รู้จัก “พายุหมุนเขตร้อน” หลังพายุบริเวณอ่าวเบงกอล ยกระดับ

รู้จัก
ภาพจาก pixabay
อัพเดตข้อมูลล่าสุด 21 มีนาคม 2565

ทำความรู้จักพายุหมุนเขตร้อน หลังพายุบริเวณอ่าวเบงกอลทวีกำลังแรงขึ้น

วันที่ 21 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนภัย ฉบับที่ 4 ลง เรื่อง “พายุดีเปรสชั่นบริเวณอ่าวเบงกอล (มีผลกระทบจนตั้งแต่วันที่ 21-22 มีนาคม 2565)”

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์ กรมอุตุนิยมวิทยา เกี่ยวกับพายุ การจำแนกตามชื่อเรียก และผลกระทบของพายุแต่ละชนิด ดังนี้

ระดับความเร็วลม

  • ลมสงบ (CALM)

ลมเงียบ ควันลอยขึ้นตรง ๆ ความเร็วลมน้อยกว่า 1 นอต (knots) เคลื่อนที่น้อยกว่า 1 กม./ชั่วโมง

  • ลมเบา (LIGHT AIR)

ควันลอยตามลม แต่ศรลมไม่หันไปตามทิศลม ความเร็วลม 1-3 นอต เคลื่อนที่ 1-5 กม./ชั่วโมง

  • ลมอ่อน (LIGHT BREEZE)

รู้สึกลมพัดที่ใบหน้า ใบไม้แกว่งไกว ศรลมหันไปตามทิศลม ความเร็วลม 4-6 นอต เคลื่อนที่ 6-11 กม./ชั่วโมง

  • ลมโชย (GENTLE BREEZE)

ใบไม้และกิ่งไม้เล็ก ๆ กระดิก ธงปลิว ความเร็วลม 7-10 น็อต เคลื่อนที่ 12-19 กม./ชั่วโมง

  • ลมปานกลาง (MODERATE BREEZE)

มีฝุ่นตลบ กระดาษปลิว กิ่งไม้เล็กขยับเขยื้อน ความเร็วลม 11-16 นอต เคลื่อนที่ 20-28 กม./ชั่วโมง

  • ลมแรง (FRESH BREEZE)

ต้นไม้เล็กแกว่งไกวไปมา มีระลอกน้ำ ความเร็วลม 17-21 นอต เคลื่อนที่ 29-38 กม./ชั่วโมง

  • ลมจัด (STRONG BREEZE)

กิ่งไม้ใหญ่ขยับเขยื้อน ได้ยินเสียงหวีดหวิว ใช้ร่มลำบาก ความเร็วลม 22-27 นอต เคลื่อนที่ 39-49 กม./ชั่วโมง

  • พายุเกลอ่อน (NEAR GALE)

ต้นไม้ใหญ่ทั้งต้นแกว่งไกว เดินทวนลมไม่สะดวก ความเร็วลม 28-33 นอต เคลื่อนที่ 50-61 กม./ชั่วโมง

  • พายุเกล (GALE)

กิ่งไม้หัก ลมต้านการเดิน ความเร็วลม 34-40 นอต เคลื่อนที่ 62-74 กม./ชั่วโมง

  • พายุเกลแรง (STRONG GALE)

อาคารที่ไม่มั่นคงหักพัง หลังคาปลิว ความเร็วลม 41-47 นอต เคลื่อนที่ 75-88 กม./ชั่วโมง

  • พายุ (STORM)

ต้นไม้ถอนรากล้ม เกิดความเสียหายมาก (ไม่ปรากฏบ่อยนัก) ความเร็วลม 48-55 นอต เคลื่อนที่ 89-102 กม./ชั่วโมง

  • พายุใหญ่ (VIOLENT STORM)

เกิดความเสียหายทั่วไป (ไม่ค่อยปรากฏ) ความเร็วลม 56-63 นอต เคลื่อนที่ 109-117 กม./ชั่วโมง

  • พายุไต้ฝุ่น หรือ เฮอร์ริเคน (TYPHOON or HURRICANE)

(ไม่ค่อยปรากฏ) ความเร็วลมมากกว่า 63 นอต เคลื่อนที่เร็วกว่า 117 กม./ชั่วโมง

พายุหมุนเขตร้อน

เป็นคำทั่วๆ ไปที่ใช้เรียกพายุหมุนหรือพายุไซโคลน (Cyclone) ที่มีถิ่นกำเนิดเหนือมหาสมุทรในเขตร้อนแถบละติจูดต่ำ บริเวณที่พายุหมุนปกคลุมแคบกว่าบริเวณพายุหมุนในเขตอบอุ่น พายุดังกล่าวเมื่ออยู่ในสภาวะที่เจริญเติบโตเต็มที่ จะเป็นพายุที่มีความรุนแรงที่สุดชนิดหนึ่งในบรรดาพายุที่เกิดขึ้นในโลก มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ใหญ่นักประมาณตั้งแต่ 100 กิโลเมตรขึ้นไป เกิดขึ้นพร้อมกับลมที่พัดรุนแรงมาก

ระบบการหมุนเวียนของลมเป็นไปโดยพัดเวียนเป็นวงทวนเข็มนาฬิกา (Cyclonically) ในซีกโลกเหนือ ส่วนทางซีกโลกใต้พัดเวียนตามเข็มนาฬิกาเข้าสู่ศูนย์กลางพายุ ยิ่งใกล้ศูนย์กลางลมจะหมุนเกือบเป็นวงกลม และมีความเร็วสูงที่สุด

ลมที่ใกล้ศูนย์กลางมีความเร็วตั้งแต่ 117 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (64 นอต) ขึ้นไป บางครั้งมีความเร็วลมเกินกว่า 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (175 นอต) ความกดอากาศต่ำสุดที่บริเวณศูนย์กลางพายุ

โดยทั่วไปต่ำกว่า 1,000 มิลลิบาร์ มีความชันของความกดอากาศ (Pressure Gradient) และความเร็วลมแรงกว่าพายุหมุนนอกเขตร้อน (Extratropical Storm) มีลักษณะอากาศร้ายติดตามมาด้วย เช่น ฝนตกหนักมากกว่าฝนปกติธรรมดาที่เกิดในเขตร้อนมาก บางครั้งมีพายุฟ้าคะนองเกิดขึ้นด้วย ฝนและเมฆมีลักษณะไม่เหมือนกันนักในพายุแต่ละลูก ส่วนใหญ่จะเห็นเป็นแนวโค้งหมุนเข้าหาศูนย์กลางหรือตาพายุ มีเมฆประเภทคิวมูลัส (Cumulus) และ คิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus) ที่มีฝนอยู่ด้วย เกิดคลื่นสูงใหญ่ในทะเลและน้ำขึ้นสูง

ตรงบริเวณศูนย์กลางพายุมีลักษณะคล้ายกับมีตา เป็นวงกลมอยู่มองเห็นได้ชัดเจนจากภาพถ่ายจากดาวเทียม เรียกว่า “ตาพายุ” (Eye) เป็นบริเวณเล็ก ๆ เส้นผ่านศูนย์กลางของตาพายุเพียงแค่เป็นสิบๆ กิโลเมตรเท่านั้น (ประมาณ 15-60 กิโลเมตร) ภายในตาพายุนี้เป็นบริเวณที่มีอากาศแจ่มใส มีเมฆบ้างเล็กน้อยเท่านั้น และมีลมพัดอ่อน

พายุหมุนเขตร้อนนี้เกิดขึ้นหลายแห่งในโลก โดยทั่วไปเกิดทางด้านตะวันตกของมหาสมุทร ในเขตร้อนบริเวณใกล้ศูนย์สูตร (ยกเว้น มหาสมุทรแอตแลนติกใต้และทางด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกใต้) เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตก ทำความเสียหายให้แก่ทวีปต่างๆ ทางด้านตะวันออก

พายุหมุนเขตร้อนนี้มีชื่อเรียกต่างๆ กันแล้วแต่ท้องถิ่นที่เกิด เช่น

  • บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก และในทะเลจีนใต้ เรียกชื่อว่า “พายุไต้ฝุ่น” (Typhoon)
  • บริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทะเลแคริบเบียน และในอ่าวเม็กซิโก เรียกชื่อว่า “พายุเฮอร์ริเคน” (Hurricane)
  • อ่าวเบงกอล และทะเลอาระเบียนในมหาสมุทรอินเดีย เรียกชื่อว่า “พายุไซโคลน” (Cyclone)
  • ทวีปออสเตรเลีย เรียกชื่อว่า “วิลลี่-วิลลี่” (Willy-Willy)

หรือมีชื่อเรียกไปต่าง ๆ กันถ้าเกิดในบริเวณอื่น

ระดับพายุหมุนเขตร้อน

ตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ได้จัดแบ่งชั้นของพายุหมุนเขตร้อนตามความรุนแรงของพายุได้เป็น 3 ชั้น ดังนี้

1. ดีเปรสชั่นเขตร้อน (Tropical Depression) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางน้อยกว่า 34 นอต (63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)

2. พายุโซนร้อน (Tropical Storm) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางอยู่ระหว่าง 34 ถึง 64 นอต (63 ถึง 117 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)

3. พายุไต้ฝุ่น หรือ เฮอร์ริเคน (Typhoon or Hurricane) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 65 นอต หรือมากกว่า หรือตั้งแต่ 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขึ้นไป

ความเสียหายจากพายุโซนร้อน

ข้อมูลจาก เอกสารประชาสัมพันธ์ เรื่องภัยพิบัติ องค์การบริหารส่วนตำบลวังหิน จังหวัดเพชรบูรณ์ ระบุความรุนแรงของพายุโซนร้อนไว้ ดังนี้ พายุโซนร้อนมีความรุนแรงน้อยกว่าพายุไต้ฝุ่น ความเร็ว ของลมบริเวณใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 34 น็อต หรือ 62 กิโลเมตร ต่อชั่วโมงขึ้นไป แต่ไม่เกิน 63 นอต หรือ 117 กิโลเมตรต่อ
ชั่วโมง

สำหรับประเทศไทยแล้ว เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา มีพายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้าน ตะวันตก ทะเลจีนใต้ และอ่าวเบงกอล ในขอบเขตแผนที่อากาศพื้นผิวของประเทศไทย ทั้งหมด 16 ลูก อาทิ พายุโซนร้อนชินลากู พายุโซนร้อนโนอึล พายุโซนร้อนโซเดล พายุโซนร้อนหว่ามก๋อ เป็นต้น

ฉะนั้นอันตรายอันจะเกิดจากการที่พายุนี้พัดมาปะทะ ลดลงในระดับรองลงมาจากพายุไต้ฝุ่น แต่ถึงกระนั้นก็ตามความรุนแรงที่จะทำให้ความเสียหายก็ยังมีมากเหมือนกัน ในทะเลลมจะแรงมากจนสามารถจะจมเรือขนาดใหญ่ได้ ต้นไม้ถอนรากถอนโคนดังพายุโซนร้อนที่ปะทะฝั่งแหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี 2505 หรือเมื่อ 59 ปีก่อน