หมออุดม สรุป 17 ข้อมูลใหม่ ระบาดระลอก 4 วัคซีนเข็มที่ 3

หมออุดม โควิดเข้าเวฟ 4

เปิดเผยครั้งแรก “หมออุดม” แถลงข้อมูลสถานการณ์โควิด ระบาดระลอก 4 ความสำคัญของวัคซีนเข็มที่ 3

วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (6 ก.ค.) นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ที่แพร่ระบาดในประเทศไทย พร้อมยืนยันว่าในประเทศไทยถือเป็นการระบาดระลอก 4 แล้ว

“ประชาชาติธุรกิจ” ประมวลข้อมูลจากการแถลงข่าวของ นพ.อุดม เพื่อให้เห็นถึงสถานการณ์การระบาดระลอก 4 ชัดเจน และความจำเป็นเรื่องวัคซีนเข็มที่ 3 ให้เข้าใจง่ายมากยิ่งขึ้น ดังนี้

1) การระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ช่วง เดือน มิ.ย.-ก.ค. พบผู้ป่วยโควิดเป็นสายพันธุ์เดลต้า  30% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และคาดว่าในเวลา 1-2 เดือนนี้ ประเทศไทยและทั่วโลก ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจะเป็นเดลต้า

2) เชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้า ภาพรวมไม่ได้รุนแรงกว่าอัลฟ่า แต่ทำให้ผู้ป่วยอยู่ในสภาวะออกซิเจนต่ำกว่าปกติเร็วขึ้น ปอดอักเสบเร็วขึ้น โดยอัลฟาใช้เวลา 7-10 วัน แต่เดลต้าใช้เวลา 3-5 วัน ทำให้ความต้องการเตียงผู้ป่วยหนักไอซียูเพิ่มขึ้น หากปล่อยไปเรื่อย ๆ ระบบสาธารณสุขจะอยู่ไม่ได้

3) หลักเกณ์ฑ์ในการกำหนดว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ระลอก 4 แล้ว แบ่งออกเป็น 3 ข้อ ได้แก่ 1) ไวรัสกลายพันธุ์เป็นตัวใหม่ สายพันธุ์เดลต้า มีพฤติกรรมไม่เหมือนเดิม 2) การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในชุมชน ครอบครัว องค์กร ไม่สามารถหาที่มาที่ไปได้ และ 3) จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 5-6 พันรายต่อวัน

4) นพ.อุดมบอกด้วยว่า ต้องการเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่เกินวันละ 500-1,000 ราย พร้อมยอมรับตามตรงว่าระดับ 4,000-6,000 รายในขณะนี้ “เราสู้ไม่ไหว” โดยสิ่งที่ต้องทำมี 3 ข้อ ได้แก่ 1) เพิ่มมาตรการส่วนบุคคล 2) เพิ่มมาตรการสังคม และ 3) เร่งฉีดวัคซีนให้ครบ 2 เข็ม ให้ได้เกิน 70% ซึ่งข้อหลังสำคัญที่สุด

5) การกลายพันธุ์ของไวรัสส่งผลให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง หมายความต้องหาวัคซีนรุ่นใหม่ที่สามารถป้องกันสายพันธุ์เดลต้าได้

6) วัคซีนหลายชนิดไม่ว่าจะเป็น ซิโนแวค, แอสตร้าเซนเนก้า, โมเดอร์นา และไฟเซอร์ ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา คาดว่าอย่างเร็วที่สุดจะเป็นช่วงปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565 เป็นเหตุผลที่ระหว่างรอ ควรหาวัคซีนเข็มที่ 3 มาฉีดกระตุ้นภูมิให้ได้มากที่สุด

7) จากข้อมูลของประเทศอังกฤษ ที่ใช้วัคซีน 2 ชนิด คือ ไฟเซอร์ และแอสตร้าเซนเนก้า พบว่า ไฟเซอร์ 2 เข็ม เจอสายพันธุ์เดลต้า การสร้างภูมิคุ้มกันลดลง 7.5 เท่า เจอสายพันธุ์เบต้า การสร้างภูมิคุ้มกันลดลง 2.5 เท่า

ขณะที่ แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม เจอสายพันธุ์เดลต้า การสร้างภูมิคุ้มกันลดลง 4.3 เท่า เจอสายพันธุ์เบต้า การสร้างภูมิคุ้มกันลดลง 9 เท่า

ส่วนกรณี ซิโนแวค เนื่องจากอังกฤษไม่ได้ใช้ จึงมีข้อมูลจากประเทศไทย โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำร่วมกับศูนย์วิจัยจุฬาฯ พบว่า ซิโนแวค 2 เข็ม เมื่อเจอสายพันธุ์เดลต้า การสร้างภูมิคุ้มกันลดลง 4.9 เท่า

8) นพ.อุดมสรุปว่า วัคซีนที่กระตุ้นภูมิต้านทานได้ดีที่สุดคือ mRNA คือ ไฟเซอร์และโมเดอร์นา ซึ่งจะมีภูมิต้านทานขึ้นระดับหลักพันถึงหมื่นยูนิต รองลงมาเป็นแอสตร้าเซนเนก้าหลักพันต้น ๆ ซิโนแวคจะเป็นหลักหลายร้อยปลาย ๆ

