รู้จัก Long covid หายป่วยโควิดแล้วยังมีอาการเรื้อรัง ควรทำอย่างไร ?

รู้จัก
ภาพจาก pixabay

รู้จักภาวะ long covid อาการเรื้อรังในผู้ติดเชื้อโควิดที่รักษาหายแล้ว

วันที่ 5 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พญ.อรกมล อินกองงาม แพทย์ประจำศูนย์ Wellness โรงพยาบาลไทยนครินทร์ ให้ความรู้เรื่องภาวะ “ลองโควิด” (LONG COVID) ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 รักษาหายแล้ว ระบุว่า เมื่อติดเชื้อโควิด-19 แต่ละคนย่อมมีความรุนแรงของโรคตอนแสดงอาการแตกต่างกันไป เช่นเดียวกับเมื่อหายจากการติดเชื้อ แต่ละคนก็จะมีการฟื้นฟูร่างกายที่ต่างกัน

บางคนหายจากการติดเชื้อแล้วก็กลับมาเป็นปกติเลย แต่บางคนแม้ว่าตอนติดเชื้อจะเป็นไม่หนัก แต่กลับรู้สึกว่าตัวเองไม่กลับสู่ภาวะสุขภาพที่เคยแข็งแรงตามปกติเสียที ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนแล้วก็ตาม ความรู้สึกนี้เอง เป็นหนึ่งในอาการของ “ลองโควิด” ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาแบบผู้ป่วยนอกประมาณ 35% และในผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องรักษาแบบผู้ป่วยในมากถึง 87%

อาการลองโควิด

พญ.อรกมลกล่าวอีกว่า ลองโควิดหรือ POST-COVID SYNDROME อาจมีอาการคล้าย ๆ เดิมที่เคยเป็นตอนที่ติดเชื้อโควิด-19  หรืออาจจะเป็นอาการใหม่ ที่ไม่เคยเป็นตอนที่ติดเชื้อเลย แน่นอนว่าผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักต้องนอนโรงพยาบาลนาน ๆ อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวมากกว่า แต่อาการ “ลองโควิด” นี้ ยังสามารถเกิดได้ในผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อย หรือแทบไม่มีอาการเลยก็ได้ โดยอาการที่เกิดขึ้นนั้นอาจยาวนานได้ถึง 3 เดือนขึ้นไป โดยอาการที่พบมักมีดังนี้

  • อ่อนเพลียเรื้อรัง เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
  • ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม รู้สึกแน่น ๆ หน้าอก
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ สมองไม่สดชื่น ความจำไม่ดีเหมือนเดิม
  • ปวดตามข้อ รู้สึกจี๊ด ๆ ตามเนื้อตัว หรือปลายมือปลายเท้า
  • รู้สึกเหมือนยังมีไข้อยู่ตลอด
  • มีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล หรือมีผลกระทบทางจิตใจหลังเผชิญสถานการณ์รุนแรง (Post-Traumatic Stress Disorder)

สาเหตุของภาวะลองโควิด

เพราะการติดเชื้อโควิด-19 นั้น จะนำไปสู่กลไกการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและเกิดการอักเสบในร่างกาย เมื่อร่างกายของผู้ป่วยสามารถกำจัดเชื้อโรคแล้ว ไม่ว่าจะกำจัดได้เอง หรือต้องอาศัยยาต้านไวรัสช่วยก็ตาม แต่ภูมิคุ้มกันและการอักเสบอาจจะยังไม่เข้าที่เข้าทาง ประกอบกับภาวะทางร่างกายอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนหลังจากได้รับยากดภูมิเป็นเวลานาน

ผลข้างเคียงที่ได้รับจากยาที่จำเป็นต้องใช้รักษา ความเครียดทั้งทางกายทางใจที่ต้องเผชิญระหว่างเจ็บป่วย และยังอาจจะต้องเผชิญต่อไปหลังจากหายป่วยกลับมาบ้านได้แล้ว ทุกอย่างเหล่านี้เมื่อรวมกันแล้วก็ส่งผลให้การติดเชื้อโควิด-19 ไม่ได้หายเป็นปลิดทิ้งอย่างที่ควรเป็น

เมื่อหายจากโควิดแล้วควรทำอย่างไร ?

