ศบค.เผยรัฐควักจ่ายค่ารักษาโควิดแล้วแสนล้าน รพ.เอกชนแพงกว่าเท่าตัว

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน

ศบค.เผยยอดป่วยใหม่ทะลุเกินเส้นสถานการณ์จริงไปแล้ว ขณะที่ผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่อัตราการใช้เตียงยังรับไหว ระบุใช้งบฯจ่ายค่ารักษาผู้ป่วยโควิดไปแล้วแสนล้าน เผยค่าใช้จ่ายรพ.เอกชนเฉลี่ยแพงกว่าเท่าตัว สปสช.เตรียมปรับใหม่ 1 มีนาคมนี้ คาดมาตรการปรับเรื่องการเข้าราชอาณาจักร จังหวัดท่องเที่ยวได้ประโยชน์ ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้นักท่องเที่ยว

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อประจำวันว่า สถานการณ์ทั่วโลกวันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อรวม 428,195,806 ราย อาการรุนแรง 80,258 ราย รักษาหายแล้ว 356,008,302 ราย และเสียชีวิต 5,924,968 ราย

ส่วนอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1.สหรัฐอเมริกา จำนวน 80,270,563 ราย 2.อินเดีย จำนวน 42,865,431 ราย 3. บราซิล จำนวน 28,351,876 ราย 4.ฝรั่งเศส จำนวน 22,401,406 ราย 5.สหราชอาณาจักร จำนวน 18,695,449 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 32 จำนวน 2,770,793 ราย

เปรียบเทียบประเทศอื่น ไทยเสียชีวิตต่ำ

“กรณีการเสียชีวิตจะเป็นหลักสำคัญเพื่อจะดูว่าโรคนี้รุนแรงหรือไม่รุนแรง โดยวันนี้มีผู้เสียชีวิต 7,760 ราย หรือคิดเป็น 1.38% ครั้งนี้การป่วยเยอะ แต่การเสียชีวิตน้อย ซึ่งแนวโน้มการเสียชีวิตลดลง เช่นรัสเซีย เยอรมนี บราซิล เกาหลีใต้ หรือของไทยถ้าเทียบเป็นรายสัปดาห์อัตราการเสียชวิตจะอยู่ที่ 3 ราย/1ล้านประชากร/สัปดาห์ ดีกว่าอีกหลายประเทศ เช่นญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ที่มากกว่าไทย”

สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ วันนี้ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 มีผู้ป่วยรายใหม่ 21,232 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 547,358 ราย หายป่วยแล้ว 405,964 ราย และ เสียชีวิตสะสม 1,032 ราย คิดเป็น 0.19% ยังถือว่าต่ำอยู่ โดยวันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 39 คน

ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,770,793 ราย หายป่วยแล้ว 2,574,458 ราย เสียชีวิตสะสม 22,730 ราย หรือคิดเป็น 0.82% ก็ยังถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำอยู่

สำหรับผู้ป่วยรักษาตัวมีอยู่จำนวน 173,605 ราย เป็นการรักษาตัวในโรงพยบาล 71,414 ราย รพ.สนามและอื่นๆ 102,191 ราย ผู้ป่วยอาการหนัก 882 ราย ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 229 ราย

“ตัวเลขนี้จะผกผันไปกับการติดเชื้อที่สูง ตรงนี้นำเรียนว่า ต้องฝากให้ทุกท่านที่ยังแข็งแรงดีอยู่ หรือรวมทั้งกลุ่มเปราะบาง ต้องรีบไปรับวัคซีน เพราะเชื้ออาจทำให้กลุ่มเปราะบางมีอาการขึ้นมาได้” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว

ขณะที่ผู้มารับวัคซีน ณวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 57,958 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 42,977 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 168,538 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 – 22 กุมภาพันธ์ 2565 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 122,185,472 โดส

  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 53,221,513 ราย
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 49,539,848 ราย
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 19,424,111 ราย

“กทม.-อีสาน” เสียชีวิตมากสุด

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันนี้ อันดับ 1. เป็นกทม. 3,079 ราย ชลบุรี 1,369 ราย สมุทรปราการ 990 ราย นครศรีธรรมราช 782 ราย นนทบุรี 724 ราย ภูเก็ต 648 ราย นครราชสีมา 587 ราย สมุทรสาคร 573 ราย ระยอง 481 ราย และสุพรรณบุรี 474 ราย

ส่วนผู้เสียชีวิต 39 รายวันนี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ในกทม.และภาคอีสาน ในกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรังรวม 36 ราย คิดเป็น 87% และเป็นผู้ไม่มีประวัติเป็นโรคเรื้อรัง 5 ราย โดยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 9 ราย นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาครรวม 7 ราย

