือนมิถุนายน ส่วนในเดือนต่อ ๆ ไปอาจให้บริษัท ไบโอจีนีเทค หารือและต่อรองกับบริษัทผู้ผลิตต้นทางอีกทีหนึ่ง

ส่วนการดำเนินการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์ม จะหารือร่วมกับ สธ. เพื่อกระจายวัคซีนให้แก่หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนที่สนใจจัดซื้อพ่วงประกันวัคซีนโควิด

“ขณะนี้ได้เริ่มมีหน่วยงานรัฐและเอกชนติดต่อขอซื้อวัคซีน เช่น สภาอุตสาหกรรม ปตท. ทั้งนี้ จะพิจารณาการฉีดให้แก่องค์กรผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หรือพวกกลุ่ม รร.เพื่ออุดช่องว่างให้กิจการภายในประเทศสามารถเดินต่อไปได้”

นอกจากนี้ ศ.นพ.นิธิ กล่าวเพิ่มเติมว่า แน่นอนว่าในอนาคตราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เล็งหาวัคซีนป้องกันโควิดตัวอื่นเพิ่มเติม เพื่อนำมาศึกษาและทำการวิจัยว่าวัคซีนตัวไหนเหมาะสำหรับเชื้อที่ระบาดในไทยมากที่สุด

สำหรับราคาอยู่ระหว่างการตกลง ซึ่งต้องคำนึงถึงต้นทุน ค่าขนส่ง และการจัดเก็บวัคซีนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งขอยืนยันว่าราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไม่ค้ากำไรอย่างแน่นอน คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาท

ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ว่าด้วยการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 และสถานการณ์ฉุุกเฉินอื่น ๆ ให้เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นผู้แทนของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในกิจการ ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ และให้มีอำนาจในการตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ

ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้แถลงความคืบหน้า กรณีขึ้นทะเบียน วัคซีนของซิโนฟาร์ม และ แนวทางการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด ของ อย. โดย นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติวัคซีนซิโนฟาร์ม ที่นำยื่นเอกสารขอนำเข้า โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อตาย ที่สำคัญคือ ผลิตโดย สถาบันชีววัตถุแห่งกรุงปักกิ่ง (BIBP) ซึ่งได้รับการรับรองขององค์การอนามัยโลก

โดยวัคซีนนี้จะฉีด 2โดส ทั้งหมด 2 เข็ม ซึ่งห่างกัน 21-28 วัน ซึ่ง อย. ได้อนุมัติทะเบียนเรียบร้อยแล้ว นับเป็นข่าวดีในวันนี้