เทียบอาการโควิด-ภูมิแพ้-ไข้หวัดใหญ่ เหมือนหรือต่างกัน

โควิด ภุมิแพ้ ไข้หวัดใหญ่

อาการโควิด-ภูมิแพ้-ไข้หวัดใหญ่ มีบางอย่างที่ดูคล้ายกัน แต่ความจริงแล้ว ข้อมูลทางการแพทย์พบว่า ไม่เหมือนกัน  

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ยังเกิดการระบาดอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสภาพอากาศที่แปรปรวน อาจทำให้หลายคนเกิดความสับสนว่าตนเองป่วยเป็นโรคใดหรือไม่ จาก 3 โรคที่พบว่า มีการแสดงอาการที่ใกล้เคียงกัน โดยข้อมูลการรายงานผู้ป่วย 3 โรคดังกล่าว ประกอบด้วย

  • โรคโควิด-19 : ศบค.รายงานตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จำนวน 322,438 ราย
  • โรคภูมิแพ้ : ข้อมูลของการวิจัย (ปี 2563) ระบุว่า เด็กไทยมีอาการของโรคภูมิแพ้ทางจมูกประมาณ 40% ซึ่งสูงกว่า 10 ปีที่แล้ว 2 เท่า, ประมาณ 13% ของเด็กไทย และ 5-10 % ของผู้ใหญ่เคยมีอาการของโรคหืด
  • โรคไข้หวัดใหญ่ : ข้อมูลจากกรมควบคุมโรครายงานผู้ป่วยทั่วประเทศ (1 ม.ค.-21 เม.ย.2564) จำนวน 5,914 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 8.92 ต่อประชากรแสนคน

“ประชาชาติธุรกิจ” สรุปข้อมูลระหว่างอาการของโรคโควิด-19 โรคภูมิแพ้ และโรคไข้หวัดใหญ่ ที่แม้การแสดงอาการจะคล้ายกัน แต่ความจริงแล้ว ไม่เหมือนกัน

อาการโรคโควิด-19

สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า อาการของโรคโควิด-19 เริ่มตั้งแต่ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเหมือนไข้หวัด เช่น มีไข้ ไอ หายใจเหนื่อยหอบ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอท้องเสีย คัดจมูก จมูกได้กลิ่นน้อยหรือไม่ได้กลิ่น น้ำมูกไหลบางครั้ง

อีกทั้งยัง อ่อนเพลีย หนาวสั่น ปวดศีรษะ ไปจนถึงมีอาการมาก เช่น ไอมาก เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบ เนื่องจากมีปอดอักเสบโดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุหรือมีโรคประจำตัวร่วมด้วย ต่างจากผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโควิดซึ่งมีอาการน้อยมาก หรือไม่มีอาการเลย

อาการผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ โอมิครอน

ส่วนอาการของผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งเป็นสายพันธุ์ล่าสุดที่กำลังระบาดในประเทศไทยขณะนี้ พบว่า ผู้ป่วยจะ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ปวดศีรษะ ไข้ หายใจลำบาก ปวดกล้ามเนื้อ และได้กลิ่นลดลง

แชนแนลนิวส์เอเชียเผยแพร่ความเห็นของ “พอล ฮันเตอร์” อาจารย์แพทย์ในมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย ประเทศอังกฤษ ซึ่งอธิบายถึง ทำไมการติดโควิดสายพันธุ์โอมิครอน จึงแสดงอาการรุนแรงน้อยกว่าการติดโควิดสายพันธุ์อื่น

โดยช่วงหนึ่งระบุว่า โอมิครอนอาจแสดงอาการรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น แม้แต่ในผู้ที่ไม่มีภูมิต้านทานมาก่อน อย่างไรก็ตาม ยังเป็นเรื่องยากที่จะระบุแน่ชัด แม้จะมีสัญญาณบางอย่างบ่งชี้ว่ามันอาจเป็นเช่นนั้น

ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญหลายกลุ่มยังคงศึกษาเรื่องความสามารถของโอมิครอน ในรายงานที่กำลังรอการตรวจสอบบางฉบับชี้ว่า ไวรัสชนิดนี้เติบโตได้ไม่ค่อยดีนักในเนื้อเยื่อปอด แต่เติบโตได้ดีกว่าในเนื้อเยื่อทางเดินหายใจส่วนบน เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ก่อนหน้า

