ฉีดวัคซีน 7 มิ.ย. ทั่วประเทศ รับค่าชดเชยอาการข้างเคียงใน 5 วันทำการ

วัคซีน
Photo by GREG BAKER / AFP

ฉีดวัคซีน 7 มิ.ย. ทั่วประเทศ รับค่าชดเชยกรณีมีอาการไม่พึงประสงค์ใน 5 วันทำการไม่ต้องรอการตรวจสอบ ผู้สูงอายุ 60 ปี-ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ใช้แอสตร้าเซนเนก้า เป็นหลัก 

วันที่ 2 มิถุนายน 2564 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) จัดบรรยายหัวข้อ การกระจายวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ตลอดจนสาระสำคัญเกี่ยวกับวัคซีน เพื่อสนับสนุนการควบคุมการระบาดของโรค โดยมีตัวแทนด้านสาธารณสุขของไทยมาร่วมให้ข้อมูลผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ประกอบด้วย นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ นพ.โสภณ เอี่ยมสิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

วัคซีนทั้งหมดที่ไทยมี

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวถึงการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทยว่า มีการตั้งเป้าจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดส เพื่อครอบคลุมประชากร 50 ล้านคน (70% ของประชากร) ภายในปี 2564 ขณะนี้ได้จัดหามาแล้วจาก 2 ผู้ผลิตคือ ซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า

วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าทำสัญญาจัดหา 61 ล้านโดส และได้ทยอยส่งมอบไปแล้ววันนี้ (1 มิ.ย. 2564) ส่วนของซิโนแวคทำสัญญาจัดหาเรียบร้อยแล้ว 10-15 ล้านโดส และได้รับบริจาคจากรัฐบาลจีน 1 ล้านโดส ส่งมอบแล้ว 6 ล้านโดส ที่เหลือทยอยส่งมอบเดือนละ 3 ล้านโดส ตั้งแต่ มิ.ย. 2564

ขณะที่ของไฟเซอร์กำลังอยู่ระหว่างต่อรองเงื่อนไขในสัญญาจัดหา 20 ล้านโดส และคาดว่าจะทยอยส่งมอบได้ภายในไตรมาส 3 ของปี 2564 และของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน อยู่ระหว่างต่อรองเงื่อนไขในสัญญาจัดหา 5 ล้านโดส คาดว่าจะทยอยส่งมอบได้ในไตรมาส 3 ของปี 2564 นอกนั้นก็มีของโมเดอร์นา ซิโนฟาร์ม และกามาลาย่า (Sputnik 5) ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ

ทั้งนี้ นพ.นคร ชี้แจงกรณีข่าวที่มีคนถามว่าฟิลิปปินส์ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจากสยามไบโอไซเอนซ์ล่าช้าว่าเป็นความเข้าใจผิด เพราะฟิลิปปินส์ทำการตกลงซื้อจากแอสตร้าเซนเนก้าตรงไม่ได้ผ่านสยามไบโอไซเอนซ์

“สถานการณ์การผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นการผลิตไปใช้ไป เพราะทั่วโลกอยู่ในสภาวะฉุกเฉิน แต่กระบวนการจัดสรรขึ้นอยู่กับการเจรจาอย่างต่อเนื่อง โดยไทยมีการดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีวัคซีนส่งมอบ ส่วนข้อตกลงที่เรามีกับแอสตร้าเซนเนก้าคือ จะไม่ห้ามการส่งออกวัคซีน แต่การส่งออกจะอยู่กับการปรึกษาหารือร่วมกัน”

ต่างชาติฉีดวัคซีนในไทยได้แล้ว

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยได้เริ่มฉีดวัคซีนมาแล้วตั้งแต่ 28 ก.พ. 2564 และที่ผ่านมามีวัคซีนจำนวนจำกัด แต่ในวันที่ 7 มิ.ย. 2564 จะเป็นการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ที่จะเริ่มฉีดทั่วทุกพื้นที่ โดยจะมีวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวค

“จุดใหญ่จะเป็นที่สถานีกลางบางซื่อ กทม. และได้มีการทดสอบระบบแล้วตั้งแต่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งครั้งนี้จะเป็นการฉีดให้กลุ่มที่ 2 (กลุ่มต่อจากกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า) โดยเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ซึ่งมีแนวโน้มได้รับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นหลัก แต่ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ด้วย”

