หมดห่วงน้ำท่วมไม่ซ้ำรอยปี 54 เตือน “ภาคเหนือ-กลาง” สำรองน้ำกันแล้ง

เขื่อนเจ้าพระยา

สทนช.มั่นใจไม่ซ้ำรอยน้ำท่วมปี’54 วางมาตรการรับพายุ 2 ลูกโค้งสุดท้ายหน้าฝน ก.ย.-ต.ค. พร้อมเอฟเฟ็กต์ลานิญาถล่มภาคใต้ช่วง ต.ค. หลัง ครม.ไฟเขียวงบฯกลาง 3,851 ล้านบาท ลุย 3,378 แผนงาน บูรณาการบริหารน้ำ 3 กระทรวง 5 หน่วยงาน

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทาง สทนช.มั่นใจว่าสถานการณ์น้ำปีนี้จะแตกต่างจากปี 2554 แน่นอน เพราะจากการประเมินปริมาณฝน และปริมาณน้ำในแหล่งน้ำ ยังอยู่ระดับต่ำ โดยขณะนี้คาดการณ์ว่าช่วงปลายฤดูฝน เดือน ก.ย.-ต.ค. 2564 จะมีพายุอีก 1-2 ลูกเข้ามาบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคอีสานและภาคตะวันออก และภาคใต้ ในช่วงระหว่างเดือน ต.ค. ได้รับอิทธิพลจากลานิญา อาจส่งผลให้น้ำป่าไหลหลาก แต่ได้เตรียมแหล่งน้ำและพื้นที่ยังสามารถรับน้ำได้

“ช่วงนี้ยังคงเกาะติดพายุโกนเซินใกล้ชิด และคาดว่าจะมีอีก 1-2 ลูกปลายฤดู ถัดจากนั้นอาจตกหนักที่ภาคใต้จากอิทธิพลลานิญา แต่ไม่กังวล มั่นใจว่าสามารถดูแลได้และไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำเช่นเดียวกับปี 2554 เพราะน้ำปิงและน้ำน่าน อยู่ในช่วงที่ระดับน้ำเป็นขาลงหมด ส่วนปริมาณน้ำในพื้นที่เจ้าพระยานั้นเลยจุดสูงสุดมาแล้ว ทั้งยังมีมาตรการรองรับ ทั้งการเเจ้งเตือนการปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อน เตรียมการตัดยอดน้ำ การพร่องน้ำ พื้นที่ลุ่มต่ำ

โดยจะส่งผลให้ กทม.และปริมณฑลมีน้ำเอ่อล้นในช่วงหลัง 15 ต.ค.นี้ แต่ถือว่าเป็นการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบในช่วงฤดูฝนต่อเนื่องถึงช่วงฤดูแล้งหน้า ที่เราห่วงมากกว่า เพราะฝนตกไม่สม่ำเสมอ ไม่ไหลเข้าเขื่อน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง จึงต้องสำรองน้ำไว้ให้มากที่สุด”

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้จากข้อมูล กนช.รายงาน ครม.เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2564 ถึงคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย และภัยเเล้ง ปี 2564 ปรากฏว่า ในช่วงเดือน ก.ย. มีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย 1,504 ตำบล 314 อำเภอ 54 จังหวัด, เดือน ต.ค.เสี่ยงอุทกภัย 1,662 ตำบล 306 อำเภอ 58 จังหวัด และเดือน พ.ย. เสี่ยงอุทกภัย 1,245 ตำบล 195 อำเภอ 39 จังหวัด

แต่จากสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศล่าสุด (15 ก.ย.) มีปริมาณน้ำทั้งประเทศ 46,165 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นสัดส่วน 56% แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 40,767 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นสัดส่วน 57% โดยยังเฝ้าระวังน้ำในอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง คือ อ่างแม่มอก อ่างลำพระเพลิง อ่างมูลบน และอ่างนฤบดินทรจินดา และเฝ้าระวังพื้นที่มีน้ำน้อยกว่า 30% มี 4 แห่ง อาทิ เเม่กวงอุดมธารา แม่จาง บึงบอระเพ็ด เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 ก.ย.จึงได้อนุมัติงบฯกลาง 3,851 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องสถานการณ์ข้างต้น ซึ่งจะทำให้สามารถดดำเนินโครงการป้องกันน้ำท่วม 2564 และเตรียมบรรเทาภัยแล้ง 2564/2565 จำนวน 3,378 รายการ ตามที่ได้สำรวจไว้ตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งประเมินว่าฤดูแล้งหน้า จะมีหลายพื้นที่ยังเกิดภาวะน้ำน้อย

ทั้งนี้ งบฯกลางดังกล่าวจะถูกจัดสรรไปยัง 3 กระทรวง 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย 9 จังหวัด (กำแพงเพชร เชียงราย นครศรีธรรมราช พะเยา พัทลุง พิจิตร ยโสธร สระบุรี หนองคาย) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 33 จังหวัด

ซึ่งจะใช้สำหรับดำเนินโครงการต่าง ๆ อาทิ การซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและการเก็บกักน้ำ 1,028 รายการ 1,462.44 ล้านบาท โครงการขุดลอก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและการเก็บกักน้ำ 541 รายการ 540.33 ล้านบาท โครงการพัฒนาน้ำบาดาล เพื่อความมั่นคงระดับชุมชน 334 รายการ 538.59 ล้านบาท โครงการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นทั่วประเทศ 72 โครงการ 33.32 ล้านบาท โครงการพัฒนาน้ำบาดาล เพื่ออุปโภคบริโภค 120 รายการ 46.88 ล้านบาท

“แผนงานและโครงการทั้งหมดนี้ ไม่เพียงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในช่วงนี้ไปถึงพฤศจิกายน 2564 เท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในฤดูฝน เพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงแล้งปี 2564/2565 ในพื้นที่เป้าหมายเฝ้าระวังด้วย ซึ่งแผนงานที่ได้รับอนุมัติทั้งหมดต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 120 วัน ไม่เกินมกราคม 2565”