การเติบโตที่มากขึ้นในทางเดินหายใจส่วนบน อาจทำให้ไวรัสไหลผ่านจมูกและปากมากขึ้น ซึ่งอาจช่วยอธิบายได้ส่วนหนึ่งว่า ทำไมโอมิครอนจึงมีการติดเชื้อได้มากกว่า

และการติดเชื้อในปอด แทนที่จะเป็นทางเดินหายใจส่วนบน มีความเกี่ยวข้องกับโรคที่รุนแรงมากขึ้น ดังนั้นความสามารถในการเจริญเติบโตในปอดที่ลดลงของโอมิครอน จึงอาจเป็นปัจจัยสำคัญในการอธิบายถึงความรุนแรงที่ลดลง

อาการโรคภูมิแพ้

อาการของโรคภูมิแพ้ หรือจมูกอักเสบภูมิแพ้ มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล คันตา จาม อาจมีบางครั้งที่จมูกได้กลิ่นน้อยลง โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ หรือ โรคแพ้อากาศ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ถ้าไม่มีการติดเชื้อร่วมด้วย จะไม่มีไข้, เจ็บคอ ไอ อ่อนเพลีย เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว มักมีอาการทางจมูกเด่นกว่าผู้ป่วยโควิดที่มีอาการเด่นชัด คือ ทางเดินหายใจส่วนล่าง

ผู้ป่วยโรคจมูกอาจมีโรคหืดร่วมด้วย ต้องพิจารณาจากปัจจัยเสี่ยง เช่น เดินทางมาจากประเทศหรือพื้นที่เสี่ยงในช่วง 14 วันก่อนมีอาการ หรือมีคนใกล้ชิด คนในครอบครัวเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง หรือไม่

ในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เช่น ล้างจมูก, ใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก, รับประทานยาต้านฮิสทามีน หรือยาแก้แพ้ หรือใช้ยาต้านฮิสทามีนชนิดพ่นร่วมกับยาสเตียรอยด์พ่นจมูก อาการทางจมูก แล้ว ความผิดปกติในการรับกลิ่นควรจะดีขึ้น

แต่ถ้าได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะมีความผิดปกติในการรับกลิ่น และ/หรือ การรับรสที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด ควรให้แพทย์วินิจฉัยแยกโรค

อาการโรคไข้หวัดใหญ่

นอกจากนี้ อาการโรคไข้หวัดใหญ่ ยังพบมีอาการที่ทับซ้อนกับโรคโควิด-19 และโรคภูมิแพ้อีกเช่นกัน โดยข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ระบุว่า ไข้หวัดเป็นการติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน โดยมีลักษณะทางคลินิกที่สำคัญคือ มีไข้สูงแบบทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย

ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่สำคัญที่สุดโรคหนึ่งในกลุ่มโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ เนื่องจากเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก (pandemic) มาแล้วหลายครั้ง แต่ละครั้งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเกือบทุกทวีป ทำให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตนับล้านคน

การติดต่อของไข้หวัดใหญ่ จะแพร่เชื้อทางการหายใจ โดยจะได้รับเชื้อที่ออกมาปนเปื้อนอยู่ในอากาศเมื่อผู้ป่วยไอ จาม หรือพูด ในพื้นที่ที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น เช่น โรงเรียน โรงงาน การแพร่เชื้อจะเกิดได้มาก

นอกจากนี้ การแพร่เชื้ออาจเกิดโดยการสัมผัสฝอยละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย (droplet transmission) จากมือที่สัมผัสกับพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ แล้วใช้มือสัมผัสที่จมูกและปาก


ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ 1 วันก่อนมีอาการและจะแพร่เชื้อต่อไปอีก 3-5 วันหลังมีอาการในผู้ใหญ่ ส่วนในเด็กอาจแพร่เชื้อได้นานกว่า 7 วัน ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่แต่ไม่มีอาการก็สามารถแพร่เชื้อในช่วงเวลานั้นได้เช่นกัน