ภาคอีสานที่ศรีสะเกษ นครราชสีมา อุบลราชธานี เลย กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิและมหาสารคาม รวม 12 คน แม่ฮ่องสอนและพิจิตร 2 คน ภูเก็ต ชุมพร ตรัง พังงา รวม 6 คน ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและนครนายกรวม 3 คน

สำหรับเส้นการคาดการณ์กับเส้นสถานการณ์จริงตอนนี้ เส้นสถานการณ์จริง(สีน้ำเงิน) ทะลุเส้นสีส้มขึ้นไปแล้ว เนื่องจากมาตรการที่เราต้องการให้ท่านผ่อนคลายกิจการ กิจกรรม อันนี้เป็นผลที่เราต้องร่วมมือกัน การติดเชื้อถึงแม้ไม่ทำให้อาการหนักมากนัก แต่ในบางคนที่เป็นกลุ่มเปราะบางจะกลายเป็นผู้ที่มีอาการหนัก

“ซึ่งผอ.ศบค.ท่านนายกรัฐมนตรี ก็ย้ำขอให้ทุกคนช่วยกัน และยังคงให้ไม่ประมาท การ์ดอย่าตก เหมือนเดิม ขณะที่เส้นกราฟของผู้เสียชีวิต หรือเส้นสีแดงก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาเป็นหลักหลายหมื่นคน”

อัตราครองเตียงรับไหว ห่วงแจ้งโทรสายด่วนยาก

ส่วนเรื่องการใช้เตียง นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวว่าอัตราการครองเตียงโดยภาพรวมของทั้งประเทศยังไม่มาก อัตราการครองเตียงยังอยู่ที่ 49.1% หรือเกือบ 50% เพราะฉะนั้นเราต้องกันเตียงเหล่านี้ไว้ให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง หรือผู้ป่วยวิกฤต หรือป่วยหนัก หรือผู้ป่วยระดับสีเหลืองหรือสีแดง ส่วนผู้ป่วยอาการน้อยเราอยากให้อยู่ในศูนย์แยกกักของชุมชน ปัจจุบันมีประมาณ 21,120 ราย และอยู่ในระบบ Home Isolation 47,373 ราย

สำหรับการโทรเข้ามาแจ้งแล้วสายด่วนมีความคับคั่งก็ขอให้หน่วยที่เกี่ยวข้องได้ช่วยกัน เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้ได้รับการดูแลอย่างดี โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. ขณะที่เรื่องการแบ่งระดับพื้นที่สีทั่วราชอาณาจักร ณ ปัจจุบันยังเหมือนเดิม

ใช้งบฯรักษาโควิดไปแล้วแสนล้าน เอกชนแพงกว่า 2 เท่า

นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า เรื่องที่ 2 การจ่ายค่าบริการรักษาโควิด ปี 2563 จ่ายไป 3,841 ล้านบาท ปี 2564 จ่ายไป 97,747 ล้านบาท และปี 2565 จ่ายไปแล้ว 32,488 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการของบเพิ่มอีก 51,065 ล้านบาท(ตามตาราง)

โดยพบว่ารพ.รัฐ 3,506 แห่ง มีการเบิกจ่ายไป 70,994 ล้านบาท ของเอกชน 672 แห่ง เบิกจ่ายไป 27,160 ล้านบาท รวมแล้วจ่ายไป 98,154 ล้านบาท หรือเกือบแสนล้านบาท

ขณะที่ค่าเฉลี่ยการจ่ายค่ารักษาพยาบาลแบ่งตามระดับอาการจะพบว่า ถ้าเป็นผู้ป่วยสีเขียวของภาครัฐจะอยู่ที่ 23,248 บาท/ ราย เอกชนจะอยู่ที่ 50,326 บาท/ราย หรือมากกว่าเท่าตัว ส่วนผู้ป่วยสีเหลือง รพ.รัฐอยู่ที่ 81,844 บาท/ราย เอกชนอยู่ที่ 92,752 บาท และผู้ป่วยสีแดงของรพ.รัฐจะอยู่ที่ 252,182 ราย ของเอกชนจะอยู่ที่ 375,428 บาท/ราย

แต่ในวันที่ 1 มีนาคม 2565 นี้สปสช.จะขอปรับค่าเฉลี่ย เนื่องจากผู้ป่วยจากโอมิครอนมีอาการไม่รุนแรง โดยผู้ป่วยสีเขียวจะอยู่ที่ 12,000 บาท/ราย สีเหลืองเฉลี่ย 69,300 บาท/ราย และสีแดงอยู่ที่ 214,400 บาท/ราย

สำหรับเงินที่ใช้ในผู้ป่วยฉุกเฉินหรือยูเซป พบว่าเป็นผู้ป่วยสีเขียว 88% ผู้ป่วยสีเหลือง 11% และผู้ป่วยสีแดง 1%