แม้จะหายดีกลับบ้านได้แล้ว ถ้าหากเกิดมีอาการผิดปกติชัดเจน เช่น ไข้สูง ไอมาก หอบเหนื่อย เจ็บแน่นหน้าอก หน้ามืดเป็นลม แขนขาอ่อนแรง ควรมาตรวจแยกโรคก่อนว่ามีภาวะเร่งด่วนที่ต้องดูแลรักษาทันทีหรือไม่ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย มีลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ หรือว่าอาจเป็นโรคที่เกิดขึ้นใหม่ไม่เกี่ยวกับโควิด-19 เลยก็ได้

ผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบรุนแรง ต้องได้รับยาต้านไวรัส นอนโรงพยาบาลนาน ๆ ต้องได้รับออกซิเจน หรือใช้เครื่องช่วยหายใจ ควรได้รับการดูแลต่อเนื่องจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินหายใจร่วมกับทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟู

ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหรือเพิ่งตรวจพบโรคประจำตัวใหม่ตอนเข้ารับการรักษาโควิด-19 เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ ก็ควรกลับเข้ามารับการประเมินสุขภาพให้ครบถ้วนอีกครั้งหนึ่ง และควรรับการรักษาโรคประจำตัวนั้นอย่างต่อเนื่อง

ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง หรือมีอาการเล็กน้อย เมื่อหายจากการติดเชื้อแล้วควรสังเกตอาการของตนเอง หากรู้สึกว่าร่างกายยังอ่อนเพลีย ฟื้นตัวได้ไม่เท่าเดิม อาจจะลองมาตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อเช็กผลเลือด เอกซเรย์ปอด ค่าตับ ค่าไต ค่าสารอักเสบต่าง ๆ รวมถึงระดับวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย

เพื่อวางแผนในการดูแลและฟื้นฟูตัวเองให้ร่างกายกลับมามีประสิทธิภาพดังเดิม ทำให้ร่างกายแข็งแรงยิ่งขึ้น ลดโอกาสป่วยง่ายและติดเชื้อซ้ำ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ออกกำลังกาย และอาจพิจารณาวิตามินเสริม ถ้าหากประเมินแล้วว่าอาจได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ

ผู้ป่วยที่มีความเครียด อ่อนล้า ปัญหาเรื่องการนอนที่สะสมมาตั้งแต่ตอนที่ติดเชื้อ สามารถติดต่อพูดคุยกับจิตแพทย์เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจให้ค่อย ๆ กลับมาดีดังเดิมได้

หลังจากติดเชื้อโควิด-19 ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานต่อไวรัสโควิด-19 ขึ้นมา โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก ทำให้โอกาสติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำมีน้อยมาก แต่ภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นโดยธรรมชาตินี้ ก็จะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ ตามเวลาที่ผ่านไป ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 อย่างครบถ้วน วางแผนในการรับวัคซีนให้ครบหลังจากติดเชื้อแล้ว 3 เดือน

โดยปัจจุบันสามารถตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19 หลังจากการติดเชื้อหรือฉีดวัคซีนได้แล้ว แม้จะยังไม่มีข้อตกลงถึงค่าที่ชัดเจนว่า ต้องสูงแค่ไหนถึงจะป้องกันการติดเชื้อได้จริง และค่าที่สูงก็ไม่อาจการันตีได้ว่าจะไม่ติดเชื้อซ้ำ แต่ก็อาจบอกแนวโน้มของการสร้างระดับภูมิคุ้มกันได้ในผู้ที่ต้องการทราบค่าภูมิคุ้นกันต่อโควิด-19 ของตนเอง

ทั้งนี้ ยังกล่าวต่อว่า อาการลองโควิด เป็นผลจากความผิดปกติภายในร่างกาย เนื่องจากร่างกายยังฟื้นฟูไม่เต็มที่ ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดจึงควรให้ความสำคัญกับการสังเกตอาการตนเอง พบแพทย์เพื่อประเมินสภาพร่างกาย และวางแผนการฟื้นฟูที่ถูกต้อง เนื่องจากอาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ระยะยาวและส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างรุนแรง รวมถึงปล่อยนานเกินไป อาจเป็นอันตรายได้

กลุ่มเสี่ยงเกิดภาวะลองโควิด

เว็บไซต์ โรงพยาบาลพญาไท เปิดเผยว่า จากผลการติดตามผู้ป่วยโควิด-19 ในเมืองเลสเตอร์ จำนวนกว่า 1,000 ราย พบว่า โอกาสเกิดภาวะลองโควิดจะเพิ่มสูงขึ้นในผู้ป่วยหญิงอายุ 40-60 ปี ที่มีโรคประจำตัว อย่างโรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคหอบหืด และโรคเบาหวานชนิดที่ 2

ในขณะที่ตัวเลขสถิติจาก The COVID Symptom Study app พบว่า ภาวะลองโควิดสามารถส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยที่มีอายุ 18-49 ปี ได้ประมาณ 10% และเพิ่มสูงถึง 22% ในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 70 ปี และยังพบความเชื่อมโยงของความเสี่ยงที่สูงขึ้นในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว อย่างโรคหอบหืดอีกด้วย

สำหรับกลุ่มเสี่ยงในการเกิดภาวะลองโควิดนั้น ยังถือว่าเป็นเพียงการศึกษาวิจัยในระยะต้น ตัวเลขอายุ…ประเภทของโรคประจำตัว จึงอาจยังไม่ใช่คำตอบที่ยืนยันกลุ่มเสี่ยงได้เฉพาะเจาะจง และในขณะเดียวกัน ผู้ป่วยที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงสูงในผลการศึกษา ก็อาจมีโอกาสเผชิญกับภาวะลองโควิดนี้ได้

ส่งผลต่อระบบไต

วานนี้ (5 ก.ย.) นายแพทย์อนุตตร จิตตินันท์ ได้เปิดเผยข้อมูลการทำงานของระบบไตในผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายแล้ว ผ่านทางเฟซบุ๊ก Anutra Chittinandana ระบุว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายป่วยแล้ว ควรติดตามการทำงานของไตอย่างต่อเนื่องนะครับ

มีรายงานก่อนการตีพิมพ์ (ahead of print) ข้อมูลที่น่าสนใจเรื่องผลกระทบต่อไตในผู้ป่วยโควิด-19 ระยะยาว (Kidney Outcomes in Long COVID) ลงใน Journal of the American Society of Nephrology เป็นการศึกษาเปรียบเทียบทหารผ่านศึกอเมริกันที่รอดชีวิตจากโควิด-19 จำนวน 89,216 ราย เปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่เป็นโควิด-19 จำนวน 1,637,467 ราย ติดตามไป 6 เดือน

พบว่าการเกิดไตบาดเจ็บเฉียบพลัน (Acute Kidney Injury, AKI), การลดลงของอัตราการกรองของไต (eGFR decline), โรคไตระยะสุดท้าย (End Stage Kidney Disease, ESKD) และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์สำคัญต่อไต (Major Adverse Kidney Events, MAKE) ซึ่งหมายถึง การลดลงของอัตราการกรองของไตมากกว่า 50% หรือ ESKD หรือเสียชีวิต เพิ่มขึ้นในผู้ป่วยที่หายป่วยจากโควิด-19 โดยเฉพาะผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลและนอน ICU และเพิ่มขึ้นมากในผู้ป่วยที่มีปัญหา AKI ขณะที่ป่วยเป็นโควิด-19

อัตราการกรองของไตที่ลดลงในช่วง 30 วัน ในผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่ได้นอน รพ. -3.26 (-3.58, -2.94), นอน รพ. -5.20 (-6.24, -4.16) และนอนใน ICU -7.69 (-8.27, -7.12) mL/min/1.73sq.m. เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นโควิด-19

อาการอาจยาวนานถึงหนึ่งปี

วันที่ 28 สิงหาคม 2564 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยงานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ The Lancet ซึ่งวิจัยเรื่องภาวะเรื้อรังหลังติดเชื้อโควิดผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า อัพเดตเรื่อง “Long COVID”

