พบโควิดสายพันธุ์อินเดีย 235 ราย อยู่ใน กทม. 206 ราย

โควิดอินเดีย

กรมวิทย์ฯ เฝ้าระวังเชื้อโควิดกลายพันธุ์ ล่าสุดพบสายพันธุ์อินเดีย 235 ราย ใน กทม. 206 ราย และกระจายอีกหลายจังหวัด เชื่อมโยงแคมป์คนงานหลักสี่

วันที่ 7 มิถุนายน 2564 ที่ กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าว การเฝ้าระวังการกลายพันธุ์เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ในประเทศไทย โดยนายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์ในปัจจุบันตั้งแต่มีการระบาดในระลอกเดือนเมษายน 2564

จากข้อมูลที่ตรวจเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มตัวอย่าง 3,964 ราย พบว่าสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดมากที่สุดคือ สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ประมาณ 3,595 ราย พบเกือบทุกจังหวัด และเข้ามาแทนสายพันธุ์ที่เคยระบาดอยู่ในประเทศไทย

สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ตอนนี้พบ 230 ราย หรือ 6% จาก 3,964 ราย ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ)ในอนาคตเนื่องจากแพร่กระจายเร็วกว่า ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากแคมป์คนงานย่านหลักสี่ 206 ราย

นอกจากนี้ยังพบนนทบุรี 2 ราย พิษณุโลก 2 ราย ที่มีความเชื่อมโยงกับแคมป์คนงานหลักสี่ บุรีรัมย์ 1 ราย อุบลราชธานี 1 ราย สมุทรสงคราม 1 ราย ที่น่าห่วงคือ อุดรธานี 17 ราย ในจังหวัดนี้กำลังสอบสวนความเชื่อมโยงว่ามีความเกี่ยวข้องกับแคมป์คนงานก่อสร้างที่หลักสี่หรือไม่ นอกจากนี้ยังมีที่ร้อยเอ็ด 1 ราย นครราชสีมา 2 ราย สระบุรี 2 ราย

ส่วนสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) จำนวน 26 ราย พบรายงานครั้งแรกที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เริ่มต้นข้ามจากมาเลเซีย เนื่องจากสายพันธุ์นี้ระบาดในรัฐกลันตันของประเทศมาเลเซีย ซึ่งได้มีการตรวจจังหวัดอื่น ๆ ใกล้เคียง แต่ยังพบอยู่ที่นราธิวาสจังหวัดเดียว แต่วางใจไม่ได้ ต้องควบคุมให้อยู่ในพื้นที่นานที่สุด แพร่ออกมาข้างนอกช้าสุด

นอกจากนี้ ยังเจอสายพันธุ์ B.1.1.524 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่สนใจของประเทศเพื่อนบ้าน เจอในนราธิวาสและปัตตานี 10 ราย แต่ยังไม่ใช่สายพันธุ์ที่น่ากังวล ต้องจับตาดูข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป

ด้าน ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้มีการถอดรหัสพันธุกรรมกว่า 30,000 รหัสพันธุกรรม ซึ่งเป็นความร่วมมือกับทั่วโลกในการถอดรหัสและได้มีการแชร์ข้อมูลผ่านระบบกลาง

ซึ่งประโยชน์จากการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโควิดจะทำให้ทราบแนวทางการป้องกันและควบคุมโรค เหมือนกรณีของที่ตากใบ จ.นราธิวาส ที่ขณะนั้นเจอติดเชื้อ 100 คน และได้มีการส่งตัวอย่างเชื้อมาที่ศูนย์จีโนม จึงได้มีการถอดรหัสพันธุกรรมจนพบว่า สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ทำให้มีการจำกัดขอบเขตของการระบาด และขณะนี้ก็ยังพบเพียงในพื้นที่อยู่ ขณะที่สายพันธุ์อังกฤษพบไม่มากประมาณ 1%

“นอกจากนี้ เราก็ยังมีการติดตามสายพันธุ์ B.1.524 ซึ่งเป็นสายพันธุ์พื้นบ้านของประเทศเพื่อนบ้าน(มาเลเซีย) แต่สายพันธุ์นี้ไม่น่ากังวล เนื่องจากไม่พบความรุนแรง แต่ที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามคือ สายพันธุ์แอฟริกาใต้หรือเบต้า (Beta) ส่วนในปัจจุบันประเทศไทยไม่พบการกลายพันธุ์ที่พบได้เฉพาะในประเทศไทย”