สธ. ชง ศบค. ล็อกดาวน์ 14 วัน จำกัดการเดินทาง ปิดสถานที่เสี่ยง

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต

กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ชง ศบค. “ล็อกดาวน์” 14 วัน คุมโควิด-19 จำกัดการเดินทาง ไม่ออกจากเคหสถาน ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด ปิดสถานที่เสี่ยงทั้งหมดที่ไม่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เฉพาะในพื้นที่เสี่ยง กันชน

วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมผู้บริหารกระทรวงแถลงข่าวถึงมาตรการควบคุมการระบาดของโควิดที่จะเสนอให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) พิจารณา

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.

โดย นพ.เกียรติภูมิ เปิดเผยว่า สธ.ได้มีการประชุมทุกวัน เมื่อช่วงเช้าได้มีการประชุมหารือหลายเรื่อง โดยเฉพาะวันนี้มีการรายงานว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงระดับ 7,058 ราย ทำให้มียอดสะสม 280,000 ราย มีอัตราการเสียชีวิต 75 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ยังอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และเริ่มแพร่กระจายออกไปยังต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นตามลำดับ ทำให้ตอนนี้มีประชาชนต้องการขอตรวจหาเชื้อเพิ่มขึ้น

ชง 5 มาตรการ ศบค.ชุดใหญ่

ดังนั้น สธ. จึงได้มีการหารือถึงมาตรการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน โดยมีดังนี้คือ

1.การนำเอาชุดตรวจวัดแบบ Rapid Antigen Test มาใช้งาน เพื่อลดปัญหาการเกิดคอขวดจากการตรวจด้วยวิธี RT-PCR ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะใช้เวลานานกว่าจะทราบผล ตัว Rapid Antigen Test นี้ในช่วงแรกจะอนุญาตให้ใช้ในสถานพยาบาลเป็นหลักก่อน และในระยะต่อไปถึงจะอนุญาตให้นำไปใช้ในกลุ่มประชาชนทั่วไปสำหรับตรวจด้วยตนเองเร็ว ๆ นี้

2.การจัดการระบบกักตัวดูอาการที่บ้าน หรือ Home Isolation สำหรับผู้ป่วยโควิดที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ ซึ่งรวมไปถึงการจัดตั้งระบบ Community Isolation ในชุมชน เพื่อลดปัญหาความแออัดและไม่เพียงพอของเตียงในสถานพยาบาลต่าง ๆ

3.เข้มงวดมาตรการด้านสาธารณสุข สวมหน้ากาก ล้างมือ 4.แผนการฉีดวัคซีน ที่จะต้องเร่งฉีดให้กับพื้นที่เสี่ยง กลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุ และผู้ที่เป็น 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง โดยจะให้โควตาวัคซีนในกลุ่มนี้ไม่ต่ำกว่า 80% ของปริมาณวัคซีนที่มี ซึ่งใน 1-2 สัปดาห์หน้าจะระดมฉีดให้ได้เป็นหลักล้านโดสในกลุ่มนี้

5.มาตรการทางสังคม เป็นมาตรการสำคัญยิ่ง สธ.จะเสนอยกระดับมาตรการทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจำกัดการเดินทาง อยากให้ทุกคนอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ไม่จำเป็นไม่ต้องออกจากบ้าน โดยจะกำหนดเงื่อนไขยกเว้นที่จำเป็น อาทิ การหาซื้ออาหาร หรือสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีวิต การออกไปฉีดวัคซีน เป็นต้น

รวมทั้งจะมีการออกคำสั่งปิดสถานที่เสี่ยงทั้งหมด ซึ่งก็คือสถานที่ที่คนจะทำกิจกรรมร่วมกันจำนวนมาก หรือเป็นสถานที่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน แต่ที่ยังเปิดได้ก็คือ ตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ตจะยังดำเนินต่อไป ก็จะมีการนำเสนอรายละเอียดในลำดับต่อไป

บังคับใช้ “พื้นที่เสี่ยง” อย่างน้อย 14 วัน

อย่างไรก็ตาม มาตรการทั้ง 5 ข้อ ดังกล่าว จะเสนอให้บังคับใช้ในจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่กันชน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน ซึ่งจะเสนอ ศบค.ชุดเล็ก ในวันนี้ (8 ก.ค.) และจะมีการเสนอ ศบค. ชุดใหญ่ลำดับต่อไป

แต่จะเริ่มเมื่อใดต้องรอให้ ศบค. เป็นผู้ประกาศอย่างเป็นทางการ ก็เป็นมาตรการที่สาธารณสุข อยากลดการระบาดในกรุงเทพฯ ปริมณฑล เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เทียบเท่ากับมาตรการที่ดำเนินในช่วง เมษายน 2563

