ซิโนฟาร์ม อย. อนุมัติการขึ้นทะเบียนแล้ว

ซิโนฟาร์มอนุมัติแล้ว
ภาพจาก Reuters

อย. ขึ้นทะเบียน วัคซีน “ซิโนฟาร์ม” ที่ผลิตโดย สถาบันชีววัตถุแห่งกรุงปักกิ่ง (BIBP) แล้ว นำเข้าโดย บริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด

วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ว่าด้วยการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 และสถานการณ์ฉุุกเฉินอื่น ๆ ให้เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นผู้แทนของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในกิจการ ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น ๆ และให้มีอำนาจในการตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ

ต่อมา ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าว “แนวทางการจัดสรรและนำเข้าวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)” โดย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในวันนี้ เวลา 13.30 น.–14.30 น. ณ สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ถ.แจ้งวัฒนะ ซอย 7

ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้แถลงความคืบหน้า กรณีขึ้นทะเบียน วัคซีนของซิโนฟาร์ม และ แนวทางการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด ของ อย. โดย นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติวัคซีนซิโนฟาร์ม ที่นำยื่นเอกสารขอนำเข้า โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อตาย ที่สำคัญคือ ผลิตโดย สถาบันชีววัตถุแห่งกรุงปักกิ่ง (BIBP) ซึ่งได้รับการรับรองขององค์การอนามัยโลก

โดยวัคซีนนี้จะฉีด 2โดส ทั้งหมด 2 เข็ม ซึ่งห่างกัน 21-28 วัน ซึ่ง อย. ได้อนุมัติทะเบียนเรียบร้อยแล้ว นับเป็นข่าวดีในวันนี้

สำหรับการอนุมัติวัคซีนฉุกเฉิน อย. ได้อนุมัติแล้ว 5 ตัว ดังนี้

  1. วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และที่ผลิตในประเทศโดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด
  2. วัคซีนโคโรนาแวค ของบริษัท ซิโนแวค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม
  3. วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลค จำกัด
  4. วัคซีนโมเดอร์นา โดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด
  5. วัคซีนของซิโนฟาร์ม โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า วัคซีนซิโนฟาร์ม หรือ BBIBP-CarV ถูกผลิตขึ้นที่ประเทศจีน โดยบริษัท ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย มีวิธีการผลิตแบบ Inactived vaccine มีความปลอดภัยสูง ใช้กับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องได้ โดยมีรายการประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีอาการโดยรวมถึง 79.4% และไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง

อีกทั้งยังเป็นเทคโนโลยีแบบเดิมที่เคยมีประสบการณ์การใช้กับวัคซีนอื่น ๆ เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ เป็นต้น แต่ในทางกลับกัน วัคซีนที่เป็นชนิดเชื้อตายจะมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องเพาะเลี้ยงเชื้อในห้องปฏิบัติการระดับสูง

วัคซีนชนิดนี้ มีข้อแนะนำสำหรับการเก็บรักษาว่า ต้องเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ซึ่งหากนำไปเทียบกับวัคซีนยี่ห้ออื่น อุณหภูมิจะค่อนข้างสูงกว่า จึงทำให้เก็บรักษาง่ายขึ้น

ข้อแนะนำการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคระบุว่า วัคซีนซิโนฟาร์ม ให้ฉีดจำนวน 2 ครั้ง โดยทิ้งช่วงระยะห่างหลังฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้ว 3 สัปดาห์ หรือประมาณ 28 วัน (เกือบ 1 เดือน) จึงจะสามารถฉีดเข็มที่ 2 ได้ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่จะสามารถฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ให้มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป โดยข้อมูลตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีรายงานการใช้ในต่างประเทศแล้วมากกว่า 15 ล้านโดส และพบว่ามีความปลอดภัย

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นำเข้า ล็อตแรก มิ.ย. 1 ล้านโดส

จากนั้น ในเดียวกัน ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดที่ยังทวีความรุนแรง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในฐานะหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ได้เล็งเห็นความสำคัญเรื่องการกระจายวัคซีน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดให้เร็วที่สุด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีให้เป็น ‘ตัวแทน’ ประเทศไทยในการจัดหาวัคซีนทางเลือกให้แก่ประชาชน โดยร่วมกับ อย. และ สธ. ติดต่อขอซื้อจากซิโนฟาร์มโดยตรง และให้บริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด เป็นผู้นำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม ตั้งแต่การยื่นเอกสารขออนุญาตจาก อย. ตลอดจนการขนส่งวัคซีน

โดยเบื้องต้นคาดว่าจะนำเข้ามาราว 1 ล้านโดส ภายในเดือนมิถุนายน ส่วนในเดือนต่อ ๆ ไปอาจให้บริษัท ไบโอจีนีเทค หารือและต่อรองกับบริษัทผู้ผลิตต้นทางอีกทีหนึ่ง

ส่วนการดำเนินการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์ม จะหารือร่วมกับ สธ. เพื่อกระจายวัคซีนให้แก่หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนที่สนใจจัดซื้อพ่วงประกันวัคซีนโควิด

“ขณะนี้ได้เริ่มมีหน่วยงานรัฐและเอกชนติดต่อขอซื้อวัคซีน เช่น สภาอุตสาหกรรม ปตท. ทั้งนี้ จะพิจารณาการฉีดให้แก่องค์กรผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หรือพวกกลุ่ม รร.เพื่ออุดช่องว่างให้กิจการภายในประเทศสามารถเดินต่อไปได้”

นอกจากนี้ ศ.นพ.นิธิ กล่าวเพิ่มเติมว่า แน่นอนว่าในอนาคตราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เล็งหาวัคซีนป้องกันโควิดตัวอื่นเพิ่มเติม เพื่อนำมาศึกษาและทำการวิจัยว่าวัคซีนตัวไหนเหมาะสำหรับเชื้อที่ระบาดในไทยมากที่สุด

สำหรับราคาอยู่ระหว่างการตกลง ซึ่งต้องคำนึงถึงต้นทุน ค่าขนส่ง และการจัดเก็บวัคซีนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งขอยืนยันว่าราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไม่ค้ากำไรอย่างแน่นอน คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาท