ที่ปรึกษา ศบค.ชี้โควิดเป็น “ขาขึ้นใหม่” ไทยมี “ติดเชื้อแฝง” 7 ล้านคน

นายแพทย์อุดม คชินทร
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร

นายแพทย์อุดม คชินทร ที่ปรึกษา ศบค. ชี้แนวโน้มสถานการณ์โควิดของโลกและไทยกำลังเป็นขาขึ้นใหม่ เหตุสายพันธุ์เดลต้าระบาดรุนแรง ยกตัวอย่างสหรัฐ อิสราเอลและสิงคโปร์ที่กลับมาระบาดรอบใหม่ เชื่อในไทยมียอด “ติดเชื้อแฝง” อาจถึง 7 ล้านคน เฉพาะ กทม. 1.5 ล้านคน แต่ยังต้องเร่งฉีดวัคซีนเพื่อลดการป่วยหนัก-เสียชีวิต  รับไม่มีทางทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ ต้องปรับตัววิถีใหม่อยู่ร่วมกับโรคให้ได้ รวมถึงต้องสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจด้วย

วันที่ 8 กันยายน 2564 ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวในรายการ NBT รวมใจสู้ภัยโควิด-19 @ทำเนียบรัฐบาล ช่วงหนึ่งว่า สถานการณ์ขณะนี้ถ้าดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1.4–1.5 หมื่นรายต่อวัน ขณะที่ปี 2563 แค่หลักพันก็เต็มที่

ชี้สถานการณ์โควิดเป็น “ขาขึ้นใหม่”

แต่ปัจจุบันแนวโน้มสถานการณ์ของโลกและไทยเป็น “ขาขึ้นใหม่”  เหตุผลมาจาก 2 ปัจจัยคือ โควิด-19 สายพันธุ์เดลต้ากระจายได้รวดเร็วมากและรุนแรง ทั่วโลกประมาณ 80-90% ของไทย 91% ที่เป็นเชื้อสายพันธุ์เดลต้า

“ตอนนี้เชื้อไปทุกที่ กระจายเร็ว รุนแรง ระบาดในคนใกล้ชิด ในครอบครัว สถานที่ทำงาน และในชุมชน”

NBT สู้โควิด

เปิดผลศึกษา สธ. คาดในไทยมีผู้ป่วยแฝง 6-7 ล้านคน

นายแพทย์อุดมกล่าวว่า มีการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าการระบาดปัจจุบันสอดคล้องกับที่อู่ฮั่นระบาด คนที่ไม่อาการและไม่เคยไปตรวจโควิด-19 เมื่อไปตรวจพบว่าเป็นโควิด-19 อีกประมาณ 5-6 เท่าของตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดที่ได้รับการยืนยัน

“ยกตัวอย่างในปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยืนยันใน กทม.ประมาณ 2.5 แสนคน เอา 6 เท่าคูณ หรืออีกราว 1.5 ล้านคน ซึ่งเรียกว่าติดเชื้อแฝง ไม่เคยไปตรวจ ไม่รู้ ไม่มีอาการด้วย กรุงเทพฯไม่ใช่แค่วันละ 4-5 พันคน เหมือนตัวเลขที่เห็นในปัจจุบัน ตอนนี้เลขผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมทะลุไป 1.2 ล้านคน ถ้าเอา 5-6 เท่าคูณ จะมีคนติดเชื้ออยู่ประมาณ 6-7 ล้านคนที่แฝงอยู่ และเขาแพร่เชื้อมาให้เราได้ นี่เป็นเหตุผลอันหนึ่งหนึ่งที่ทำให้มีการติดเชื้อจากคนใกล้ชิด คนในครอบครัว แม้ว่าจะสนิทแค่ไหนก็ไว้ใจไม่ได้เลย” นายแพทย์อุดมกล่าว

ชี้ฉีดวัคซีนป้องกันไม่ได้ แต่ลดป่วยหนัก-เสียชีวิตได้

นายแพทย์อุดมกล่าวว่า อีกเหตุผลหนึ่ง ตอนนี้มีข้อมูลชัดเจนว่า การฉีดวัคซีนเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมการระบาดของโรค ตอนนี้แม้บอกว่ามีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพที่ดีที่สุด mRNA อย่างไฟเซอร์ เช่น ในสหรัฐอเมริกา อิสราเอล สิงคโปร์ ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 100% ครบสองเข็ม ถึง 60-70% ทั้งประเทศ ตอนนี้กลับมาติดเชื้อใหม่กันเต็มไปหมด

