รู้จัก “ซิโนฟาร์ม” วัคซีนทางเลือก ขึ้นทะเบียนลำดับที่ 6 ในไทย

วัคซีนซิโนฟาร์ม
Robert ATANASOVSKI / AFP

“ซิโนฟาร์ม” หนึ่งในวัคซีนทางเลือกนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยกรณีฉุกเฉิน WHO รับขึ้นทะเบียนลำดับที่ 6

อีกหนึ่งยี่ห้อวัคซีนป้องกันโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีแผนจะนำเข้าเพื่อมาฉีดให้กับคนไทย อย่าง “ซิโนฟาร์ม” ถือเป็นวัคซีนที่ได้รับการจดทะเบียนให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน ลำดับที่ 6 โดยองค์การอนามัยโลก (WHO)

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนทำความรู้จักวัคซีนซิโนฟาร์ม ถึงต้นทางการผลิต ผลข้างเคียง รวมถึงข้อแนะนำ ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกฉีดวัคซีนยี่ห้อนี้ โดยเป็นข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ดังนี้

รู้จัก วัคซีน “ซิโนฟาร์ม”

วัคซีนซิโนฟาร์ม หรือ BBIBP-CarV ถูกผลิตขึ้นที่ประเทศจีน โดยบริษัท ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย มีวิธีการผลิตแบบ Inactived vaccine มีความปลอดภัยสูง ใช้กับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องได้ โดยมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีอาการโดยรวมถึง 79.4% และไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง

อีกทั้งยังเป็นเทคโนโลยีแบบเดิมที่เคยมีประสบการณ์การใช้กับวัคซีนอื่น ๆ เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ เป็นต้น แต่ในทางกลับกัน วัคซีนที่เป็นชนิดเชื้อตายจะมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องเพาะเลี้ยงเชื้อในห้องปฏิบัติการระดับสูง

วัคซีนชนิดนี้ มีข้อแนะนำสำหรับการเก็บรักษาว่า ต้องเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ซึ่งหากนำไปเทียบกับวัคซีนยี่ห้ออื่น อุณหภูมิจะค่อนข้างสูงกว่า จึงทำให้เก็บรักษาง่ายขึ้น

ข้อแนะนำการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคระบุว่า วัคซีนซิโนฟาร์ม ให้ฉีดจำนวน 2 ครั้ง โดยทิ้งช่วงระยะห่างหลังฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้ว 3 สัปดาห์ หรือประมาณ 28 วัน (เกือบ 1 เดือน) จึงจะสามารถฉีดเข็มที่ 2 ได้ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่จะสามารถฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ให้มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป โดยข้อมูลตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีรายงานการใช้ในต่างประเทศแล้วมากกว่า 15 ล้านโดส และพบว่ามีความปลอดภัย

ข้อห้ามในการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม

  • ห้ามฉีดในผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครั้งก่อนหน้า
  • ห้ามฉีดในผู้ที่มีอาการแพ้ส่วนประกอบของวัคซีน
  • ห้ามฉีดในผู้ที่อาการภูมิแพ้อย่างรุนแรง
  • ห้ามฉีดในผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
  • ห้ามฉีดในผู้หญิงที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์
  • ห้ามฉีดในผู้ที่มีไข้ หรืออุณหภูมิในร่างกายสูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส

ผลข้างเคียงของวัคซีนซิโนแวค

เว็บไซต์ hdmall เว็บไซต์ของศูนย์บริการสุขภาพในประเทศไทย ระบุว่า ผลข้างเคียงที่พบหลังฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มจะเหมือนกับวัคซีนชนิดอื่น ๆ ได้แก่

  • ปวด บวม และมีรอยแดง บริเวณที่ฉีด
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว
  • มีไข้ และอาการหนาวสั่น
  • คลื่นไส้

อย่างไรก็ตาม อาการข้างต้นจะเกิดขึ้นภายใน 1-2 วัน หลังได้รับการฉีดวัคซีน และควรหายภายในระยะเวลาไม่กี่วัน

สำหรับในประเทศไทย ผู้ที่นำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มมาเริ่มฉีดให้กับประชาชนเป็นอันดับแรกได้แก่ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (วันที่ 25 พ.ค.64) ว่าด้วยการให้บริการทางการแพทย์ ในสถานการณ์โควิด 19 และรวมถึงสถานการณ์ฉุุกเฉินอื่น ๆ สามารถนำเข้าวัคซีน-ยา-เวชภัณฑ์-อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอื่น ๆ ที่จำเป็นได้ โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