รีดภาษี “รถใช้น้ำมัน” โปะอีวี รื้อโครงสร้าง เลิกส่งเสริม “อีโคคาร์”

รัฐยกเครื่องโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ ปรับขึ้นภาษีรถเครื่องยนต์สันดาปโปะอีวี หลังมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าส่อทำรายได้รัฐวูบปีละ 1,800 ล้านบาท ขยับเกณฑ์คุมปล่อย CO2 เข้มมากขึ้น “ปล่อยมลพิษมาก ภาษีแพงขึ้น”

จ่อเพิ่มพิกัดใหม่หนุนผลิตรถ “fuel cell” ภาษีแค่ 1% ต่ำกว่ารถอีวี ขณะที่ยกเลิกส่งเสริม “อีโคคาร์” ผลักดันผู้ผลิตลงทุนอีวีเต็มตัว อธิบดีสรรพสามิตแจงค่ายรถเริ่มจัดโปรฯ ลดราคา “รถอีวี” มี.ค.นี้

รื้อโครงสร้างภาษีดันอีวี

สัปดาห์ที่ผ่านมาแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นอกจากมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งอนุมัติหลักการไปเมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น

พร้อมกันนี้ ทางกระทรวงการคลังจะต้องเสนอโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ให้ ครม.เห็นชอบด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการส่งเสริมให้เกิดการผลิต การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ให้เป็นไปตามเป้าหมายการผลิต และการใช้ยานยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicle : ZEV) ของยานยนต์ทุกประเภท ซึ่งมุ่งหวังให้ราคารถยนต์ และรถจักรยานยนต์ประเภทรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) สามารถแข่งขันได้

“สำหรับแพ็กเกจจูงใจซื้อรถอีวีปี 2565-2568 ที่มีการอุดหนุนสูงสุด 1.5 แสนบาทต่อคัน พร้อมกับมาตรการลดภาษี ซึ่งน่าจะเริ่มได้ภายในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า โดยต้องให้มีการประกาศโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ออกมาก่อน เนื่องจากโครงสร้างภาษีรถยนต์ที่ใช้อยู่ปัจจุบันจะสิ้นสุดปี 2568 ดังนั้นจะต้องประกาศโครงสร้างใหม่ออกมา เนื่องจากมีบางส่วนที่เกี่ยวข้องกัน รวมทั้งเป็นการให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ ตามเป้าหมายของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) มีเป้าหมายการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ารวมทุกประเภทในปี 2568 จำนวน 1,055,000 คัน แบ่งเป็น รถยนต์/รถปิกอัพ 402,000 คัน รถจักรยานยนต์ 622,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 31,000 คัน และในปี 2578 ให้เพิ่มขึ้นเป็น 15,580,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพ 6,400,000 คัน รถจักรยานยนต์ 8,750,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 430,000 คัน

ขึ้นภาษีรถสันดาปโปะอีวี

แหล่งข่าวกล่าวว่า กระทรวงการคลังประเมินว่า หากมีการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์อีวีในปี 2565-2568 ทดแทนรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในตามเป้าหมายของบอร์ดอีวี จะส่งผลกระทบทำให้รายได้ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ลดลงในช่วงปี 2565-2568 ตกปีละประมาณ 1,800 ล้านบาท ซึ่งหากจะทำให้รายได้ภาษีสรรพสามิตรถยนต์กลับมาใกล้เคียงกับที่จัดเก็บได้ในปีงบประมาณ 2564 จำนวน 90,152 ล้านบาท จะต้องทยอยปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภทเครื่องยนต์สันดาปภายใน ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป

“โครงสร้างภาษีใหม่รถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป จะต้องมีอัตราภาษีที่สูงขึ้น เพื่อให้ผู้ผลิตหันมาผลิตรถอีวีมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ช่วยให้มีรายได้ภาษีมาชดเชยส่วนที่หายไปจากการส่งเสริมการใช้รถอีวี โดยจะมีการปรับภาษีรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในเพิ่มขึ้น ด้วยการปรับเกณฑ์เข้มเพื่อให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ลดลง จากเดิมกำหนดขั้นต่ำปล่อย CO2 อยู่ที่ 150 กรัมต่อกิโลเมตร ก็อาจจะให้ลดการปล่อย CO2 เหลือ 100 หรือ 120 กรัมต่อกิโลเมตร ซึ่งการปรับโครงสร้างภาษีจะทำให้มีรายได้สรรพสามิตรถยนต์เพิ่มขึ้น ทดแทนภาษีรถยนต์อีวีที่ต้องการส่งเสริม” แหล่งข่าวกล่าว

