พืชกระท่อม “เคี้ยว-ต้ม” อย่างไรให้ปลอดภัย อาจารย์หมอ มธ.แนะ

ใบกระท่อม
Photo : Louis Anderson / AFP

อาจารย์คณะแพทย์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผย “พืชกระท่อม” เป็นดาบสองคม ห่วงกินเกินขนาดเกิดผลข้างเคียง แนะเคี้ยว-ต้ม ไม่เกินวันละ 5 ใบ 

วันที่ 14 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2564 ประกาศยกเลิก “พืชกระท่อม” ออกจากยาเสพติดให้โทษ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด ที่เฟซบุ๊กเพจด้านสาธารณสุข The Coverage เผยแพร่ข้อมูล จาก รศ.ดร.อรุณพร อิฐรัตน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เจ้าของรางวัล “เสม อวอร์ด 2562” ประเภทการวิจัยและส่งเสริมการใช้สมุนไพรในชุมชน มูลนิธิหมอเสม พริ้งพวงแก้ว ที่ได้อธิบายถึงการบริโภคพืชกระท่อมอย่างถูกวิธี และไม่เกิดอันตราย

พืชกระท่อม กินเกินขนาดเกิดผลข้างเคียง

รศ.ดร.อรุณพร กล่าวว่า ความจริงแล้วกระท่อมเป็นยา ไม่ใช่อาหาร แต่หากบริโภคเกินขนาดก็จะมีผลข้างเคียงและทำให้ติดได้ เนื่องจากในกระท่อมมีสาร “Mitragynine” เป็นสารจำพวกแอลคาลอยด์ที่มีคุณสมบัติความเป็นด่างมาก มีโทษต่อร่างกายที่ทำให้เกิดอาการหลอน เคลิ้มฝัน มึนงง เหงื่อออก ทนต่อความหนาวไม่ได้ และนอนไม่หลับ หรือถ้าหลับก็จะฝันแบบที่ไม่ควรฝัน

“อย่าง 4×100 ที่ผสมกระท่อม น้ำอัดลม ถ้าใช้ในลักษณะนี้คิดว่าจะทำให้มีโอกาสติดได้ง่าย เนื่องจากน้ำอัดลมมีความหวาน มันจะทำให้เกิดการดูดซึมกระท่อมได้อย่างรวดเร็ว”

เคี้ยว-ต้ม พืชกระท่อม ไม่ควรเกินวันละ 5 ใบ

สำหรับวิธีการรับประทานกระท่อมที่ถูกต้องไม่ควรรับประทานเกินวันละ 5 ใบ รูดก้านใบออกเพื่อเอาแต่ใบล้วน ๆ แล้วเคี้ยวเหมือนการเคี้ยวหมาก เพราะน้ำลายมีความเป็นด่าง ไปสกัดเอาอัลคาลอยด์ Mitragynine ออกมาและเวลารับประทาน ไม่ควรกลืนกาก เพราะอาจจะทำให้เกิด “ถุงท่อม” ที่มีลักษณะเป็นก้อนแข็งอยู่ในท้องซึ่งจะทำให้ปวดท้องได้

ทั้งนี้ เพราะกากใบเป็นเส้นใยที่ย่อยยาก และเมื่อรับประทานบ่อย ๆ และขับไม่หมด เพราะกระท่อมทำให้ท้องผูก พวกเส้นใยเหล่านี้จะก่อตัว เป็นก้อน เช่นเดียวกับวัว ควาย ที่เคี้ยวหญ้า มักจะเกิดเป็น ก้อนเรียก โคโรค

สำหรับการต้มเพื่อทำน้ำกระท่อมก็ไม่ควรใช้เกิน 5 ใบต่อวัน เช่นกัน และเมื่อต้มแล้วก็ควรกรอง เอากากออก แต่การต้มควรบีบมะนาวลงไปก่อนกรองกาก เพราะแอลคาลอยด์ในกระท่อม จะกลายอยู่ในรูปของเกลือละลายน้ำได้ แล้วดื่มน้ำกระท่อมนั้น

“สมุนไพรหลายอย่างพอถึงวลาแล้วใช้ไม่ถูก สมุนไพรนั้นก็ก่อให้เกิดอันตราย เหมือนกับกัญชา ดังนั้นควรใช้ให้เป็น และไม่ควรใช้เป็นอาหารพร่ำเพรื่อ เพราะจะเกิดพิษตามมา เมื่อดูการขาย ในตลาด น่าเป็นห่วงมาก ถ้า เกิดอะไรขึ้น เมื่อปลดล็อกแบบนี้เกรงว่าต่อไปจะถูกห้ามใช้อีก”

ในส่วนของขนาดที่ใช้กระท่อมเอง ถ้าใช้มากเกิน 10-25 กรัม จะทำให้มีเหงื่อออก มึนงง เคลิ้มฝัน หลอน ตรงนี้คือสิ่งสำคัญ การใช้กระท่อมควรจะมีขนาดที่พอดี และควรจะใช้เป็นยามากกว่า รศ.ดร.อรุณพร ระบุว่า ส่วนตัวกังวลเหมือนกันว่าหลังจากที่ถูกกฎหมายแล้วคนจะเอามาใช้ผิดวิธี

รศ.ดร.อรุณพร กล่าวว่า การใช้สมุนไพรมีทั้งข้อดีข้อเสีย เป็นดาบ 2 คม ถ้าคนเข้าใจ นำไปใช้อย่างถูกต้อง ก็จะเป็นประโยชน์ และมีคุณอนันต์

เร่งให้ทำวิจัย ใช้ในยาแผนปัจจุบัน

ส่วนกระท่อมมีประโยชน์อย่างมาก ฉะนั้นจำเป็นต้องเร่งทำการวิจัยแบบปูพรม เพื่อให้มีการพัฒนายาจากสารสกัดกระท่อมให้ใช้เป็นรูปของยาแผนปัจจุบัน ทดแทนยาแก้ปวด ยาเบาหวาน และยาอื่น ๆ ที่มีการวิจัย หรืออาจใช้ในรูปแบบของยาแผนไทยที่มี ยาแก้พิษที่เกิดจากกระท่อมโดยตรง และไม่ค่อยเห็นด้วยในการนำมาทำเป็นอาหาร และรับประทานกัน มาก ๆ เพราะถ้าเกิดผลเสียทางร่างกายก็จะถูกปิดและห้ามใช้อีก