วัคซีนไฟเซอร์ รออัยการตรวจสัญญาซื้อ คาดเสร็จทันส่งเข้าครม. 6 ก.ค.

เผยรายละเอียดสัญญาไฟเซอร์
ภาพจาก Reuters

กรมควบคุมโรค แจงการจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส เหลือลงนามสัญญาซื้อ รออัยการสูงสุดตรวจเอกสาร คาดเสร็จสิ้น 5 ก.ค.ทันส่งเข้าครม.พิจารณา 6 ก.ค.นี้

วันที่ 3 กรกฎาคม 2564 ในแถลงข่าวศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร เปิดเผยว่า ตอนนี้การจัดหาวัคซีนโควิดที่กรมควบคุมโรคได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุข นอกจากวัคซีนซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า ยังมีการเจรจาสั่งซื้อวัคซีนตัวอื่นๆ อย่างไฟเซอร์ จำนวน 20 ล้านโดส เราได้มีการเจรจาก่อนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) รับรอง โดยไฟเซอร์ได้ยื่นขอทะเบียนกับ อย.เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. และได้ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา

ซึ่งกระบวนการก่อนหน้านี้ได้ลงนามเอกสารไปแล้ว 2 ฉบับ คือ เอกสารที่สัญญาว่าเมื่อรับทราบข้อกำหนดเบื้องต้นจะไม่เปิดเผยข้อมูล และเอกสารการจองวัคซีนตั้งแต่ก่อน เม.ย.

ตอนนี้เหลือสัญญาฉบับที่ 3 คือ เอกสารสัญญาซื้อวัคซีน ซึ่งต้องรอบคอบเพราะมีเงื่อนไขรายละเอียดที่บริษัทผู้ผลิตตั้งขึ้นหลายประการ จึงต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ โดยสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจสัญญาแล้ว คาดว่าจะเสร็จในวันจันทร์ที่ 5 ก.ค.นี้จากนั้นก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีวันที่ 6 ก.ค.เมื่อผ่านขั้นตอนเหล่านี้ก็จะสั่งซื้อต่อไป เพื่อให้ส่งมอบเร็วขึ้น เพราะบริษัทบอกว่า จะส่งให้ได้ประมาณไตรมาส 4 ของปีนี้

นอกจากนี้ นพ.โสภณ ยังกล่าวถึงสถานการณ์โควิดว่าค่อนข้างน่าเป็นห่วงประกอบกับพบสายพันธุ์กลายพันธุ์ อย่างเดลตา ที่มีการแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดิม ซึ่งตั้งแต่ เม.ย. การระบาดตอนแรกยังคงอยู่ กทม.เป็นหลัก และลงสู่พื้นที่ปริมณฑล แต่ตอนนี้มีการแพร่ระบาดไปยังพื้นหนาแน่น เช่น โรงงาน สถานประกอบการ แม้จะมีมาตรการชะลอ

แต่ขณะนี้เชื้อได้เข้าไปยังชุมชน และครัวเรือนมากขึ้น จากตัวเลขวันนี้ติดเชื้อหลัก 6,230 ราย และผู้เสียชีวิต 41 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล และพบในพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น ซึ่งการตรวจพบเราค่อนข้างเร็ว กรมควบคุมโรคได้ประสานหน่วยงานต่าง ๆ ก็พยายามจำกัดให้คนที่มาจากพื้นที่ระบาดได้รับการตรวจรักษาเร็ว

นพ.โสภณ กล่าวว่า มาตรการหลักๆ คือ ลดการเคลื่อนย้าย ลดการเดินทาง และลดโอกาสเสี่ยงการรับเชื้อสถานที่ต่างๆ เช่น การแพร่เชื้อในสถานประกอบการก็มีมาตรการ ส่วนการใช้ชีวิตประจำวัน ร้านอาหารก็ไม่ให้นั่งรับประทานในร้าน ในส่วนที่เหลือคือ มาตรการใน ชุมชนและครัวเรือน จะเห็นว่าผู้เสียชีวิตจะพบที่บ้าน ดังนั้น การป้องกันการเสียชีวิตในผู้สูงอายุจึงสำคัญ

อย่างช่วงแรก ๆ เราเน้นย้ำวัยแรงงานที่ออกไปทำงานนอกบ้านต้องระวังตัวเอง ป้องกันอย่านำเชื้อแพร่ผู้สูงอายุที่อยู่บ้าน หากเราทำตรงนี้ได้ ร่วมกับการฉีดวัคซีนผู้สูงอายุได้เร็วขึ้น ก็จะดีมาก


ซึ่งทุกวันนี้ผู้สูงอายุได้ฉีดใกล้เคียงกับประชากรอื่นๆประมาณกว่า 10% แต่หากเราทำได้มากขึ้นก็จะลดการเจ็บป่วยหนักและเสียชีวิตในกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้นทฉะนั้น มาตรการสำคัญตอนนี้คือต้องเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบางให้เร็วขึ้น