(บุคคลในภาพจากซ้าย) นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ นพ.โสภณ เอี่ยมสิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

คนที่ขึ้นทะเบียนจองสิทธิฉีดวัคซีนผ่านระบบหมอพร้อม ที่เปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค.แล้ว จะได้รับการฉีดวัคซีนตามนัดหมายของสถานพยาบาล และการลงทะเบียนเพิ่มเติมอื่น ๆ เช่น เป๋าตัง เซเว่นอีเลฟเว่น จะเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ของแต่ละพื้นที่ ส่วนชาวต่างชาติเข้าถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้เช่นกัน แต่ต้องลงทะเบียนล่วงหน้า ผ่านเว็บไซต์ www.ThailandIntervac.com

“ขณะนี้ทุกโรงพยาบาลได้ทยอยรับวัคซีนเพื่อเตรียมการฉีดแล้ว เรากระจายวัคซีนเป็นงวด โดยในเดือน มิ.ย.นี้ มี 4 งวด ซึ่ง 1-2 วันที่ผ่านมาได้ส่งไปแล้ว 240,000 โดส และจะส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอีกล้านกว่าโดสท้ายสัปดาห์นี้”

สัดส่วนการกระจายวัคซีนใน กทม. จะได้รับมากกว่าเพราะเป็นพื้นที่ที่มีประชากรจำนวนมาก และเป็นพื้นที่ระบาด ดังนั้น เบื้องต้น 2 สัปดาห์แรกมีการจัดสรรวัคซีนให้ 5 แสนโดส (จากเดิมที่ขอไว้ 1 ล้านโดส) ส่วนจังหวัดที่ห่างออกไปและไม่มีการระบาดมากจะได้รับจำนวนวัคซีนลดลง ดังนั้น ในเดือน มิ.ย. จะมีการส่งวัคซีนไปโรงพยาบาลต่าง ๆ ประมาณ 5-6 ล้านโดส อย่างไรก็ตาม ทุกจังหวัดจะได้วัคซีนครบแน่นอน และเพียงพอสำหรับทุกคนภายใน 4-5 เดือนนี้

รับค่าชดเชยใน 5 วันทำการ

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า บทบาทของ สปสช. ในตอนนี้คือสนับสนุนงบประมาณค่าบริการฉีดวัคซีนโควิด ซึ่งจุดเด่นของการฉีดวัคซีนครั้งนี้คือ ประชาชนสามารถฉีดนอกโรงพยาบาลได้

อีกส่วนคือ สปสช.เตรียมงบประมาณสำหรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากอาการไม่พึงประสงค์ โดยไม่ต้องรอการตรวจสอบ หากฉีดแล้วเกิดอาการไม่พึงประสงค์ ผู้เสียหายสามารถขอรับค่าชดเชยได้ โดยยื่นเรื่องไปที่คณะอนุกรรมการที่มีอยู่ 13 ทีมทั่วประเทศ ที่พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 5 วัน ตรงนี้จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับประชาชนในการฉีดวัคซีน

“ส่วนลักษณะอาการหลังรับวัคซีนโควิด-19 ที่สามารถยื่นเรื่องค่าเยียวยาได้ ไม่ได้กำหนดเฉพาะเจาะจง แต่ผู้ที่รับวัคซีนโควิด-19 สงสัยว่ามีอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนก็ให้ยื่นเรื่องมาได้ตลอด หรือไปปรึกษากับแพทย์และหากพบว่าอาการที่เกิดเกี่ยวกับวัคซีน เราจะช่วยดำเนินการเยียวยาให้ ซึ่งบางกรณีไม่ต้องรอผลจนถึงที่สุด เราจะช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นให้ก่อน และหลังจากนั้นค่อยมีทีมงานตรวจสอบดู ทั้งนี้ แม้จะมีประกันเอกชนแล้วก็ตาม ก็สามารถยื่นเรื่องได้เช่นกัน”

ตั้งแต่เปิดให้ยื่นขอค่าชดเชยมา 2 สัปดาห์ ถึงตอนนี้มีประชาชนยื่นเรื่องมาแล้ว 250 ราย และมีการชดเชยไปแล้ว 150 ราย โดย 50 ราย มีอาการชา และมีบางส่วนที่มีอาการนานเกิน 2 เดือน นอกนั้นเป็นผู้ที่มีอาการคลื่นไส้ อ่อนเพลียจนต้องนอนพักโรงพยาบาล