โรงรับจำนำ ทำไมต้องมีเพิ่ม? จุดประสงค์แรกเริ่มคืออะไร

รับจำนำ

รู้จุดประสงค์แท้จริงของธุรกิจ “โรงรับจำนำ” หลัง “ประยุทธ์” สั่งเพิ่มจำนวน แก้ปัญหาหนี้สินประชาชน ช่วงวิกฤตโควิด

โรงรับจำนำ อีกหนึ่งที่พึ่งหลักสำหรับคนที่ต้องการใช้เงินเร่งด่วน เพียงนำของมีค่าที่มี เช่น ทองรูปพรรณและทรัพย์สินมีค่าอื่น ๆ มาแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ และตอนนี้ก็ได้กลับมาเป็นที่พูดถึงในสังคมอีกครั้ง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เสนอแนวทางการปัญหาหนี้สินของประชาชน โดยการ “เพิ่มจำนวนโรงรับจำนำ”

“ประชาชาติธุรกิจ” นำเสนอชุดข้อมูลให้ผู้อ่านได้ทราบถึงความเป็นมา เหตุผลในการจัดตั้ง รวมถึงประเภทของโรงรับจำนำ ดังนี้

ทำไมต้องมีโรงรับจำนำ

การรับจำนำสิ่งของในประเทศไทย มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยมีหลักฐานปรากฎในรัชสมัยของพระบรมโกษฐ์ แห่งกรุงศรีอยุธยา ตามพระราชกำหนดที่ออกในปี พ.ศ. 2234 เรื่องการควบคุมการรับจำนำ กำหนดให้การรับจำนำกระทำในเวลากลางวัน และให้จำนำเฉพาะกับผู้ที่รู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดีเท่านั้น

แต่ด้วยจุดอ่อนที่รับจำนำเฉพาะกับคนคุ้นเคย และคิดดอกเบี้ยที่ราคาสูง จึงเกิดธุรกิจที่จะทำอย่างไรให้คนที่มีเงินเพื่อรับจำนำจากคนอื่น ให้ใช้สิ่งของมาเป็นหลักประกัน และยังคิดดอกเบี้ยในราคาที่ถูก จึงเป็นที่มาของการตั้ง โรงรับจำนำ

ผู้ตั้งโรงรับจำนำแห่งแรกของไทยเป็นชาวจีน ชื่อ ฮง แซ่เบ๊ ในปี พ.ศ. 2409 ตั้งอยู่ที่ ย่านประตูผี ถนนบำรุงเมือง ชื่อร้านโรงรับจำนำย่องเซี้ยง (หัวมุมตัดกับถนนมหาไชย) ข้างวัดเทพธิดาราม ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น “โรงรับจำนำสำราญราษฎร์” เริ่มแรกคิดดอกเบี้ยเพียง 1 เฟื้อง (12 .5 สตางค์) จากเงินต้น 1 ตำลึง (4 บาท) ซึ่งถูกกว่าการกู้กับคนกันเอง คิดดอกเบี้ยเพียงครึ่งหนึ่งของท้องตลาด หรือประมาณ 3.12% ต่อเดือน

เมื่อโรงรับจำนำของจีนฮงได้รับความนิยมมาก จึงมีผู้เปิดโรงรับจำนำตามจีนฮงอีกหลายสิบโรง ธุรกิจโรงรับจำนำจึงได้รับความนิยมอย่างมาก ในปี 2433 มีโรงรับจำนำในกรุงเทพมหานคร ถึง 200 โรง เนื่องจากการตั้งโรงรับจำนำสมัยนั้น สามารถทำได้ง่าย ไม่ต้องขออนุญาต ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับรัฐบาล

พ.ศ. 2438 (ร.ศ.114) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติโรงรับจำนำรัตนโกสินทร์ศก 114 ขึ้นและโปรดเกล้า ฯ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2438 เป็นต้นไป กำหนดให้ผู้ที่จะตั้งโรงรับจำนำต้องขออนุญาต มีการกำหนดค่าธรรมเนียม และระยะเวลาการใช้ใบอนุญาตกำหนดเวลาจำนำและไถ่ถอนกำหนดให้จัดทำตั๋วจำนำ และบัญชีไว้เป็นหลักฐาน

อีกทั้งยังได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยจำนำ เงินต้นไม่เกิน 1 บาท ให้คิดดอกเบี้ย 3 อัฐ ต่อ 1 เดือน ถ้าเงินต้นเกิน 50 บาทแต่ไม่เกิน 400 บาท ให้คิดดอกเบี้ยได้บาทละ 2 อัฐต่อ 1 เดือน การไถ่ของกำหนดไว้ภายใน 3 เดือน หากเทียบอัตรา 64 อัฐเป็น 1 บาท ดังนั้น 3 อัฐ เท่ากับ 1.56 %