โดยที่เห็นภาพชัดเจนในการปรับขึ้นอัตราภาษี คือในส่วนของรถกระบะดัดแปลง(พีพีวี) จากอัตราภาษีสรรพสามิตปัจจุบันอยู่ที่ 25% โดยมีเกณฑ์การปล่อย CO2 ไม่เกิน 200 กรัม/กิโลเมตร และอัตราภาษี 30% สำหรับรถพีพีวีที่มีการปล่อย CO2 มากกว่า 200 กรัมต่อกิโลเมตร โดยอัตราภาษีใหม่จะอยู่ในช่วง 18-50% พร้อมกับเกณฑ์ที่จะต้องปล่อย CO2 ลดลงด้วย

ปรับโครงสร้าง

เพิ่มพิกัดใหม่หนุน Fuel Cell

แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากการส่งเสริมการผลิตและการใช้รถยนต์อีวีที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่แล้ว ทางกระทรวงการคลังยังได้เพิ่มพิกัดภาษีสำหรับรถยนต์ประหยัดพลังงานที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell) เข้ามาด้วย ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์ โดย fuel cell นี้จะมีเทคโนโลยีที่ต้องลงทุนมากกว่ารถอีวีแบตเตอรี่ ดังนั้น อัตราภาษีก็จะกำหนดให้ต่ำกว่ารถอีวี โดยรถยนต์นั่งที่เป็น fuel cell กำหนดอัตราภาษีไว้ที่ 1% ส่วนรถอีวีจะอยู่ที่ 2%

ยกเลิกส่งเสริมอีโคคาร์

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ โครงสร้างภาษีใหม่จะต้องเลิกส่งเสริมรถยนต์อีโคคาร์ เพราะไม่เช่นนั้นผู้ผลิตรถยนต์ก็จะไม่ยอมหันมาผลิตรถยนต์อีวี เนื่องจากปัจจุบันภาษีรถยนต์อีโคคาร์จัดเก็บภาษีในอัตราต่ำมาก คือถ้าปล่อย CO2 มากกว่า 100 กรัมต่อกิโลเมตรขึ้นไป จะเสียภาษีแค่ 17% และหากปล่อย CO2 น้อยกว่า 100 กรัมต่อกิโลเมตร จะเสียภาษีเพียง 12% เท่านั้น

“ถ้ายังส่งเสริมอีโคคาร์อยู่ ผู้ผลิตอาจจะยังไม่ยอมไปผลิตรถอีวี เพราะยังอยากใช้เทคโนโลยีเดิมอยู่ ดังนั้นหลังปี 2568 ต้องเลิกส่งเสริมอีโคคาร์ด้วย ก็จะทำให้อัตราภาษีไปเข้าอยู่ในหมวดรถยนต์นั่ง ซึ่งภาษีจะอยู่ในช่วง 13-38% ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการที่จะปรับลดการปล่อยมลพิษ” แหล่งข่าวกล่าว

ภาษีใหม่เข้า ครม. 22 ก.พ.นี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า คาดว่าวันที่ 22 ก.พ.นี้ ที่ประชุม ครม.จะมีการพิจารณาอนุมัติปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการใช้รถอีวีมากขึ้น โดยจะมีภาษีรถยนต์บางประเภทที่ปรับอัตราขึ้นในทันที และมีบางประเภทที่ยังอยู่ในมาตรการส่งเสริมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการในปี 2568 หลังจากนั้นก็จะทยอยปรับอัตราภาษีเพิ่มขึ้น ได้แก่ รถยนต์ไฮบริด และรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด รถอีวี (BEV) เป็นต้น

“การปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ครั้งนี้จะถือว่าคิดอัตราภาษีเพิ่มขึ้น โดยดูจากการปล่อย CO2 และจะเป็นการคิดอัตราภาษีก้าวหน้า เช่น 2-4 ปีแรกจะยังเพิ่มไม่มาก แต่หลังจากนั้นจะค่อย ๆ ปรับอัตราภาษีให้เพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบมากนัก และให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัวด้วย ซึ่งในอนาคตถ้าค่ายรถไม่สามารถพัฒนาในการปล่อย CO2 ให้ดีขึ้นก็จะเสียภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะไปสอดคล้องกับทิศทางเพื่อผลักดันให้คนหันไปใช้รถอีวีมากขึ้น” แหล่งข่าวกล่าว

อีโคคาร์แพงขึ้น 3 หมื่น

แหล่งข่าวระดับบริหารค่ายรถยนต์รายใหญ่กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงโครงสร้างภาษีใหม่ของรัฐบาลว่า เป็นนโยบายที่ดีในแง่ของการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการใช้ยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยมีการนำค่าการปล่อยไอเสียมาเป็นตัวกำหนด ซึ่งผู้ประกอบการได้เตรียมความพร้อมในเชิงการพัฒนาสินค้ามาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ “อีโคคาร์” ที่จะยกเลิกการส่งเสริมหลังสิ้นสุดโครงการเฟสสอง ทำให้อัตราภาษีเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน หากไม่สามารถพัฒนาไปสู่ยานยนต์ที่ใช้มอเตอร์ หรืออีโคคาร์ไฮบริด มาช่วยในการขับเคลื่อน ภาษีก็จะขยับเพิ่มขึ้นอีก 6-8% หรือหากคิดเป็นมูลค่าประมาณ 30,000 บาท ทำให้ราคาอีโคคาร์ต้องปรับขึ้น ทั้งนี้ในฐานะของผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอีโคคาร์ อย่างไรก็ต้องเดินหน้าผลิตไปจนกว่าจะคุ้มทุน หรือมีการพัฒนาอีโคคาร์ไฮบริดออกมา ซึ่งจะทำให้เสียภาษีลดลง

ค่ายรถเริ่มจัดโปรฯ มี.ค.

