สงขลาเข้ม 1 เม.ย.เป็นต้นไป เดินทางเข้า-ออกจังหวัดต้องฉีดวัคซีน 3 เข็ม

เริ่ม 1 เม.ย. 2565 จ.สงขลา กำหนดเข้ม เดินทางเข้า-ออก ต้องได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสงขลาเพื่อติดตามสถานการณ์และมาตรการป้องกันโควิด-19 ซึ่งวันนี้ (22 ก.พ. 2565) พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 212 ราย ทำให้มีผู้ป่วยยืนยันสะสม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-22 กุมภาพันธ์ 2565 รวม 4,970 ราย กำลังรักษาตัว 1,222 ราย รักษาหายกลับบ้าน 189 ราย และเสียชีวิตสะสม 22 ราย

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่ดูแลได้ ซึ่งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เข็มที่ 3 ในประชาชนทุกกลุ่มนั้น มีความสำคัญที่จะต้องดำเนินอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างความปลอดภัยให้ครอบคลุมทุกพื้นที่

เจษฎา จิตรัตน์
เจษฎา จิตรัตน์

รวมถึงยังต้องรักษามาตรการ V-U-C-A คือ ฉีดวัคซีน ป้องกันตนเองตลอดเวลา ควบคู่ไปกับการใช้มาตรการ COVID Free Setting และตรวจ ATK อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากภาครัฐและประชาชนร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง เชื่อว่าโรคโควิด-19 จะลดความรุนแรงลงและเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ทำให้ประเทศขับเคลื่อนต่อไปได้ และประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติมากขึ้น

ในที่ประชุมได้มีการรายงานผลการปฏิบัติงานบังคับใช้กฎหมาย กรณีฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสงขลา ในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ โดยได้บูรณาการความร่วมมือระหว่างฝ่ายปกครอง ตำรวจ สาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เข้าตรวจสอบพื้นที่

และสามารถจับกุมผู้ลักลอบเล่นการพนันมั่วสุมได้ จำนวน 22 คดี ผู้ต้องหา 149 ราย และจับกุมร้านอาหารเปิดเกินเวลาที่กำหนด และลักลอบจำหน่ายเหล้าเบียร์ให้ลูกค้า รวมถึงเสพสารเสพติดภายในร้าน จำนวน 23 คดี ผู้ต้องหา 185 ราย พร้อมนำผู้กระทำความผิดไปสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายข้อหาฝ่าฝืนประกาศคำสั่งจังหวัดและฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

จากแนวโน้มการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ประชุมจึงมีมติให้ จ.สงขลา ประกาศมาตรการเข้มในการคัดกรองสำหรับประชาชนที่จะเดินทางเข้า-ออกพื้นที่ โดยจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบ 3 เข็มแล้วเท่านั้น เช่นเดียวกับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ผู้ร่วมกิจกรรมจะต้องฉีดวัคซีน 3 เข็ม จัดสถานที่แบบเว้นระยะห่างทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และสร้างความปลอดภัย

สำหรับการเตรียมความพร้อมสำหรับการรับนักท่องเที่ยว โดยภาพรวม จ.สงขลา ได้ร่วมกับภาคเอกชนในการปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด

รวมถึงให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่น จัดตั้งศูนย์แยกกักผู้ป่วยในชุมชน หรือ community isolation ตามโครงการ “1 CI 1 ท้องถิ่น” เพื่อรองรับผู้ป่วยให้ทันกับการแพร่ระบาดของโรค

ซึ่งขณะนี้ จ.สงขลา มีศูนย์แยกกักผู้ป่วยในชุมชนทั้ง 16 อำเภอ รวม 92 แห่ง รองรับได้ 6,844 เตียง โดยเปิดใช้บริการเพียง 22 แห่ง และรองรับได้ประมาณ 3,000 กว่าเตียง