วัคซีนโควิด ChulaCov19 ฝืมือคนไทย เทียบ “ไฟเซอร์-โมเดอร์นา”

ChulaCov19

วารสารวิทยาศาสตร์ระดับโลก ยกย่องนักวิทย์ไทยพัฒนา วัคซีนป้องกันโควิด “ChulaCov19” หากทดสอบผ่าน ไทยจะเป็นแหล่งผลิตวัคซีนชนิดเทียบเท่า “ไฟเซอร์-โมเดอร์นา”

วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงนักวิทยาศาสตร์ชาวไทย ผู้พัฒนาวัคซีน “ChulaCov19” ที่ได้รับการยกย่องจาก www.nature.com เว็บไซต์วารสารวิทยาศาสตร์ชื่อดังของโลก

นักวิทยาศาสตร์ชาวไทย ที่พัฒนาวัคซีนดังกล่าว คือ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ใช้เทคโนโลยี mRNA ทำให้คุณภาพ ChulaCov19 เทียบเท่าวัคซีน “ไฟเซอร์-โมเดอร์นา” สามารถรับมือกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกา (B.1.351) และ สายพันธุ์อังกฤษ (B.1.1.7) รวมถึงยังอาจพัฒนาให้รับมือกับสายพันธุ์อินเดีย (B.1.617) ได้อีกด้วย

วัคซีน ChulaCov19 จะเริ่มทดสอบกับมนุษย์ในเดือนมิถุนายน 2564 จำนวน 100 คน เพื่อหาจำนวนโดสที่เหมาะสมในการสร้างภูมิคุ้มกัน โดยจะใช้บริษัทในสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลิตวัคซีนทดลองลอตแรก หลังจากนั้นในเดือนกันยายน จะเริ่มผลิตเองในประเทศไทย โดยบริษัท BioNet-Asia

การทดสอบความสามารถของวัคซีน ChulaCov19 นี้จะใช้ผลการทดสอบเทียบกับตัวอย่างเลือดจากผู้ที่ฉีดวัคซีน Pfizer ในต่างประเทศ และ AstraZeneca จากประเทศไทย หากผลการทดสอบพบว่าภูมิคุ้มกันของผู้ที่ได้รับวัคซีน ChulaCov19 เทียบเท่าหรือดีกว่าภูมิคุ้มกันของผู้ที่ได้รับวัคซีน Pfizer และ AstraZeneca ก็น่าที่จะขออนุมัติเป็นการพิเศษเพื่อให้วัคซีนถูกนำมาใช้ในประเทศโดยเร่งด่วนได้

ทั้งนี้ หากผลการทดสอบเป็นไปได้ด้วยดี ประเทศไทยก็จะสามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นแหล่งผลิตวัคซีนชนิด mRNA ที่สำคัญประเทศหนึ่งในทวีปเอเชีย และเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่สามารถพัฒนาวัคซีนชนิดนี้ขึ้นมาเองได้