“จะเห็นว่ายูเซปมีกลุ่มสีเขียวที่ไปใช้บริการถึง 88% ซึ่งควรจะเป็นผู้ป่วยสีแดง และสีเหลือง ตรงนี้รัฐยังคงให้อยู่ แต่จะให้ปรับเกณฑ์หรือจะปรับเป็น ยูเซปพลัส ก็ให้เสนอขึ้นมา เพื่อให้พี่น้องประชาชนไม่เดือดร้อน และได้รับสิทธิในการดูแลในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งทางเลขาฯสปสช.ต้องไปทำการบ้านมา และมานำเรียนในที่ประชุมอีกครั้ง” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว

ส่วนเรื่องที่ 3 มาตรการการเปิดเรียนออนไซต์ที่จะต้องอยู่ได้กับโควิดในสถานศึกษา ซึ่งในความจริงแล้ว ข้อมูลการติดเชื้อในเด็กอายุ 0-19 ปี ไม่มาก แค่ 21.9% อัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตก็ต่ำ ขณะที่มาตรการก็ออกมาพอสมควร โดยเรียนออนไซต์เป็นส่วนใหญ่ มีการทำแซนด์บ็อกซ์ เซฟตี้โซนในโรงเรียน รวมถึงมี 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม 7 มาตรการเข้ม มีการเตรียมความพร้อมกันมาระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงศึกษากันมาพอสมควร รวมถึงแผนเผชิญเหตุ

“โดยรวมเราจะพยายามไม่ปิดโรงเรียน เช่นหากเป็นโรงเรียนประจำถ้าเสี่ยงต่ำ เรียนได้เลยเหมือนปกติ ขณะที่เสี่ยงสูงก็ยังเรียนได้ ถ้าสามารถที่จะจัดสถานที่เป็น Quarantine Zone ได้ ซึ่งสามารถทำได้ทั้งโรงเรียนประจำและโรงเรียนไปกลับ ส่วนการสอบก็ไม่จำเป็นต้องงด เพราะเหมือนไข้หวัดยังสามารถไปสอบได้ ถ้าไม่ป่วยหนัก ที่สำคัญคือจัดที่สอบให้เป็นสถานที่โล่ง มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกจะดีมาก” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว

ส่วนเรื่องที่ 4 แผนการบริหารจัดการวัคซีน โดยส่วนใหญ่นักเรียนจะอยู่ในโรงเรียน และฉีดที่โรงเรียน ซึ่งต้องเร่งฉีดวัคซีนก่อนที่จะปิดเทอม และฉีดตามสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด รวมถึงสูตรทางเลือกด้วย

ปรับมาตรการตรวจโควิด ลดค่าใช้จ่าย ช่วยจังหวัดท่องเที่ยว

เรื่องที่ 5 การปรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรมีการปรับเล็กน้อย จากเดิมที่ต้องตรวจ RT-PCR ในวันที่ 1(วันแรก) และวันที่ 5 ตอนนี้ปรับเป็นตรวจ RT-PCRในวันแรก และวันที่ 5 ตรวจเป็น ATK แทน โดยกรุงเทพมหานคร ชลบุรี ภูเก็ต เป็น 3 จังหวัดที่จะได้ประโยชน์จากการปรับมาตรการ เพราะมีผู้ที่เดินทางเข้ามาหลายแสนคน นี่คือสิ่งที่จังหวัดเหล่านี้ขอขึ้นมา ซึ่งก็กำลังเร่งอนุมัติผู้ยื่นขอผ่าน Thailand Pass อยู่

“ตรงนี้จะลดค่าใช้จ่ายผู้ที่ต้องนอนอยู่โรงแรม SHA PLUS 2 ช่วงได้ เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับการร้องขอมาว่าขอลดค่าใช้จ่ายลงหน่อยได้ไหม ซึ่งตรงนี้ก็ได้แล้ว แต่ท่านจะต้องติดตั้งระบบหมอชนะเข้าไป และต้องส่งผลตรวจ ATK มาด้วย “ นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว

นอกจากนี้จะเปิดให้มีการเดินทางเข้ามาทางบกเพิ่มเติมเช่นที่อ.สะเดา จ.สงขลา และที่หนองคาย อุดรธานีรวมถึงเรื่องค่าประกันภัยจากเดิม 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งบอกว่าแพงไป เลยขอปรับเป็นไม่น้อยกว่า 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทางผอ.ศบค. ได้ให้ทางเลขาสมช. ไปดูในรายละเอียด เช่นทางบกที่เข้ามาวันเดียวจะต้องดำเนินการกันอย่างไร ส่วนที่เข้ามาทางน้ำหรือทางเรือยอชต์ก็ใช้ระเบบในรูปแบบที่ใกล้เคียงกัน (ดูกราฟิกประกอบ)