ขณะที่นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (รถยนต์อีวี) ไปเมื่อ 15 ก.พ. 2565 จากนี้กรมสรรพสามิตจะออกประกาศที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป โดยคาดว่าจะมีการลงนามสัญญาความร่วมมือกับค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมโครงการได้ในช่วงเดือน มี.ค. 2565 จากนั้นค่ายรถยนต์จะสามารถจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายรถอีวีออกมาได้ทันที

โดยในปีแรกใช้งบประมาณอุดหนุน 3,000 ล้านบาท และหากมีความต้องการมากกว่านั้นจะมีการพิจารณาขอขยายกรอบงบประมาณอีกครั้ง ส่วนวงเงินที่เหลืออีก 40,000 ล้านบาท ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นผู้จัดหาเพิ่มเติม ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายว่าในปี 2573 ต้องมีการผลิตรถยนต์อีวีสัดส่วนเป็น 30% ของการผลิตรถยนต์ใช้น้ำมันทั้งหมด

แผนดึงการลงทุนอีวี

“ช่วง 1-2 ปีแรกเป็นการทดลองตลาด จึงเปิดให้ใช้รถนำเข้าเพื่อให้ผู้ประกอบการจำหน่ายรถยนต์รู้ว่ารถยนต์รุ่นไหนเป็นรุ่นที่ได้รับความนิยม เหมาะที่จะนำมาผลิตในประเทศไทย แต่ในปีที่ 3-4 จะต้องมีการผลิตรถยนต์อีวีในประเทศชดใช้คืนตามจำนวนที่นำเข้ามา ซึ่งหากไม่สามารถทำได้ตามสัญญาก็จะมีบทลงโทษ รวมทั้งมีค่าปรับด้วย แต่เบื้องต้นที่มีการหารือกับค่ายรถยนต์ก็มีผู้ประกอบการค่ายรถยนต์หลายค่ายให้ความสนใจเข้ามาร่วมโครงการ” นายลวรณกล่าว

นายลวรณกล่าวด้วยว่า มาตรการส่งเสริมการใช้รถอีวีในครั้งนี้แตกต่างจากรถยนต์คันแรก โดยเป็นการให้เงินส่วนลดตั้งแต่ 70,000-150,000 บาท ให้ค่ายรถยนต์ที่ทำสัญญาเข้าร่วมโครงการไปจัดทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายเอง เช่น รถที่นำเข้าจากจีน ราคา 1 ล้านบาท หากทำสัญญาการเข้าร่วมโครงการแล้ว จะได้รับเงินอุดหนุน 150,000 บาท ซึ่งบริษัทจะต้องสำแดงหลักฐานการซื้อขาย หากตรวจสอบแล้วว่าปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดแล้ว กรมจะมีการคืนเงินให้เป็นรายไตรมาสต่อไป

สร้างระบบนิเวศอีวี

นอกจากในเรื่องเงินอุดหนุนเพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนหันมาใช้รถอีวีแล้ว ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องดูแลเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้มั่นใจว่าสามารถขับรถอีวีไปได้ทุกที่ รวมทั้งในเรื่องอัตราค่าไฟที่ชาร์จรถอีวีด้วย ขณะที่ชิ้นส่วนต่าง ๆ ของรถอีวีก็มีการยกเว้นภาษีนำเข้าให้

นายลวรณกล่าวอีกว่า เมื่อนโยบายการใช้รถอีวีมีความชัดเจนขึ้น ขณะที่แนวโน้มการใช้น้ำมันก็จะลดลงไปด้วย ซึ่งต่อไปกรมจะมีการผลักดันภาษีคาร์บอน หรือ carbon tax ในส่วนของโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยขณะนี้กรมอยู่ระหว่างการศึกษาการจัดเก็บภาษีดังกล่าวเพื่อเป็นแนวทางที่จะนำมาใช้ในอนาคต เพราะเรามองว่าเรื่องน้ำมันอาจจะไปสู่จุดสูงสุดในระยะเวลาอันสั้น จากนั้นการใช้น้ำมันก็จะเริ่มค่อย ๆ ลดลง และภาษีคาร์บอนจะเข้ามาแทน กรมจึงศึกษาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งต่างประเทศก็มีตัวอย่างที่ทำเรื่องนี้อยู่แล้ว