ทางด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า สธ.ได้ประชุมศูนย์ EOC ของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อหารือและจัดทำแนวทางยกระดับมาตรการควบคุมโรคโควิด 19  เพื่อเสนอ ศบค.ชุดใหญ่ ที่จะประชุมในวันที่ 9 กรกฎาคม 2564

โดยได้เตรียมข้อเสนอตามหลักวิชาการทางการแพทย์ และตามสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน อย่างไรก็ตามต้องมีการหารือร่วมจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคเอกชนด้วย

ทางด้านแพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. เปิดเผยว่า สถานที่ที่มีการพูดถึง มีทั้งห้างสรรพสินค้า รวมทั้งกิจการประเภทเดียวกัน และร้านสะดวกซื้อ หรืออาจจะเป็นร้านตลาด ข้าวต้มรอบดึก ก็จะมีการหารือในการกำหนดเวลาปิดกิจการ อีกทั้งในส่วนของการขนส่งสาธารณะ เพื่อลดการเคลื่อนย้ายของประชาชน ก็จะต้องมีการปรับเวลาการให้บริการขนส่งสาธารณะให้สอดคล้องกับมาตรการที่สาธารณสุขเสนอด้วย

“ที่ประชุมเป็นห่วงด้วยว่า การจะลดเวลาต่าง ๆ หรือปรับมาตรการ ก็ต้องคำนึงถึงการคงไว้ซึ่งความจำเป็น ยกตัวอย่างเช่น สาธารณูปโภค อาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ตอาจยังจำเป็นต้องเปิด ตลาด อย่างนี้เป็นต้น หรือแม้กระทั่งร้านขายเครื่องมืออุปกรณ์ช่าง เช่น ถ้ามีการจำกัดเวลาแล้วเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ประชาชนยังต้องได้รับความปลอดภัยด้วย” ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าว และว่า

ที่ประชุมยังมีการหารือไปยังส่วนของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ว่าจะมีการตั้งจุดตรวจเพื่อลดการเคลื่อนย้ายข้ามพื้นที่ มีการเสนอให้ปรับมาตรการเวิร์กฟรอมโฮม ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้สูงสุดด้วย

ยกระดับรพ.สนาม คล้ายกับ รพ.บุษราคัม

สำหรับการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 ใน กทม. กระทรวงสาธารณสุขได้ประสาน กทม. เพื่อที่จะหาวิธีการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหา เช่น การตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจรู้ผลเร็ว (Rapid Antigen Test) ซึ่งที่ประชุม EOC ให้การเห็นชอบ

นอกจากนี้ได้พยายามเพิ่มเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด โดยให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเร่งออกแบบและหาสถานที่ อาทิ อาคารผู้โดยสารแซทเทิลไลท์ (SAT 1) ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งกระทรวงคมนาคมให้การสนับสนุนเพื่อจัดทำโรงพยาบาลสนามยกระดับคล้ายกับโรงพยาบาลบุษราคัม ซึ่งจะทำการจัดตั้งโดยเร็วที่สุด

รวมถึงให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ใช้เครือข่ายรถกู้ภัยเร่งประสานพาผู้ป่วยที่ติดค้างที่บ้านเข้าศูนย์แรกรับนิมิบุตร และส่งต่อรักษาตามอาการ เพื่อแบ่งเบาภาระของกทม.ให้มากที่สุด

ประยุทธ์ เรียกประชุม ศบค.ชุดใหญ่ 9 ก.ค.นี้

ทางด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ว่า ตนเองได้ติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างต่อเนื่องด้วยความไม่สบายใจ และรับรายงานจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินสถานการณ์และความจำเป็นในการใช้แผนเผชิญเหตุ เพื่อกำหนดมาตรการการควบคุมโรคที่จะต้องเกิดขึ้น และส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก แต่หากไม่ดำเนินการ อาจจะส่งผลกระทบให้เกิดความรุนแรงมากกว่านี้

ตนเองในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. จึงได้เรียกประชุม ศบค. ชุดใหญ่ในเช้าวันที่ 9 ก.ค.นี้ เพื่อพิจารณามาตรการที่ฝ่ายต่าง ๆ ได้เสนอเข้ามา และจะแจ้งผลการพิจารณาให้ทราบโดยทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 เวลา 10.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ ผอ.ศบค. ได้เรียกประชุม ศบค.ด่วน ครั้งที่ 9/2564 โดยจะเป็นการประชุมแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อพิจารณามาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 4


ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวเลื่อนขึ้นมาเร็วขึ้นจากเดิมที่จะประชุมกันในวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 หลังจากวานนี้(8 ก.ค.) ยอดผู้ติดเชื้อโควิดและเสียชีวิตทำสถิติสูงสุด คือป่วยเพิ่มขึ้น 7,058 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 75 ราย