โรงรับจำนำแห่งแรกของไทย

โรงรับจำนำแห่งแรกของประเทศไทยที่ตั้งขึ้นถูกต้องตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ ร.ศ.114 ชื่อ “ฮั้วเส็ง“ ก่อตั้งโดยนายเล็ก โทณวนิก

ทางการได้ยกเลิกพระราชบัญญัติ ร.ศ. 114 และตราพระราชบัญญัติใหม่ ให้บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2481 เป็นต้นมา โดยพระราชบัญญัติใหม่นี้ มีหลักการสำคัญ คือ ใช้วิธีประมูลการตั้งโรงรับจำนำทุก ๆ ระยะ 5 ปี เพราะไม่ต้องการให้มีมากจนเกินไป ลดการแข่งขันกันเอง ต่อมาสภาพทางเศรษฐกิจ และสังคมได้เปลี่ยนไปมาก

รัฐบาลจึงได้ตราพระราชบัญญัติ โรงรับจำนำฉบับใหม่ในปี 2505 เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจาก พระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2481 ได้ออกใช้เป็นเวลานานมาแล้ว การกำหนดจำนวนเงินกู้ อัตราดอกเบี้ย การอนุญาต คุณสมบัติของผู้รับอนุญาต และบทกำหนดโทษยังไม่เหมาะสมแก่กาลสมัยในขณะนั้น จึงสมควรปรับปรุงแก้ไข ให้เป็นการเหมาะสม

ต่อมาในปี 2517 รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติ โรงรับจำนำใหม่ โดยแก้ไขเพิ่มเติม จากพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 เพื่อมีบทบัญญัติที่รัดกุม เน้นที่การลงหลักฐานของผู้จำนำ ป้องกันการจำนำทรัพย์ที่ได้มาโดยทุจริต

สุดท้ายในปี 2526 มีการออกพระราชบัญญัติโรงรับจำนำอีกครั้ง โดยมุ่งหวังจะช่วยเหลือประชาชนที่นำทรัพย์มาจำนำ แล้วหลุดจำนำโดยเจ้าของไม่ตั้งใจ อาจเป็นเพราะหาเงินมาไถ่ไม่ทัน หรือขาดการส่งดอกเบี้ย จึงขยายเวลา หรือหลักเกณฑ์ให้ยืดหยุ่นให้กับผู้ยากไร้มากขึ้น ซึ่งใช้บังคับมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

(ข้อมูลจาก Facebook : สถานธนานุบาลเทศบาลนครขอนแก่น1)

ประเภทของโรงรับจำนำ

จากการสำรวจของ Rocket Media Lab ผู้ทำงานเกี่ยวกับข้อมูลเพื่อการสื่อสารมวลชน พบว่า ประเทศไทยมีโรงรับจำนำอยู่ทั้งหมดประมาณ 730 แห่งทั่วประเทศ แบ่งตามประเภท ดังนี้

  • สถานธนานุเคราะห์

ดำเนินกิจการโดยกรมประชาสงเคราะห์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2498 ต่อมาได้โอนอำนาจ ทรัพย์สิน งบประมาณ มาให้กับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตามประกาศพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนที่ 102 ก ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2545

ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 39 แห่ง ตั้งอยู่ ในเขตต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 29 แห่ง ปริมณฑล 4 แห่ง คือ จังหวัด นนทบุรี และ จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดสมุทรปราการ และส่วนภูมิภาค 6 แห่ง คือ จังหวัดระยอง จังหวัดลำพูน จังหวัดอุดร จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ จังหวัดพิษณุโลก

(ข้อมูลจาก www.pawn.co.th)

  • สถานธนานุบาล 

สถานธนานุบาลของหน่วยบริหารราชการส่วนท้องถิ่นได้โอนจากกรมการปกครอง มาขึ้นอยู่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2546 ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 238 แห่ง

(ข้อมูลจาก www.lamtasao.go.th)

  • โรงรับจำนำเอกชน 

โรงรับจำนำของเอกชน จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ ปี 2505 ปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 453 แห่ง

(ข้อมูลจาก www.rocketmedialab.co)

ประยุทธ์ เร่งแก้ปัญหาหนี้สิน สั่งเพิ่มโรงรับจำนำ

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ ได้แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน ซึ่งหนึ่งในข้อเสนอนั้น คือ การเพิ่มจำนวนโรงรับจำนำและโรงรับจำนองเพิ่มขึ้น เพื่อดูแลผู้มีรายได้น้อยแต่มีที่ดินจำนวนจำกัดอยู่ให้เข้าถึงสินเชื่อเหล่านี้ 

ทั้งนี้ ยังมีเสียงสะท้อนจากหลายฝ่ายมองว่า การแก้ปัญหาด้วยวิธีดังกล่าว เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดในสถานการณ์วิกฤตทั้งโรคระบาด และเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้หรือไม่