นับ 1 ทางด่วน “กะทู้-ป่าตอง” งบฯก้อนแรก 5,792 ล้าน-เวนคืน 192 แปลง

กะทู้ป่าตอง
คอลัมน์ : รายงาน
ผู้เขียน : วงศ์สิริ กองพุฒิ

สิ้นสุดการรอคอย โครงการทางด่วนสายแรกบนเกาะไข่มุกแห่งอันดามัน 3.98 กิโลเมตร

ล่าสุดมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคาร 18 มกราคม 2565 ไฟเขียวเดินหน้า “โครงการทางพิเศษ สายกะทู้-ป่าตอง” จ.ภูเก็ต มูลค่ากว่า 14,670 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ 3.98 กิโลเมตร

กทพ.แจงขั้นตอนดำเนินการ

ภายหลังมีมติ ครม.อนุมัติโครงการ ขั้นตอนต่อไปทำให้งานเต็มมือหน่วยงานเจ้าของโครงการ โดย “สุรเชษฐ์ เหล่าพูนสุข” ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เนื่องจากทางด่วนกะทู้-ป่าตอง ดำเนินการในรูปแบบร่วมทุน PPP net cost (ภาครัฐรับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน (ภาคเอกชนรับผิดชอบงานส่วนที่เหลือทั้งหมด ได้แก่ การออกแบบรายละเอียดและการก่อสร้าง การดำเนินงานและบำรุงรักษา หรือ O&M-Operation and Maintenance)

โดยเป็นการร่วมทุนระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ภายใต้พระราชบัญญัติการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562

แนวทางดำเนินการต่อจากนี้ จะดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 36 ด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือก 1 ชุด ตัวแทนกรรมการมาจากหน่วยงานเจ้าของโครงการ ผู้แทนกระทรวงคมนาคม ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญในโครงการร่วมลงทุน และจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact : IP)

หลังจากนั้นเป็นขั้นตอนการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าชดเชยสิ่งปลูกสร้างหรือการเวนคืนที่ดิน รวมมูลค่า 5,792 ล้านบาท คาดว่าใช้เวลาดำเนินการ 33 เดือน (กุมภาพันธ์ 2565-ตุลาคม 2567) โดยเร่งทำร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนของโครงการเพื่อขออนุมัติจากคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. จากนั้นนำเสนอร่างกฎหมายเวนคืนสู่ที่ประชุม ครม.ให้ความเห็นชอบต่อไป

สุรเชษฐ์ เหล่าพูนสุข

วางไทม์ไลน์เปิดใช้ปี 2570-71

ทั้งนี้ “ผู้ว่าการสุรเชษฐ์” อธิบายว่า คาดว่าคณะกรรมการมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2562 จะจัดทำร่างเอกสารประกาศเชิญชวนคัดเลือกเอกชน (RFP) และประเมินความสนใจของภาคเอกชน (market sounding) โดยจะเริ่มเปิดประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการได้ในช่วงปลายปี 2565 นี้ โครงสร้างออกแบบให้มีทั้งทางยกระดับและอุโมงค์ ตามแผนใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี ติดตั้งระบบ 1 ปี ระยะเวลาดำเนินการ 30 ปี

ซึ่งเมื่อประเมินจากปัจจุบัน หากไม่มีสถานการณ์ใด ๆ มากระทบต่อขั้นตอนการเปิดไซต์ก่อสร้างแล้ว ไทม์ไลน์กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดบริการเส้นทางเป็นทางการในปี 2570 หรือต้นปี 2571 จากแผนเดิมกำหนดเปิดบริการในปี 2569

สำหรับโครงการทางพิเศษ สายกะทู้-ป่าตอง มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมกับ “ถนนพระเมตตา” ในพื้นที่ ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการในพื้นที่ ต.กะทู้ อ.กะทู้ ประกอบด้วยทางขึ้น-ลง 2 แห่ง มีด่านเก็บค่าผ่านทางตั้งอยู่บริเวณ ต.กะทู้ 1 ด่าน

โอมิครอนตัวช่วยเวนคืนรื่น

รายละเอียดโครงการ มีวงเงินรวม 14,670.57 ล้านบาท แบ่งเป็นงบฯเวนคืนที่ดิน วงเงิน 5,792 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง วงเงิน 8,678 ล้านบาท มีพื้นที่เวนคืน จำนวน 192 แปลง สิ่งปลูกสร้าง จำนวน 221 หลัง ผู้ถูกเวนคืนที่ดิน จำนวน 104 ราย

สำหรับประเด็นการเวนคืนที่ดินพื้นที่ดังกล่าวนั้น ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้ส่งทีมงานลงพื้นที่สำรวจแล้ว พบว่าไม่มีปัญหาการต่อต้านจากเจ้าของที่ดิน เนื่องจากได้รับผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจจากสถานการณ์โอมิครอน ทำให้เจ้าของที่ดินมองว่าการเวนคืนที่ดินโดยรัฐเป็นทางเลือกที่ทำให้ราคาเวนคืนน่าสนใจมากกว่าการประกาศขายเอง เพราะคงหาคนซื้อลำบากในช่วงนี้

รวมถึงการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ EIA (Environmental Impact Assessment) ได้ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และยังได้รับอนุมัติให้ใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“ทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง ในอนาคตเมื่อสร้างเสร็จจะเป็นโครงข่ายคมนาคมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว เพิ่มเส้นทางใหม่ที่เชื่อมโยงระหว่างตัวเมืองฝั่งตะวันออกของจังหวัดภูเก็ตไปยังหาดป่าตอง อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในพื้นที่ แก้ปัญหาอุบัติเหตุเพราะลักษณะทางกายภาพที่เป็นเนินลาดชันและคดเคี้ยว และยังสามารถใช้ทางด่วนสายใหม่เป็นเส้นทางอพยพในกรณีที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เหมือนกับที่เคยเกิดสึนามิในอดีต”