จับตาพายุลูกใหม่ “โซนร้อนคมปาซุ” แนวเส้นทางผ่านภาคเหนือ-อีสาน

กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนฉบับสุดท้าย พายุดีเปรสชั่น “ไลออนร็อก” ส่งผลภาคอีสานมีฝนตกหนักถึงหนักมาก เสี่ยงท่วมฉับพลัน ขณะที่อิทธิพลจากร่องมรสุม ทำให้ภาคเหนือ กลาง ตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักถึงหนักมากเช่นกัน พร้อมจับตาพายุลูกใหม่ โซนร้อนคมปาซุ (KOMPASU (2118)) คาดแนวเส้นทางผ่านภาคเหนือตอนบนของไทย

วันที่ 11 ตุลาคม 2564 นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนภัยลักษณะอากาศ เรื่อง “พายุดีเปรสชั่น ไลออนร็อก” ฉบับที่ 20 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2564

ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า เมื่อเวลา 07.00 น. วันนี้ (11 ต.ค. 2564) พายุดีเปรสชั่น “ไลออนร็อก” ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวตอนบนแล้ว และเมื่อเวลา 10.00 น. หย่อมความกดอากาศต่ำได้เคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย

ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้

อนึ่ง ร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย  ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศฉบับนี้เป็นฉบับสุดท้ายของเหตุการณ์นี้ ประกาศ ณ วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เวลา 11.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในเว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยายังได้รายงานเส้นทางพายุลูกใหม่บริเวณทะเลจีนใต้ ใกล้กับประเทศฟิลิปปินส์ อีก 1 ลูก ชื่อว่า “พายุโซนร้อนคมปาซุ” (KOMPASU (2118)) แปลว่า กลุ่มดาววงเวียน พายุนี้ตั้งชื่อโดยประเทศญี่ปุ่น

สำหรับแนวเส้นทางของพายุมีทิศทางผ่านเกาะไหหลำของประเทศจีน เวียดนาม ลาว และทางตอนบนของประเทศไทยด้วย ในช่วงวันที่ 12-14 ต.ค.นี้ แต่ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนจากกรมอุตุนิยมวิทยา