คมนาคมลงทุนใหม่ 9 แสนล้าน ปีเสือ “ศักดิ์สยามโมเดล” ตะลุยรอบทิศ

รถไฟรางคู่

เข้าสู่ไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ 2565 ณ เดือนมกราคม 2565 กระทรวงคมนาคมอัพเดตแผนลงทุน 1.4 ล้านล้านบาท

เป็นการขับเคลื่อนลงทุนภายใต้การกุมบังเหียนของ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย

บทสรุปรวบยอดคือวงเงินก้อนมหึมา 1.4 ล้านล้านบาท ดังกล่าว แบ่งเป็นโครงการลงนามสัญญาแล้ว วงเงินรวม 5.16 แสนล้านบาท กับโครงการลงทุนใหม่ วงเงิน 9.74 แสนล้านบาท (ดูกราฟิกประกอบ)

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

เซ็นสัญญาแล้ว 5.16 แสนล้าน

สำหรับโครงการที่ได้มีการลงนามสัญญาแล้ว มีจำนวน 13 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 516,956 ล้านบาท เรียงลำดับตามวงเงินลงทุน ดังนี้

การลงทุน “ระบบราง” ลงนามสัญญาแล้ว 7 โครงการ วงเงินรวม 476,154 ล้านบาท ได้แก่ 1.รถไฟทางคู่ นครปฐม-ชุมพร ลงทุนปี 2561-2565 วงเงิน 40,378 ล้านบาท 2.รถไฟทางคู่ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ลงทุนปี 2561-2567 วงเงิน 27,454 ล้านบาท 3.รถไฟทางคู่ ลพบุรี-ปากน้ำโพ ลงทุนปี 2561-2565 วงเงิน 20,679 ล้านบาท 4.รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-โคราช ลงทุนปี 2560-2569 วงเงิน 179,413 ล้านบาท

อีก 3 โครงการอยู่ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ได้แก่ 5.รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ลงทุนปี 2560-2568 วงเงิน 109,135 ล้านบาท 6.รถไฟฟ้าสายสีชมพู มีนบุรี-แคราย ลงทุนปี 2560-2566 วงเงิน 50,970 ล้านบาท และ 7.รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ลงทุนปี 2560-2566 วงเงิน 48,125 ล้านบาท

การลงทุน “ทางอากาศ” ลงนามสัญญาแล้ว 4 โครงการ ได้แก่ 1.สนามบินกระบี่ ลงทุนปี 2561-2565 วงเงิน 2,923 ล้านบาท 2.สนามบินขอนแก่น ลงทุนปี 2561-2565 วงเงิน 2,004 ล้านบาท 3.สนามบินบุรีรัมย์ ลงทุนปี 2564-2567 วงเงิน 619 ล้านบาท และ 4.สนามบินสุราษฎร์ธานี ลงทุนปี 2563-2566 วงเงิน 169 ล้านบาท

ที่เหลืออีก 2 โครงการ แบ่งเป็น การลงทุน “ทางถนน” ลงนามสัญญาแล้วในโครงการมอเตอร์เวย์ M82 สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว (ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว) ลงทุนปี 2564-2567 วงเงิน 32,220 ล้านบาท กับ “ทางบก” ลงนามสัญญาแล้ว โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย ลงทุนปี 2553-2568 วงเงิน 2,864 ล้านบาท

ติดตามแก้จราจรบนทางด่วน

โดย “ศักดิ์สยาม” จัดคิวประชุมติดตามความคืบหน้าการลงทุนรายโครงการ ล่าสุดเป็นคิวของการแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษทั้งระบบ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 ซึ่งดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี 18 กุมภาพันธ์ 2563 กำหนดให้แล้วเสร็จใน 2 ปี โดย “กทพ.-การทางพิเศษแห่งประเทศไทย” ศึกษาแนวทางแก้ปัญหารวมทั้งการลงทุนเพิ่มเติมเสร็จเรียบร้อย มีการรายงานกระทรวงคมนาคมพิจารณา และอยู่ระหว่างนำเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

