ศบค. เตือน “เดลต้า” ดันสัปดาห์หน้าป่วยพุ่งหมื่นคน-5 คลัสเตอร์ใหม่โผล่

แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์

ศบค. พบ “คลัสเตอร์ใหม่” ใน กทม.อีก 2 แห่ง ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ-โรงงานจิวเวลลี่ ส่วนต่างจังหวัดเจออีก 3 แห่ง ทั้งโรงงานน้ำจิ้ม รพ.เอกชน โรงงานพืชไร่ ชี้การระบาด “สายพันธุ์เดลต้า” น่าห่วง คาดสัปดาห์หน้าดันยอดผู้ติดเชื้อพุ่งถึงหมื่นราย  ชี้การเดินทางข้ามพื้นที่คนจาก กทม. ทำติดเชื้อกระจายไปแล้ว 40 จังหวัด

วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงรายงานสถานการณ์ประจำวันว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก วันพุธที่ 7 กรกฎาคม 2564 เวลา 10.00 น. มียอดผู้ติดเชื้อรวม 185,381,383 ราย อาการรุนแรง 77,694 ราย
รักษาหายแล้ว 169,720,398 ราย เสียชีวิต 4,008,981 ราย

อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับหนึ่งยังเป็น 1.สหรัฐอเมริกา จำนวน 34,622,690 ราย 2.อินเดีย จำนวน 30,662,896 ราย 3.บราซิล จำนวน 18,855,015 ราย 4.ฝรั่งเศส จำนวน 5,790,584 ราย 5.รัสเซีย จำนวน 5,658,672 ราย ส่วนประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 64 จำนวน 301,172 ราย

“ตัวเลขที่อยากจะเน้นย้ำในทุก ๆ วันคือของอังกฤษ มีรายงานผู้ติดเชื้อที่ยังคงสูงตลอด วันนี้ 28,773 ราย แต่มีรายงานผู้เสียชีวิตค่อนข้างต่ำคือ 37 คน ตรงนี้เป็นผลสะท้อนมาจากการกระจายการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งจะลดการป่วยหนัก การแอดมิตโรงพยาบาล รวมทั้งลดอัตราการเสียชีวิตลงได้”

ประเทศเพื่อนบ้าน ยอดติดเชื้อ-ตายเพิ่ม

ขณะที่สถานการณ์ในรอบเพื่อนบ้านเรา ค่อนข้างจะขยับขึ้น วันนี้เวียดนามรายงานตัวเลข 1,029 ราย กัมพูชา 935 ราย มีผู้เสียชีวิต 31 คน เมียนมาพบผู้ติดเชื้อ 3,602 คน มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 52 คน มาเลเซียวันนี้ 7,654 คน เสียชีวิตเพิ่ม 103 คน (ตามตาราง)

“อย่างที่เราได้ติดตามการรายงานจะพบว่า จะเห็นการกระจายการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งพบครั้งแรกในประเทศอินเดียก็ค่อนข้างจะกระจายไปในภูมิภาคใกล้บ้านเราด้วย ”

สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 มีผู้ป่วยรายใหม่ 6,519 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 272,309 ราย หายป่วยแล้ว 203,745 ราย ทำให้มีรายงานเสียชีวิตสะสม 2,293 ราย

ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 301,172 ราย หายป่วยแล้ว 231,171 ราย เสียชีวิตสะสม 2,387 ราย

ยอดป่วยหนักพุ่งเฉียด 2,500 ราย

สำหรับผู้ที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลมีจำนวน 67,614 ราย มีอาการหนัก 2,496 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 676 ราย

“จะเห็นว่าผู้ป่วยที่มีอาการหนักและต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ตัวเลขขยับขึ้นมากพอสมควร จากเมื่อก่อนนี้อาการหนัก ปอด อักเสบตัวเลขจะอยู่ที่พันต้น ๆ ตอนนี้รายงานต่อเนื่องเป็น 2 พันกว่าราย และยอดผู้ที่ใช้เครื่องช่วยหายใจจาก 300-400 ราย เพิ่มขึ้นเป็น 676 รายในวันนี้” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว

ยอดฉีดวัคซีนยังต่ำเป้าเล็กน้อย

ส่วนจำนวนผู้รับการฉีดวัคซีน วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 223,268 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 46,385 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์-6 กรกฎาคม 2564 มีผู้รับวัคซีนสะสมทั้งหมด จำนวน 11,328,043 โดส

“เป้าจริง ๆ เราอยากฉีดให้ได้ 3-5 แสนโดส ตอนนี้ยังน้อยกว่าแผนที่วางไว้นิดนึง ส่วนกลุ่มที่เน้นย้ำ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวเลข 12.5 ล้านคน ฉีดวัคซีนเข็ม 1 ไปแล้ว 12.9% ส่วนยอดผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค 5.3 ล้านคน ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ไปแล้ว 8.3 แสนคน หรือคิดเป็น 15.6%” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวและว่า

ในส่วนของ กทม.วันนี้มีการปรับแผนเพิ่มการฉีดวัคซีนไปในกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น โดย กทม. โดยสำนักอนามัยมีการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุไปอีกหมื่นกว่าคน ซึ่งในสัปดาห์นี กทม.จะเน้นย้ำการฉีดวัคซีน 2 กลุ่มนี้มากขึ้น

คนติดเชื้อจาก กทม. ทำแพร่กระจายไป 40 จังหวัดแล้ว

สำหรับผู้เสียชีวิตวันนี้จำนวน 54 คน เป็นชาย 32 ราย หญิง 22 ราย พบว่าอยู่ใน กทม. 30 คน ปัตตานี 4 คน สมุทรปราการและปทุมธานี จังหวัดละ 3 ราย นครราชสีมา ยะลา สมุทรสาคร จังหวัดละ 2 ราย และเชียงราย เพชรบุรี ชลบุรี นครปฐม ชัยภูมิ นราธิวาส นครศรีธรรมราช พระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 1 คน

ค่ากลางของอายุอยู่ที่ 69 ปี (26-89 ปี) ซึ่งค่อนข้างสูง เป็นคนไทย 49 ราย เมียนมา 3 ราย ลาว 1 ราย และญี่ปุ่น 1 ราย ค่ากลางระยะเวลานอนโรงพยาบาล 9 วัน นานสุดคือ 62 วัน ส่วนโรคที่พบ 3 อันดับแรกยังเป็น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเส้นเลือดสูง

สำหรับยอดผู้ติดเชื้อใน กทม.และปริมณฑล และต่างจังหวัด ตอนนี้มาเท่ากันแล้ว คือ 50% ต่อ 50% จากที่ก่อนหน้านี้สัดส่วนของ กทม.และปริมณฑลมีมากกว่า

แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวว่า จากกราฟสะท้อนให้เห็นว่ามีการเดินทางข้ามพื้นที่ของพี่น้องประชาชน จากพื้นที่เสี่ยงคือสีแดง กลับไปยังต่างจังหวัด ทำให้ตอนนี้มีการกระจายการติดเชื้อไปยัง 40 จังหวัดแล้ว แยกเป็นภาคเหนือ 11 จังหวัดรวม 88 ราย ภาคกลางและภาคตะวันออก 9 จังหวัด รวม 65 ราย ภาคอีสาน ติดไปแล้ว 17 จังหวัด (จาก 20 จังหวัด) รวมผู้ติดเชื้อ 218 ราย และภาคใต้ 4 จังหวัด รวมติดเชื้อ 6 ราย รวมทั้งหมด 377 ราย (ตามตาราง)

 

เตือนสายพันธุ์เดลต้ากระจายเร็ว

“ตัวเลขของ กทม.และปริมณฑล เราเริ่มพบสายพันธุ์เดลต้า ที่พบครั้งแรกที่อินเดีย เริ่มมีการรายงานที่ กทม.ค่อนข้างเยอะ ดังนั้นพอจะคาดเดาได้ว่า การที่ไปต่างจังหวัดก็จะเป็นสายพันธุ์เดลต้าส่วนหนึ่งด้วยเช่นกัน ขณะที่สายพันธุ์อัลฟ่าหรือสายพันธุ์อังกฤษพบน้อยลง ขณะที่สายพันธุ์เดลต้า (เส้นกราฟสีแดง) เป็นจำนวนใหญ่ของ กทม.แล้ว” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว

สำหรับสายพันธุ์เดลต้าหลัก ๆ จะอยู่ที่สหราชอาณาจักร หรืออังกฤษ พบในประชากรผู้ติดเชื้อเกิน 90% สหรัฐอเมริกา ตอนนี้ก็พบเพิ่มขึ้นเป็น 20% และยังมีรายงานว่าพบในคนที่ได้รับวัคซีนแล้ว ทั้งเข็ม 1 และเข็ม 2 ยังมีโอกาสติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าได้

 

จับตาสัปดาห์หน้า ยอดติดเชื้อพุ่งหมื่นราย

ในส่วนของการแพร่ระบาด แพทยสมาคมมีความเป็นห่วงว่า หลังจากที่เราพบสายพันธุ์ “เดลต้า” ประมาณเดือนมิถุนายน มีผู้เชี่ยวชาญของอเมริการายงานว่า สายพันธุ์นี้มีการแพร่กระจายได้เร็ว และมีการคาดการณ์ว่าจะมีการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อเป็น 2 เท่า ภายใน 2 สัปดาห์ เพราะฉะนั้นคร่าว ๆ ตอนนี้เราจะเห็นตัวเลขจากพันขึ้นเป็น 2 พัน และจาก 2 พันเพิ่มขึ้นเป็น 4 พัน

