สภาพัฒน์เผย 2 ปี เบิกจ่ายค่ารักษาจากโควิดพุ่ง 4.68 แสนล้านบาท

ผู้ป่วยโควิด
FILE PHOTO : Jack TAYLOR / AFP

สภาพัฒน์เผย 2 ปี เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากโควิดพุ่ง 4.68 แสนล้านบาท ส่วน “สาธารณสุข” ขอใช้งบฯเงินกู้อีก 5 หมื่นล้านบาท ชี้ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ยังมีวงเงินเหลือ 1 แสนล้านบาท

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ค่าเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากโควิดในภาพรวม 2 ปีที่ผ่านมา รวมกว่า 4.68 แสนล้านบาท แบ่งเป็นปี 2563 จำนวน 1.94 แสนล้านบาท และปี 2564 อีกจำนวน 2.74 แสนล้านบาท โดยเป็นการใช้งบประมาณจากการใช้เงินกู้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ยังมาจากส่วนอื่น ๆ เช่น งบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และงบฯกลาง

ดนุชา พิชยนันท์
ดนุชา พิชยนันท์

ทั้งนี้ ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ยังได้ทำเรื่องขอใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลโควิดให้กับประชาชนอีกจำนวน 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เป็นค่ารักษาที่จ่ายไปแล้วในช่วง พ.ย. 2564-ม.ค. 2565 จำนวน 32,000 ล้านบาท และเป็นค่ารักษาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือน ก.พ.-ก.ย. 2565 อีก 18,000 ล้านล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้

สำหรับความคืบหน้าการใช้จ่ายเงินกู้ใน พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาทนั้น ได้มีการอนุมัติไปแล้ว 3.9 แสนล้านบาท เหลือเงินอยู่ประมาณ 1 แสนล้านบาท ใช้สำหรับด้านสาธารณสุข 1.9 แสนล้านบาท, เพื่อการเยียวยาผลกระทบจากโควิด 1.6 แสนล้านบาท, และเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 1.2 แสนล้านบาท

ขณะที่การใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่สิ้นสุดไปแล้วในปี 2564 มีการอนุมัติเงินกู้แล้ว 9.82 แสนล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 9.44 แสนล้านบาท และคาดว่าจะเบิกจ่ายได้ครบในเดือน พ.ค. อาจจะมีล่าช้าไปบ้างจนถึงเดือน ก.ย. 2565 ซึ่งเป็นส่วนน้อย โดยสรุปการใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ใช้ในแผนด้านสาธารณสุข จำนวน 6.3 หมื่นล้านบาท, แผนเพื่อการเยียวยาผลกระทบจากโควิด 7.9 แสนล้านบาท และแผนเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 2.9 แสนล้านบาท