เปิดสถิติอุบัติเหตุรับเหมาก่อสร้าง กทม.อันดับ 1 ลูกจ้างประสบอันตรายมากสุด

ภาพจาก สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน)

เปิดสถิติอุบัติเหตุ 2 เดือน เกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับงานรับเหมา 3 เคส “กทม.” เสี่ยงเจ็บตายจากงานสูงสุด  ขณะที่ประเภทกิจการ “รับเหมาก่อสร้าง” เสี่ยงมากสุด

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเหตุการณ์นั่งร้านถล่ม ภายในไซต์งานโครงการ One Bangkok เมื่อเช้ามืดวานนี้ (16 ก.พ.) โดยมีผู้เสียชีวิตเป็นคนงานก่อสร้าง 3 ราย

ภาพจากข่าวสดออนไลน์

ต่อมา บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ผู้รับเหมา มีหนังสือชี้แจงความว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างขั้นตอนการเทคอนกรีต โดยบริษัทได้เคลื่อนย้ายคนงานที่กำลังปฏิบัติงานให้ได้รับความปลอดภัยโดยทันที อย่างไรก็ตามมีรายงานว่ามีคนงานสูญหายจำนวน 3 คน บริษัทจึงได้เร่งทำการค้นหาเพื่อให้ความช่วยเหลือโดยด่วน ต่อมาในช่วงเช้าของวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 ได้รับการยืนยันว่า คนงานที่สูญหายได้เสียชีวิตจำนวน 3 ราย

บริษัทขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างสุดซึ้งกับเหตุการณ์ดังกล่าวโดยบริษัทยืนยันว่าจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือดูแลและเยียวยาแก่ครอบครัวผู้สูญเสียอย่างเต็มกำลังและเร่งด่วนโดยทันที ขณะนี้บริษัทได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและสาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแล้วรวมทั้งจะเร่งดำเนินการกำหนดแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยในพื้นที่โดยเร่งด่วน

บมจ.อิตาเลียนไทย ชี้แจงกรณีไซต์ก่อสร้างถล่ม

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น “ประชาชาติธุรกิจ” ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังในช่วง 2 เดือนแรกในปีนี้ พบว่า อุบัติเหตุจากการก่อสร้างไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของปี โดยก่อนหน้าอุบัติเหตุไซต์งานถล่มครั้งล่าสุดเพียง 3 วัน (12 กุมภาพันธ์ 2565) ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่ามีเหตุการณ์หัวหน้าทีมฝ่ายตรวจสอบของบริษัทรับเหมาแห่งหนึ่งตกสะพานสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว – สำโรงเสียชีวิต เหตุเกิดที่ จ.สมุทรปราการ

ส่วนอีกเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา กับการเสียชีวิตของวิศวกรในพื้นที่ทองหล่อ จากอุบัติเหตุสายสลิงขาดจนเครนหล่น จนทำให้ บริษัท วิศวภัทร์ จำกัด ในฐานะรับเหมาที่รับผิดชอบ ต้องออกมาแถลงการณ์

ทั้ง 3 เหตุการณ์นี้เป็นอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งในทางสถิติแล้วถือเป็นประเภทอุตสาหกรรมที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดอีกด้วย

กทม.แชมป์อุบัติเหตุมากสุด

ตามรายงานสถานการณ์การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานฉบับล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 (รวบรวมระหว่างปี 2559 – 2563) จัดทำโดยสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า จำนวนลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานลดลง จากปี 2559 ซึ่งมีลูกจ้างประสบอันตราย 89,488 ราย แต่ในปี 2563 ลดลงเป็น 85,533 ราย (รายละเอียดตารางด้านล่าง)

ที่มา: สำนักงานประกันสังคม

สำหรับพื้นที่ที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นสูงสุด (2559-2563) 5 อันดับแรก ได้แก่

อันดับที่ 1 กรุงเทพมหานคร (กทม.) เฉลี่ย 5 ปี กทม.มีลูกจ้างประสบอันตราย จำนวน 118,458 ราย คิดเป็น 26.77% ต่อปีของจำนวนการประสบอันตรายทั้งหมด

อันดับที่ 2 สมุทรปราการ มีลูกจ้างประสบอันตรายจำนวน 60,552 ราย คิดเป็น 13.68% ต่อปี

อันดับที่ 3 ชลบุรี มีลูกจ้างประสบอันตรายจำนวน 29,944 ราย คิดเป็น 6.77% ต่อปี

อันดับที่ 4 สมุทรสาคร มีลูกจ้างประสบอันตรายจำนวน 27,806 ราย คิดเป็น 6.28% ต่อปี

และอันดับที่ 5 ปทุมธานี มีลูกจ้างประสบอันตรายจำนวน 19,467 ราย คิดเป็น 4.40% ต่อปี

ที่มา: สำนักงานประกันสังคม

รับเหมาก่อสร้างเสี่ยงสูงสุด

ปิดท้ายที่ประเภทกิจการที่มีจำนวนการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานสูงสุด จากข้อมูลระบุชัดเจนว่าช่วงปี 2559-2563 กิจการประเภทก่อสร้าง เป็นประเภทกิจการที่มีจำนวนการประสบอันตรายสูงสุด
พบมีลูกจ้างประสบอันตราย จำนวน 7,129 ราย คิดเป็น 7.97% ต่อปี ของจำนวนการประสบอันตรายทั้งหมด

อันดับที่ 2 กิจการการผลิตเครื่องดื่ม อาหาร ฯลฯ มีลูกจ้างประสบอันตราย จำนวน 6,158 ราย คิดเป็น 6.88% ต่อปี

อันดับที่ 3 ประเภทกิจการภัตตาคาร ร้านขายอาหาร โรงแรม มีลูกจ้างประสบอันตรายจำนวน 5,090 ราย คิดเป็น 5.69% ต่อปี

อันดับที่ 4 ประเภทกิจการการค้าเครื่องไฟฟ้า ยานพาหนะ มีลูกจ้างประสบอันตราย 5,026 ราย คิดเป็น 5.62% ต่อปี

และอันดับที่ 5 ประเภทกิจการการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก มีลูกจ้างประสบอันตราย 3,602 ราย คิดเป็น 4.03% ต่อปี

ที่มา: สำนักงานประกันสังคม