แพทย์แนะอย่าด่วนผ่าตัด ‘ข้อเสื่อม’ ใช้วิธีชะลออาการก่อนตัดสินใจ

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า โรงพยาบาล (รพ.) เลิดสิน เล็งเห็นถึงความสำคัญของโรคข้อเข่าเสื่อมเป็นอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันโรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคข้อเรื้อรังที่พบบ่อยที่สุด และพบได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง ซึ่งโรคดังกล่าวเป็นต้นเหตุอันดับ 4 ที่ทำให้เพศหญิงพิการ และเป็นอันดับ 8 ที่ทำให้เพศชายพิการ ทั้งนี้ อาการของโรคมักเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไป การรักษาอาจเริ่มจากการลดน้ำหนัก การไม่งอพับเข่ามาก การบริหารเข่าตามที่แพทย์แนะนำ และการใช้ยาแก้ปวดร่วมกับยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่ยาสเตียรอยด์ ถ้าการรักษาด้วยวิธีเหล่านี้ไม่ได้ผล อาจจำเป็นต้องรักษาโดยวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่ได้ผลดี แต่ควรผ่าตัดเพื่อแก้ไขเฉพาะเมื่อข้อต่อเสียหายอย่างรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยวิธีอื่นๆ แล้วเท่านั้น

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์

นพ.สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กล่าวว่า โดยส่วนใหญ่ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมจะทำในผู้ป่วยอายุ 60-80 ปี การพิจารณาผ่าตัดจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป ขึ้นอยู่กับอาการ และความรุนแรงของโรค ทั้งนี้ จะต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้วเท่านั้น สำหรับในรายที่ยังมีอาการไม่มาก สามารถรักษาได้โดยการไม่ใช้ยา โดยควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน หลีกเลี่ยงการงอเข่ามากเกินไป หลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันได หลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งในท่าเดียวนานๆ บริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า ซึ่งจะช่วยลดอาการปวด ทำให้ข้อเคลื่อนไหวและกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าแข็งแรงขึ้น

นพ.สมพงษ์ กล่าวต่อไปว่า หากแพทย์พิจารณาแล้วว่าผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ควรเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดดังนี้ ผู้ป่วยควรตรวจร่างกายทั่วไปโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อดูความพร้อมก่อนการผ่าตัด บริหารกล้ามเนื้อและข้อให้แข็งแรง เพื่อช่วยให้ผลของการผ่าตัดดี และสามารถเดินได้เป็นปกติโดยเร็ว ผู้ป่วยที่รับประทานยาประจำตัวต้องแจ้งให้แพทย์รับทราบด้วย เพราะยาบางชนิดต้องหยุดรับประทานอย่างน้อย 7-10 วัน ก่อนการผ่าตัด และควรจัดสถานที่พักฟื้นในระยะแรกหลังการผ่าตัดให้อยู่ในสถานที่ที่สะดวกมากที่สุด

 


ที่มา  มติชนออนไลน์