เบื้องต้น ปัญหาการจราจรบนทางด่วนแบ่งเป็นปัญหา 5 ด้าน 1.ปัญหาความจุของทางพิเศษไม่เพียงพอ (over section capacity) 2.จุดตัดกระแสจราจรบริเวณทางร่วมและทางแยก (weaving & merging) 3.การจราจรติดขัดบริเวณทางลงทางพิเศษ (off-ramp congestion) 4.การไหลเวียนจราจรบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทาง (over toll plaza capacity) และ 5.ปัญหาจุดคอขวด

ขณะที่จุดพีกของปัญหาจราจรคอขวด (bottleneck) มี 3 เส้นทาง คือ 1.ทางด่วนศรีรัช ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9 2.ทางด่วนเฉลิมมหานคร ช่วงมักกะสัน-ท่าเรือ-บางนา และ 3.ทางด่วนฉลองรัช

โดย กทพ.จัดลำดับความสำคัญแผนแก้ไขปัญหาจราจรทั้งระบบ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางด่วนในปัจจุบัน 21 โครงการ ข้อเสนอดำเนินการเฟส 1 (2565-2569) จำนวน 16 โครงการ ลงทุนรวม 38,132 ล้านบาท ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 16.35% และเฟส 2 (ปี 2570 เป็นต้นไป) 5 โครงการ ลงทุนรวม 9,401 ล้านบาท มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 25.77% รวมวงเงินลงทุน 47,533 ล้านบาท

กลุ่มที่ 2 ก่อสร้างทางด่วนเพิ่มเติมแก้ไขปัญหาการจราจรและเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง 11 โครงการ แบ่งเป็นแผนลงทุนเฟส 1 (2565-2569) 5 โครงการ กับแผนลงทุนเฟส 2 (ปี 2570 เป็นต้นไป) 6 โครงการ ทั้ง 11 โครงการมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 15.18-31.28%

ปัจจุบัน กทพ.อยู่ระหว่างพิจารณาแหล่งเงินทุน เช่น การให้เอกชนร่วมลงทุน หรือการใช้แหล่งเงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF)

เร่งสร้าง 2 มอเตอร์เวย์

ข้อสั่งการของ “รมต.ศักดิ์สยาม” ยังได้เพิ่มเติมการบูรณาการต่างหน่วยงาน อาทิ มอบหมายให้ “ทล.-กรมทางหลวง” หารือกับ กทพ.เร่งรัดโครงการมอเตอร์เวย์ M7 สายศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ, ให้กรมทางหลวงเร่งศึกษามอเตอร์เวย์ M5 ส่วนต่อขยายทางด่วนโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอิน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเปิดประมูลรูปแบบ PPP (การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน)

รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับสะพานข้ามทางแยก รวมทั้งทางขึ้น-ลงทางด่วน เช่น จุดขึ้น-ลงทางด่วนที่อยู่ใกล้ทางรถไฟฟ้าสายสีแดง, จุดขึ้น-ลงทางด่วนแยกยมราช และบริเวณศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ

และมอบหมายให้ “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” เตรียมข้อมูลผลศึกษาเพื่อนำเสนอต่อ คจร. ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2565

เร่งลงทุน “ศักดิ์สยามโมเดล”

ทั้งนี้ การสานต่อนโยบายลงทุนจากปี 2564 และการขับเคลื่อนนโยบายเพิ่มเติมปี 2565 รวมทั้งสิ้น 76 นโยบาย โดยมีโปรเจ็กต์ไฮไลต์ที่เป็นโลโก้ของ “รมต.ศักดิ์สยาม” อาทิ การลงทุนทางถนน มีโครงการกำหนดความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ปี 2564 ประกาศใช้แล้ว 178 กิโลเมตร แผนปี 2565 เพิ่มเติม 9 เส้นทาง ระยะทาง 138 กิโลเมตร