มีการศึกษาระยะยาว 12 เดือน ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ The Lancet วันที่ 28 สิงหาคม 2021
ติดตามผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ในประเทศจีน จำนวน 1,276 คน โดยทำการสอบถาม ตรวจร่างกาย และตรวจทางห้องปฏิบัติการ ณ 6 เดือน และ 12 เดือน และทำการเปรียบเทียบกับกลุ่มคนปกติที่ไม่ได้เป็นโควิด-19
อายุเฉลี่ย 59 ปี (ค่ามัธยฐาน) โดยมีตั้งแต่อายุ 49-67 ปี เพศชายมากกว่าหญิงเล็กน้อย (53% vs 47%)
ณ 6 เดือน มีคนที่ยังมีอาการคงค้างอย่างน้อย 1 อย่าง สูงถึง 68% และยังคงมีอาการคงค้างอยู่ ณ 12 เดือน ถึง 49%

แม้จะติดตามไปถึง 12 เดือน ก็ยังพบว่า มีคนที่มีอาการเหนื่อยหรือหายใจลำบากกว่าปกติ สูงถึง 30% และมีอาการเครียดหรือซึมเศร้าราวหนึ่งในสี่

ทั้งนี้ คนที่เคยป่วยระดับปานกลาง แม้รักษาหายแล้ว ก็พบว่ามีคนที่ยังคงมีปัญหาผิดปกติเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนออกซิเจนของปอด มากถึง 30% ในขณะที่หากเคยป่วยวิกฤต จะพบได้ถึง 54% เพศหญิงจะมีโอกาสที่มีอาการคงค้างประเภทอ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง เครียด ซึมเศร้า และความผิดปกติเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนออกซิเจนของปอด มากกว่าเพศชาย ตั้งแต่ 1.43-2.97 เท่า

งานวิจัยข้างต้น ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาระยะยาวของการติดเชื้อโรคโควิด-19 ว่า พบได้บ่อยถึงราวครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย และอาการคงค้างนั้นยาวนานไปเป็นปี และอาจนานกว่านั้นหากมีการติดตามต่อไป
สอดคล้องกับในสหราชอาณาจักร ซึ่งมีการสำรวจเมื่อ 4 กรกฎาคม 2021 ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ป่วยโควิดที่มีอาการคงค้างอย่างน้อย 945,000 คน โดยเป็นเด็กอายุ 2-16 ปี ราว 34,000 คน

ทั้งยังพบอาการทางจิตเวช เครียด ซึมเศร้า, ระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ฯลฯ สำหรับไทยเรา สถานการณ์การระบาดที่รุนแรง จนมีจำนวนติดเชื้อกว่าล้านคน ตายไปกว่าหมื่นคน คาดว่าจะมีจำนวนคนที่มีอาการคงค้าง หรือ Long COVID จำนวนมาก ที่กำลังประสบภาวะนี้ ระบบสาธารณสุขของประเทศจำเป็นต้องมีการจัดระบบบริการดูแลรักษา และติดตามประเมินในระยะยาว เพราะเรื่องนี้ย่อมบั่นทอนสถานะสุขภาพของประชาชน และส่งผลต่อผลิตภาพโดยรวมของประเทศ

ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ลดโอกาสเสี่ยง

วันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา King’s College London เปิดเผยงานวิจัยว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิดครบ นอกจากจะช่วยลดโอกาสติดเชื้อและความรุนแรงของโรค อีกทั้งยังลดโอกาสเกิดภาวะลองโควิดได้เกือบ 50% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet Infectious Diseases พบว่า ในกรณีที่ไม่น่าจะติดเชื้อโควิด-19 หลังจากฉีดวัคซีนซ้ำ 2 ครั้ง ความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระยะยาวลดลงเกือบครึ่ง นอกจากนี้ยังมีการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลน้อยลง (มีโอกาสน้อยกว่า 73%) และมีอาการเฉียบพลันลดลง (31%) ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบถ้วน

นักวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมมาจากแอปพลิเคชั่น UK Zoe Covid Study ซึ่งติดตามอาการ การฉีดวัคซีน และการตรวจหาเชื้อโควิดที่ประชาชนรายงานเข้ามาระหว่างเดือนธันวาคม 2020 ถึง เดือนกรกฎาคม 2021 แอปนี้ได้ติดตามข้อมูลสุขภาพของผู้ใหญ่มากกว่า 1.2 ล้านคน ที่ได้รับเชื้อโควิด 1 ครั้ง และ 971,504 คน ที่ได้รับเชื้อโควิด 2 ครั้งในช่วงเวลาดังกล่าว

พบว่า จากจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับวัคซีนต้านครบถ้วนแล้ว 592 คน และให้ข้อมูลต่อเนื่องนานกว่า 1 เดือน มีผู้ที่มีอาการ Long covid จำนวน 31 คนหรือคิดเป็น 5% ส่วนผู้ป่วยที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนต้านโควิดเลย มีอาการ Long covid ประมาณ 11% ขณะที่ผู้ป่วยโควิด ที่มีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย ก็สามารถมีอาการ Long covid ได้เช่นกัน

ดร.แคลร์ สตีฟ หัวหน้าทีมวิจัย ระบุว่า หากมองในแง่ของภาระที่ผู้ป่วยต้องดูแลตัวเองจากอาการ Long covid ผลการศึกษานี้เป็นข่าวดี ที่พบว่าการฉีดวัคซีน 2 เข็ม สามารถลดความเสี่ยงการเกิด Long covid ได้

กระทบความจำ-เหนื่อยล้า

วันที่ 17 มกราคม 2565 รศ.นพ.ธีระ ได้กล่าวถึงอาการ Long COVID ระบุว่า งานวิจัยล่าสุดโดย Ceban F และคณะ ทำการทบทวนข้อมูลวิชาการอย่างเป็นระบบ และวิเคราะห์อภิมานเพื่อตอบคำถามว่า คนที่ป่วยเป็นโควิด-19 แล้วมีอาการคงค้าง หรือ Long COVID นั้น จะมีอาการเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย (fatique) และมีปัญหาด้านความจำ (cognitive impairment) มากน้อยเพียงใด ? และนานเพียงใด ?

ผลการศึกษาจากงานวิจัยกว่า 80 ชิ้น พบว่า คนที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 จะมีโอกาสเป็น Long COVID โดยมีอาการเหนื่อยล้าอ่อนเพลียได้ถึง 1 ใน 3 และมีปัญหาด้านความจำ ราว 1 ใน 5 ผู้หญิงพบอาการ Long COVID ดังกล่าว มากกว่าผู้ชายราว 1.5 เท่า ผู้ใหญ่พบอาการ Long COVID ดังกล่าว มากกว่าเด็ก 3 เท่า

ผู้ป่วยที่มีอาการ Long COVID ดังกล่าว 1 ใน 3 มีอาการที่ติดตามน้อยกว่า 6 เดือน อีก 1 ใน 3 ก็พบได้ยาวนานกว่า 6 เดือน โดยยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด เนื่องจากข้อจำกัดในการติดตามผลของแต่ละงานวิจัย

ที่สำคัญคือ อาการ Long COVID นั้น พบว่าเกิดได้ในคนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ทั้งที่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล (non-hospitalized) และที่ป่วยจนต้องรักษาในโรงพยาบาล (hospitalized)

ทั้งนี้ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ทีมวิจัยทบทวนบ่งชี้ว่า มีการตรวจพบสารเคมีในเลือด ที่บ่งถึงกระบวนการอักเสบอย่างต่อเนื่องในกลุ่มคนที่เป็น Long COVID ซึ่งน่าจะมีส่วนอธิบายอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น และอาจสะท้อนถึงโอกาสที่จะทำให้เกิดปัญหาในระบบต่าง ๆ ของร่างกายในระยะยาวได้

ด้วยข้อมูลวิชาการที่มีในปัจจุบัน ย้ำว่า ควรป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ใส่หน้ากากเสมอสองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า เลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี งดปาร์ตี้สังสรรค์กับคนอื่น พบคนน้อยลงสั้นลง อยู่ห่าง ๆ

หากไม่สบายคล้ายหวัด เจ็บคอ ไอ ไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อ ควรรีบตรวจหาโควิดด้วย


“ไม่ติดเชื้อ ย่อมดีที่สุด”