แรงงานติง รบ. คนไทยพ้นความยากจนไม่จริง ย้ำไม่ได้ต่อต้านรัฐ แต่สงสัยขอตัวเลขคิดคำนวณ

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงกรณีรัฐบาลยกธนาคารโลกระบุว่าประเทศไทยได้เริ่มหลุดพ้นจากความยากจน และกำลังก้าวสู่ความมั่นคั่ง ว่า เ กรณีที่มีผลสำรวจของเวิลด์แบงก์ระบุว่า ค่าเฉลี่ยรายได้ของคนพบว่า เริ่มหลุดจากความยากจนนั้น อาจเป็นมาตรฐานที่คิดของเขาเองหรือไม่ เพราะความเป็นจริงไม่ใช่สำหรับประเทศไทย เพราะหากไทยไปอิงแบบนั้นเราแย่แน่ เพราะข้อเท็จจริงหากจะคำนวณค่าเฉลี่ยรายได้ ควรต้องเอารายได้ของบุคคลที่มีรายได้น้อยไม่ใช่คนมีรายได้ปานกลางถึงมาก เราควรเอารายได้แต่ละบุคคลที่มีรายได้ต่ำที่สุดนำมาคำนวณ แต่แบบนี้ไม่ใช่ เพราะยังมีคนมีรายได้ไม่ถึง 1,000 บาทต่อเดือนอีกเยอะ แบบนี้จะทิ้งคนจนไว้ข้างหลังหรืออย่างไร การคิดแบบนี้ตนไม่ทราบว่า เป็นการคิดแบบเอาคนรายได้สูงมาเป็นตัวตั้งหรือไม่ ซึ่งไม่สะท้อนความเป็นจริง

นายชาลีกล่าวอีกว่า การคำนวณรายได้ของประเทศนั้น ควรต้องเอาตัวเลขคนรายได้ต่ำจึงจะเหมาะสม โดยรายได้สูงต้องตัดไป รัฐบาลต้องทำให้ถูกต้องให้คนยอมรับ โดยเอาคนมีรายได้ต่ำทั้งหมด จากการลงทะเบียนคนรายได้น้อย โดยเอาตัวเลขนี้มาคิดคำนวณ ซึ่งยังมีคนที่ไม่ลงทะเบียนอีกด้วยซ้ำ จริงๆหากเอาคนที่ไปลงทะเบียนประมาณ 11-12 ล้านคนแล้วเอามาคำนวณเป็นค่าเฉลี่ยจะดีกว่า หากเราเอาคนที่มีรายได้ต่ำมาคำนวณเป็นตัวตั้ง เราก็จะได้คิดได้ว่าจะทำอย่างไรให้คนรายได้ต่ำมีรายได้ประจำ และพอยังชีพอย่างสม่ำเสมอ นี่คือโจทย์สำคัญ และจะเป็นเรื่องของความยั่งยืน

“เอาแค่ง่ายๆ ค่าแรงขั้นต่ำของแรงงาน ณ ปัจจุบันยังไม่เพียงพอกับค่าครองชีพด้วยซ้ำ ยิ่งในกรณีคนรายได้น้อยเขาจะพอยังชีพอย่างไร ซึ่งคนกลุ่มนี้มีจำนวนมาก ทั้งคนไม่มีงานทำ พ่อแม่พี่น้องชาวนาที่อยู่ต่างจังหวัด มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ อย่างบางเดือนได้เงินเยอะ ประมาณ 12,000 บาทแค่เดือนเดียว แต่อีก 11 เดือนไม่ได้ แสดงว่ามีใช้แค่เดือนละ 1,000 บาท ดังนั้น จึงไม่ควรพูดว่าค่าความจนหลุดออกไปแล้ว หากพูดเช่นนี้ เอาตัวเลขมาเปิดเผยเลย และเอากลุ่มคนจนมาพูดเลยว่า เขาหลุดพ้นความยากจนจริงหรือไม่ เราต้องคำนวณเชิงมหภาคด้วย แต่ผมก็ยังมองว่ารัฐบาลอาจมีตัวเลขจริงๆ แต่ประชาชนสงสัย รัฐบาลก็ต้องออกมาตอบด้วย ซึ่งเราไม่ได้ต่อต้านรัฐบาล แต่เราต้องการได้เหตุผล หากได้จริงก็ดี หากไม่จริงมาประกาศก็มีปัญหาทางสังคม” นายชาลีกล่าว และว่า ขนาดค่าแรงขั้นต่ำยังไม่เพียงพอเลย จะแก้ปัญหายังไงต่อไปก็ยาก ใครมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็คงยาก เรื่องนี้ต้องช่วยกันหมด ทั้งข้าราชการ ฝ่ายการเมืองด้วย

 

ที่มา  มติชนออนไลน์