โครงการพัฒนาระบบผ่านทางด่วนทางพิเศษแบบไม่มีไม้กั้น หรือ M-Flow ปี 2564 ทล.ทดสอบระบบบนมอเตอร์เวย์สาย 9 จำนวน 4 ด่าน และปี 2565 เปิดให้บริการแบบเต็มรูปแบบ 7 ด่าน แบ่งเป็น ด่านกรมทางหลวง 4 ด่าน กทพ. 3 ด่าน

จัดทำแผนแม่บท MR-Map ปี 2564 ศึกษาแผนแม่บทโครงข่าย MR-Map แล้วเสร็จ และ คจร.เห็นชอบแล้ว โดยได้เริ่มการศึกษาออกแบบเบื้องต้นนำร่อง 4 โครงการ ได้แก่ 1.MR2 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์)-อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ช่วงนครราชสีมา-อุบลราชธานี ระยะทาง 440 กิโลเมตร

2.MR5 ชุมพร-ระนอง ระยะทาง 108 กิโลเมตร ตามแนวการเชื่อมต่อโครงการ Landbridge 3.MR8 หนองคาย (ด่านหนองคาย)-แหลมฉบัง ช่วงนครราชสีมา-แหลมฉบัง ระยะทาง 288 กิโลเมตร 4.MR10 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ รอบที่ 3 ระยะทางรวม 319 กิโลเมตร และปี 2565 ศึกษาความเหมาะสมเส้นทางที่เหลืออยู่ให้ครบทั้ง 10 เส้นทาง

โครงการเติมเต็ม missing links เชื่อมโยงต่างประเทศ เช่น ถนนเชื่อมศูนย์ซ่อมอากาศยาน-สะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 นครพนม ระยะทาง 23.102 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 1,600 ล้านบาท, สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) อุบลราชธานี ระยะทาง 26 กิโลเมตร วงเงินรวม 4,765 ล้านบาท

จัดระเบียบแท็กซี่-มอ’ไซค์

เรื่องใกล้ตัว อาทิ โครงการระบบติดตามตรวจสอบพฤติกรรมการขับขี่ ปี 2565 จะสามารถนำมาตรการหักแต้มใบขับขี่มาใช้งานได้จริง, การจัดระเบียบรถจักรยานยนต์ดีลิเวอรี่ ในปี 2564 “ขบ.-กรมการขนส่งทางบก” ได้ออกประกาศกำหนดลักษณะมาตรฐานกล่องบรรจุสินค้าของมอเตอร์ไซค์ดีลิเวอรี่ไว้แล้ว และยกร่างกฎหมายกำกับในปี 2565

การจัดระเบียบรถรับจ้างผ่าน application (รถบ้านให้บริการแท็กซี่) ในปี 2564 ขบ.ประกาศจัดระเบียบรถรับจ้างผ่าน app แล้ว ปี 2565 ผู้ประกอบการจะทยอยเข้ามาจดทะเบียนจนครบทุกราย, ผลักดันเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสำหรับรถขนส่งสาธารณะ (EV) โดยปี 2564 เปิดบริการ EV bus เส้นทางนำร่องแล้วจะขยายเพิ่มเติมในปี 2565, จัดระเบียบรถยนต์จอดทิ้งริมทาง โดยปี 2565 จัดทำโครงการนำร่องให้มีผลอย่างเป็นรูปธรรม

การเร่งพัฒนาระบบตั๋วร่วม ปี 2564 จัดทำร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วม และปี 2565 ให้บริการบัตรระบบ EMV ในรถไฟฟ้าสาย “สีแดง ม่วง น้ำเงิน”, กำหนดแนวทางใช้รถไฟฟ้าล้อยางเมืองภูมิภาค ปี 2564 อยู่ระหว่างศึกษาทบทวนรูปแบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ปี 2565 จัดทำรายงาน PPP เพื่อเปิดประมูลต่อไป

การผลักดันการพัฒนารถไฟ EV ปี 2564 ลงนาม MOU ร่วมพัฒนารถไฟ EV ต้นแบบ และในปี 2565-2566 ดัดแปลงรถไฟ EV ต้นแบบเป็นขบวนแรกของประเทศไทย เป็นต้น

โครงการลงทุน