นโยบายหว่านเงินแบบใหม่ ประยุทธ์ ยิ่งลักษณ์ ทักษิณ แข่งกันแจก

ประยุทธ์

หากกล่าวว่า “รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร” เป็น “เจ้าตำรับ” นโยบายประชานิยม “คู่ปรับ-คู่ต่อกร” คงหนีไม่พ้น “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จนถูกกล่าวขานว่าเป็น “ประชานิยมอย่างอ่อน” แต่เนื้องาน-เม็ดเงินกว้างขวาง-ทั่วฟ้า แต่ไม่ทั่วถึง เช่น โครงการคนละครึ่ง 4 เฟส จนต้องร้องขอ

ล่าสุดโครงการรถยนต์ (ไฟฟ้า) คันแรก ที่ดูเหมือนว่าจะ “ก๊อบปี้” นโยบาย “รถยนต์คันแรก” ของรัฐบาลผู้น้อง-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไฟเขียว มาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV)

สำหรับรถยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้า 3 กลุ่ม คือ เงินอุดหนุนรถยนต์และรถกระบะคันละ 70,000-150,000 บาทต่อคัน รถจักรยานยนต์ 18,000 บาทต่อคัน

ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8% เป็น 2% และรถกระบะเป็น 0% ลดอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศและนำเข้าทั้งคัน (CBU) สูงสุด 40% สำหรับรถยนต์ถึงปี 2566 ยกเว้นอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตในประเทศ (CKD) จำนวน 9 รายการ

โดยอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบฯกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 3,000 ล้านบาท รวมถึงจัดหาแหล่งงบประมาณปี พ.ศ. 2566-2568 วงเงิน 40,000 ล้านบาท

เทียบกับมาตรการ “รถยนต์คันแรก” ของ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณ พ.ศ. 2556 จำนวน 30,000 ล้านบาท เพื่อคืนเงินสำหรับรถยนต์คันแรกเท่ากับภาษีจ่ายจริงแต่ไม่เกินคันละ 100,000 บาท

สวนทางกับราคาน้ำมันขยับขึ้นรายวัน จน ครม.ต้องยอมถอย-ลดแรงเสียดทานจากเสียงม็อบรถบรรทุก โดยการเห็นชอบกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ… เพื่อปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตร ระยะเวลา 3 เดือน หรือจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ให้สูญเสียรายได้ 17,100 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 “โทนี่ วู้ดซัม” เจ้าพ่อประชานิยม พูดในรายการ Care Talk x Care Club House ตอนหนึ่งว่า “ภาษีสรรพสามิตผมเข้าใจ ไหน ๆ ก็กู้มาเป็นล้านล้าน อย่าแจกเพลิน ตัดลงไปเลย อย่าเพิ่งไปคืนกองทุนน้ำมันฯ ลดราคาก่อน แปะไว้ อีกหน่อยน้ำมันราคาลงค่อยเอาคืน จะเดือดร้อนทำไม ติดหนี้ 5 หมื่นล้านก็ไม่เห็นเป็นไร เอามาลดให้ประชาชนก่อน”

นอกจากการลดภาษีสรรพสามิตลิตรละ 3 บาท 3 เดือนแล้ว “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์” ยัง “เปิดวาล์ว” กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กรณีฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบ 20,000 ล้านบาท “หรือติดลบตามจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ตามมาตรา 26 วรรคสามแห่ง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 2562” ให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหยุดการชดเชย

นอกจากนี้ยังทบทวนกรอบวงเงินกู้จากเดิม “จำนวนเงินไม่เกิน 20,000 ล้านบาท” แก้ไขเป็น “ไม่เกินจำนวน 40,000 ล้านบาท”

“สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี-รมว.พลังงาน ตอบกระทู้ถามสดในสภา เรื่อง วิกฤตน้ำมันราคาแพง และแนวทางแก้ไข เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ว่า จนถึงวันนี้กองทุนน้ำมันฯติดลบไปแล้ว 1.5 หมื่นล้านบาท และยังเตรียมที่จะกู้เงินอีก 2-3 หมื่นล้านบาท อยู่ในกระบวนการกู้เงิน”

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ พ.ศ. …. เป็นจำนวนไม่เกิน 30,000 ล้านบาท (ปัจจุบันกำหนดไว้ 20,000 ล้านบาท) และจะดำเนินการกู้เงินเพิ่มเติมวงเงิน 10,000 ล้านบาท เริ่มเบิกเงินกู้ประมาณเดือนมิถุนายน 2565

ปี 2565 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จึงเป็นปีแห่งรายจ่าย-ไม่มีรายได้เข้ารัฐ

นับรวมถึงโครงการลงทะเบียนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ “รอบใหม่” ที่ตั้งแท่นเปิดรับสมัคร “รอบสอง” จาก 14 ล้านคน เป็น 20 ล้านคน ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2565-ปลายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนครบวาระ-เลือกตั้งใหญ่

เป็นการวางหลักเกณฑ์ใหม่ที่เข้มข้น-รัดตึง เพื่อขยายฐานคนจน-ริบสิทธิ์ “จนไม่จริง” อาทิ ไม่เป็น ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช ผู้ต้องขัง ผู้ถูกกักกัน ผู้ต้องกักขัง บุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ฯ ข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ ผู้รับบำเหน็จรายเดือน ผู้รับบำนาญปกติ หรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ ข้าราชการการเมือง ส.ส. ส.ว. จากเดิม ไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช ผู้ต้องขัง เท่านั้น

คิดจากรายได้ครอบครัว ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี วงเงินกู้บ้าน ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท วงเงินกู้รถ ไม่เกิน 1 ล้านบาท ต้องไม่มีบัตรเครดิต

ทว่าคนในรัฐบาลให้ความหวังว่า จะมี “ท็อปอัพ” เพิ่มขึ้นจากสิทธิประโยชน์เดิม

ก่อนหน้านี้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ได้ขยายเพดานหนี้สาธารณะจากเดิมร้อยละ 60 ทะลุเพดานหนี้เป็นร้อยละ 70 เพื่อ “เปิดช่อง” กู้เงิน

ขณะเดียวกันยัง “ทะลุเพดานหนี้” ตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 จากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 35 เพื่อจ่ายเงินประกันรายได้พืชเศรษฐกิจ-การเมือง โดยเฉพาะข้าว-ยางพารา

นโยบายประชานิยมของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาในช่วงคะแนนนิยมดำดิ่ง-คาบลูกคาบดอกกับการเลือกตั้ง เป็น “ประชานิยมฉบับไฮบริด” กล้า ๆ กลัว ๆ ไม่สุดโต่งเทียบชั้นรัฐบาลพี่-น้องชินวัตร