9) การป้องกันโรค ไฟเซอร์จะป้องกันสายพันธุ์เดลต้าลดลงจาก 93% เหลือ 88% แอสตร้าเซนเนก้าป้องกันสายพันธุ์เดลต้า ลดลงจาก 66% เหลือ 60%

10) การป้องกันความรุนแรงจากไวรัส ไฟเซอร์ทำได้ 96% แอสตร้าเซนเนก้า ทำได้ 92% ซึ่งถือว่าไม่ต่างกันมาก ส่วนซิโนแวค มีข้อมูลน้อย ไม่สามารถทราบได้ว่าป้องกันได้เท่าไร แต่หากเทียบจากภูมิต้านทานที่ลดลง คิดว่าไม่น่าป้องกันสายพันธุ์เดลต้าได้ดีแน่

11) อย่างไรก็ตาม วัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม สามารถป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรงจากไวรัสได้มากกว่า 90% ตามข้อมูลของหลายประเทศที่ใช้ซิโนแวค รวมถึงข้อมูลจาก จ.ภูเก็ตที่มีการฉีดวัคซีนซิโนแวคเยอะที่สุด นพ.อุดมกล่าวเพิ่มเติม

13) จากการเก็บข้อมูลผู้ป่วยโควิดพบว่า ภูมิต้านทานตกลงอย่างรวดเร็ว เมื่อผ่านไป 3-6 เดือนหลังจากติดเชื้อ บางคนพบว่าไม่มีภูมิต้านทานขึ้นเลย พร้อมยกตัวอย่างกรณีผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครที่มีอาการป่วยรุนแรง ใส่เครื่องช่วยหายใจนาน 40-50 วัน ก่อนเดินทางกลับจากโรงพยาบาลศิริราช พบว่าภูมิต้านทานเป็นศูนย์ ไม่มีภูมิต้านทานเลย

14) สาเหตุที่มีการพูดถึงวัคซีนเข็มที่ 3 เนื่องจากนักวิจัยที่ออกซ์ฟอร์ดเก็บข้อมูลพบว่า เมื่อฉีดวัคซีนไปแล้ว ระยะเวลาที่ภูมิต้านทานลดลงครึ่งหนึ่ง หรือที่เรียกว่า half-life ใช้เวลา 3-4 เดือน ดังนั้นถ้าลดลงครึ่งหนึ่ง อาจจะป้องกันไม่ได้ สำหรับคนที่ภูมิต้านทานไม่ได้สูงมาก

15) 2 ประเทศที่เริ่มมีการฉีดเข็มที่ 3 คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรน โดยฉีดซิโนแวค 2 เข็มแรก ส่วนเข็มที่ 3 ฉีดซิโนฟาร์ม เพราะหาอย่างอื่นไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ได้กระตุ้น โดยข้อมูลที่เรามีอยู่ หากจะกระตุ้นมาก ต้องเป็นวัคซีนที่ต่างชนิดกัน หรือคนละแพลตฟอร์ม

16) ส่วน ซิโนแวค และซิโนฟาร์ม เป็นเชื้อตาย ต้องกระตุ้นในแพลตฟอร์มอื่น เช่น แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นา อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อมูลน้อยมาก และยังไม่มีประเทศไหนฉีดเข็มที่ 3 อย่างเป็นทางการ

17) หลักการสำคัญคือ ขอให้ฉีดเข็มที่ 1-2 ให้ได้ครบก่อน เข็มแรกการป้องกันอาจจะน้อย แต่เข็มที่สองจะช่วยในการป้องกันได้แน่นอน โดยเฉพาะเชื้อสายกลายพันธุ์ได้แน่นอน ถ้าเป็น ไวรัลเว็กเตอร์ หรือ mRNA แต่ต้องยอมรับว่า ชนิดเชื้อตาย หรือซิโนแวค หลังเข็มที่ 2 ป้องกันการติดเชื้อได้น้อย แต่ป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงได้

“ตอนนี้ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศ ตอนนี้ประเทศเรา มีแอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม ส่วนโมเดอร์นากำลังจะเข้ามา ฉะนั้นกรุณาฉีดวัคซีนให้ครบ 2 เข็มให้ได้ตามกำหนด อย่าเพิ่งไปนึกถึงเข็มที่ 3 ผมขอพูดจากทางวิชาการ กรณีท่านฉีดแอสตร้าเซนเนก้า ต้องเว้นห่าง 3 เดือน ท่านอย่าเพิ่งไปจองวัคซีนเข็มที่ 3 เพราะท่านจะได้ mRNA รุ่นเก่า และเมื่อท่านฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 ต้องเว้นไป 6 เดือน ท่านจะได้ mRNA รุ่นใหม่ ผลข้างเคียงต่าง ๆ จะน้อยลง และมีความปลอดภัยมากกว่า” ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าว