“ดังนั้นประชาชนจึงต้องทำความเข้าใจว่า วัคซีนตอนนี้ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ กันได้สัก 50-60% แต่วัคซีนจะป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง ไม่ให้เข้าโรงพยาบาล ไม่ต้องเข้าไอซียู ไม่เสียชีวิต วัคซีนทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ ประมาณ 90-100% เหมือนกัน อันนี้ยืนยัน ตัวเลขทั่วโลกเหมือนกัน นี่คือประโยชน์ของวัคซีน” นายแพทย์อุดมกล่าวย้ำ

เพราะฉะนั้นแม้จะบอกว่า วัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ ไม่เป็นไร แต่ประโยชน์ของวัคซีนจะป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง ป้องกันไม่ให้เข้าโรงพยาบาล ไปฉีดเถอะ ขอให้ฉีดให้เร็วที่สุด อย่างน้อยถ้าเผลอได้รับเชื้อมา อาการจะไม่รุนแรง ไม่ตาย และยังเป็นการช่วยปกป้องระบบสาธารณสุขของเราไม่ให้รับภาระเกินไป

“ตอนนี้แพทย์ พยาบาลเหนื่อยมาก เราหลังแอ่นมาก เตียงก็ไม่พอ ตอนนี้เราเริ่มผ่อน เตียงเขียว เตียงเหลืองเริ่มว่าง เรามาทำ Home Isolation เป็นแสนคน แต่เตียงสีแดงยังล้นอยู่ ยังแน่นอยู่ ที่เราเห็นยังตายวันละกว่า 200 คนอยู่”

สร้างสมดุลสุขภาพกับเศรษฐกิจ ดับฝันเป็นศูนย์

จะเห็นได้ว่าทั่วโลกกราฟยังขึ้นอยู่ ติดเชื้อวันละ 5-6 แสนรายต่อวัน แต่ตายน้อยลง อย่างประเทศอังกฤษที่มีการติดเชื้อสูง แต่ผู้เสียชีวิตน้อย เพราะเขาฉีดกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ และโรคร่วมไปกว่า 90% แล้ว ตอนนี้เราจึงจะคิดแบบเดิมไม่ได้แล้ว จะมานั่งล็อกดาวน์มันก็ไม่ไหว เศรษฐกิจไม่ไหว ต้องยอมรับ ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนหนึ่งเสียหายเป็นแสนล้าน เราต้องมาปรับใจใหม่ นั่นเป็นเหตุผลที่ ศบค.ยอมผ่อนปรนทั้งที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเป็นหมื่น

“เราดูอยู่แล้วว่าอย่างไรก็ไม่มีทางลง ขนาดใช้มาตรการเต็มที่ยังลงได้นิดเดียว ดังนั้นเรามาชั่งน้ำหนัก สมดุลระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจ ถ้าเข้มเรื่องสุขภาพมากเศรษฐกิจก็เสีย ถ้าปล่อยเศรษฐกิจเสรีเลยสุขภาพก็จะแย่ คนจะตายเยอะ เราก็รับไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้มีความสมดุล จึงผ่อนปรนโดยมีเงื่อนไขคือ ทุกคน ทุกองค์กรต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด”

นายแพทย์อุดมกล่าวต่อว่า เป้าหมายของการควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ต้องเปลี่ยนไปจากเดิมที่ต้องทำให้ตัวเลขเป็นศูนย์ ผมบอกได้เลยไม่มีทางเป็นศูนย์แน่นอน ภายในเดือน ธ.ค.ไม่มีทางเป็นศูนย์แน่นอน ต้องทำใจ แต่เป้าหมายเราจะให้มันน้อยลง ปรับตัวอยู่กับมันได้ ให้ดำเนินชีวิตได้อย่างปกติในชีวิตวิถีใหม่ นี่คือเป้าหมายที่หนึ่ง

ส่วนเป้าหมายที่สองคือ ฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ให้มีความสมดุลกับสุขภาพ

