สภาพัฒน์คาดปี’65 จีดีพีโต 4% จับตาเงินเฟ้อฉุดเศรษฐกิจ

Photo by Jack TAYLOR / AFP

สภาพัฒน์คาดปี’65 จีดีพีโต 4% คาดไตรมาสแรกยังขยายตัวได้ดี เปิด 5 ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจ จับตาเงินเฟ้อ พร้อมถก “คลัง-ธปท.” หาทางออกแก้หนี้ครัวเรือน

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวในช่วง 3.5-4.5% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 4% เนื่องจากการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ในประเทศ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 5 ล้านคน รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า และแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนของภาครัฐ

ขณะที่การประมาณการสถานการณ์เศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2565 จากการติดตามตัวเลขดัชนีรายเดือนที่ออกมาในเดือน ม.ค. 2565 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี หากในช่วงปลายไตรมาสไม่มีเหตุการณ์เข้ามาดิสรัปชั่น ทำให้เศรษฐกิจชะงักไป อย่างไรก็ดี เท่าที่ประเมินขณะนี้ยังไม่มีสถานการณ์ดังกล่าว ก็คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดี

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่เป็นข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจในปีนี้ เป็นเรื่อง 1.เงินเฟ้อ เป็นแรงกดดันเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานและราคาสินค้า โดยคาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 1.5-2.5% ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย ทั้งนี้ เงินเฟ้อขึ้นอยู่กับนโยบายภาคการเงินจะดำเนินไปในลักษณะเช่นไร แต่ที่ผ่านมาหากเศรษฐกิจไทยเปราะบางอยู่ ภาคการเงิน หรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็จะมีการพิจารณาก่อนที่จะออกมาตรการทางการเงินมารองรับ

2.การกลายพันธุ์ของไวรัสซึ่งมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน 3.เงื่อนไขฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจภายใต้ภาวะแรงงานยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ซึ่งภาวะหนี้สินของประชาชนที่อยู่ในระดับสูงจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และความสามารถในการชำระหนี้ภายใต้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในระยะต่อไป

“การแก้หนี้ภาคครัวเรือน สภาพัฒน์จะมีการหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง และ ธปท. ซึ่งจะเป็นลักษณะการพักหนี้ต่อไปหรือไม่นั้น กังวลว่าจะเกิด Moral Hazard ในระบบ ซึ่งจะเข้าไปดูในแง่การพุ่งเป้าไปให้ตรงจุด โดยจะเข้าไปดูในเรื่องข้อมูลก่อนจึงจะสามารถระบุได้ว่าจะพุ่งเป้าช่วยเหลือไปที่กลุ่มใดบ้าง”

4.แรงขับเคลื่อนจากการขยายตัวของภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังมีความเสี่ยง และ 5.ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก ได้แก่ ความไม่แน่นอนจากการระบาดของโควิด การเพิ่มขึ้นของแรงกดดันเงินเฟ้อส่งผลให้ธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลังส่งสัญญาณที่จะดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ความผันผวนของตลาดการเงิน อัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งเงินลงทุนระหว่างประเทศ ทิศทางการดำเนินนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และเสถียรภาพทางการเมืองระหว่างประเทศต่าง ๆ