“เราคาดการณ์ไปสัปดาห์หน้า อาจจะขึ้นไปได้ถึง 1 หมื่น (ราย) ตรงนี้ต้องเรียนให้ทุกท่านได้เน้นย้ำมาตรการส่วนตัว และที่สำคัญคือ ลดการเคลื่อนย้าย และเฝ้าระวังผู้สูงอายุ รวมทั้งเน้นย้ำในเรื่องการฉีดวัคซีนด้วย” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าวย้ำ

ส่วนอันดับจังหวัดที่ติดเชื้อ กทม.วันนี้ตัวเลข 1,549 ราย ตามด้วยสมุทรปราการ 548 ราย สมุทรสาคร 434 ราย นครปฐม 266 ราย ชลบุรี 262 ราย ฉะเชิงเทรา 253 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 241 ราย นนทบุรี 235 ราย ปทุมธานี 212 ราย และปัตตานี 190 ราย

กทม. เจอพบคลัสเตอร์ใหม่อีก 2 แห่ง ตจว. 3 แห่ง

สำหรับ กทม.วันนี้มีรายงานพบคลัสเตอร์ใหม่  2 แห่ง คือที่พื้นที่กรุงเทพฯตะวันออก ที่เขตมีนบุรี เป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ มีจำนวนผู้สูงอายุ 38 คน พบติดเชื้อ 6 คน และมีผู้ดูแลอีก 36 คน พบเชื้อ 11 คน

อีกคลัสเตอร์หนึ่งเป็นเขตพื้นที่กรุงเทพฯใต้ อยู่ในเขตบางนา เป็นโรงงานผลิตจิวเวลรี่ (ไม่รายงานยอดคนติดเชื้อ) รวมแล้ว กทม.วันนี้มีคลัสเตอร์ที่เฝ้าระวังอยู่จำนวน 118 แห่ง

วันนี้ กทม.รายงานผู้ป่วยรอเตียง ผู้ป่วยสีแดง ซึ่งถือว่ามีอาการรุนแรง อยู่ประมาณ 40-50 รายต่อวัน สีเหลืองอยู่ที่ 200-300 รายต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอาการเหนื่อยหอบ มีอาการของระบบทางเดินหายใจให้เห็นแล้ว หรืออีกส่วนหนึ่งอาจจะยังไม่มีอาการ แต่เป็นผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น เป็นผู้สูงอายุ หรือ 7 โรคเสี่ยง สีเขียวอยู่ที่ 300-400 รายต่อวัน

โดยการสะสม 2 สัปดาห์ เห็นได้ชัดว่ามีผู้ป่วยทั้งตัวเลขเขียว เหลือง แดง ตัวเลขสะสมช่วงนี้จะสูงขึ้นในระดับ 1 พันราย ขณะที่ศักยภาพการส่งผู้ป่วยรอรักษาของศูนย์เอราวัณ มีประมาณ 500 เที่ยวต่อวัน ซึ่งค่อนข้างจำกัด ซึ่งในที่ประชุมของ ศบค.ชุดเล็กและศูนย์ EOC ของสาธารณสุข ได้มีการพูดมาตรการ 2 ส่วนด้วยกัน

อันแรกคือ การเพิ่มศักยภาพในการขนผู้ป่วย คือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปศูนย์บริการที่จะได้รับการดูแล ให้ความสำคัญของผู้ป่วยเหลืองแดง โดยผู้ป่วยสีแดงจะต้องเข้าระบบทันที เหลืองจะต้องมีระยะเวลาการคอยที่น้อยที่สุด อาจจะ 1 วัน ที่เหลืออาจเป็นผู้ป่วยสีเขียว จะได้รับการจัดสรรไปอยู่ที่ศูนย์พักคอยของ กทม.ในแต่ละเขต

ส่วนต่างจังหวัดวันนี้พบคลัสเตอร์ใหม่ ได้แก่

  • นนทบุรี อ.บางบัวทอง เป็นโรงงานน้ำจิ้ม พบผู้ติดเชื้อ 61 ราย
  • ปทุมธานี อ.คลองหลวง โรงพยาบาลเอกชน พบผู้ติดเชื้อ 10 ราย
  • ตาก อ.แม่สอด โรงงานพืชไร่ พบผู้ติดเชื้อ 33 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (6 ก.ค.) นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ระบุว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยถือเป็นการระบาดระลอก 4 แล้ว

ทั้งยังระบุว่าไวรัสสายพันธุ์เดลต้า มีการติดเชื้ออย่างรวดเร็ว และใช้เวลา 3-5 วันที่ทำให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อมีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการเตียงผู้ป่วยหนักไอซียูเพิ่มขึ้น หากปล่อยไปเรื่อย ๆ ระบบสาธารณสุขจะอยู่ไม่ได้

และคาดว่าในเวลา 1-2 เดือนนี้ ประเทศไทยและทั่วโลก ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจะเป็นสายพันธุ์เดลต้า