เป้าหมายเปิดประเทศให้ได้-ระดมฉีดวัคซีน

เป้าหมายที่สามคือ นายกฯต้องการเปิดประเทศให้ได้ ต้องการให้ทุกคนมาทำกิจกรรมร่วมกัน สามารถให้เกิดเป็นวงกว้างได้ คำว่าเปิดประเทศ ไม่ได้หมายถึงให้ต่างประเทศเข้ามาอย่างเดียว แต่เราต้องการเปิดประเทศให้คนไทยได้ไปเที่ยว เดินทางได้ ไปนั่งกินในร้านอาหารได้ ไปภูเก็ตได้ ไปเชียงใหม่ได้ โดยการให้คนไทยทุกคนออกไปใช้ชีวิตได้ ให้เราทำกิจกรรมได้ กลับไปเยี่ยมพ่อแม่ที่บ้านได้ ขณะเดียวกันให้ต่างชาติมาเที่ยวที่บ้านเราได้ เพราะเป็นรายได้หลักของเรา นี่คือการเปิดประเทศ

ส่วนเรื่องวัคซีนที่จะเข้ามา นายแพทย์อุดมกล่าวว่า หลังจากนี้เราจะได้วัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ที่เดิมจะตัดยอดให้เราเดือนละ 5-6 ล้านโดส เดือน ก.ย.เขาเพิ่มให้เรา 7.3 ล้านโดส เดือน ต.ค. 11 ล้านโดส พ.ย. 13 ล้านโดส ธ.ค. 13 ล้านโดส นอกจากนี้ วันที่ 29 ก.ย.จะได้ไฟเซอร์ 2 ล้านโดส ต.ค.อีก 8 ล้านโดส พ.ย. 10 ล้านโดส ธ.ค. 10 ล้านโดส รวม 30 ล้านโดส

“ดังนั้น 3 เดือนข้างหน้าเราจะมีวัคซีนเดือนละ 20 ล้านโดสเลย เราจะจะเร่งฉีด ไม่ต้องกังวลศักยภาพการฉีด เราสามารถฉีดวันละ 8-9 แสนโดสสบาย ๆ” นายแพทย์อุดมกล่าวและว่า

ชี้วัคซีนฉีดไป 3 เดือน ภูมิตกทุกตัว

“ยืนยันถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเรื่องการส่งวัคซีนภายในเดือน ธ.ค.เราจะฉีดวัคซีนสองเข็มได้ตามเป้า มากกว่า 70% ของประชากรแน่นอน และจะฉีดเข็มที่สามได้ด้วย ตอนนี้วัคซีนเพียงพอสำหรับเข็มที่สาม เพราะหลังจากเราติดตามพบว่า วัคซีนทุกตัว ย้ำทุกตัว ทั้งซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ เมื่อฉีดไปแล้ว 3 เดือน ภูมิมันตกทุกตัว

“ถ้าภูมิมันตกไปมากจะสู้กับไวรัสสายพันธุ์เดลต้าไม่ไหว เราต้องสร้างภูมิให้มากขึ้นด้วยการฉีดเข็มที่สาม โดยตั้งแต่เดือน ต.ค.เป็นต้นไปเราจะได้เข็มที่สาม เป็นแอสตร้าเซนเนก้าและไฟเซอร์ เราวางแผนไว้เรียบร้อย”

เพราะฉะนั้นอย่าไปกังวลเรื่องวัคซีน วัคซีนทุกตัวที่เราได้มาได้ประโยชน์แน่นอน อย่าไปด้อยค่าซิโนแวค ล่าสุดซิโนแวคเพิ่งมีข้อมูลออกมาวานนี้ของจีนว่า ในคนไข้ 4,000 ราย ที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า สามารถป้องกันการติดเชื้อรุนแรงได้ถึง 88% คือไม่ต้องเข้ารพ. ไม่ต้องเข้าไอซียู 88%

“ดังนั้นวัคซีนจะเป็นกลยุทธ์หลักของปีนี้ ต้องฉีดให้ได้มากที่สุด และต่อจากนี้ไปเราจะต้องอยู่กับไวรัสโควิดให้ได้ โดยเน้นเรื่องมาตรการป้องกันแบบครอบจักรวาล Univerval Prevention เป็นมาตรการในการอยู่ร่วมกับสังคม ขององค์กร โดยต้องระมัดระวังตนเองแบบสูงสุด ทุกอย่าง ทุกที่ ทุกเวลา และของทุกคน แม้จะไม่มีความเสี่ยงก็ตาม” นายแพทย์อุดมกล่าว