ค่ายรถเปิดศึกถล่มตลาด EV ญี่ปุ่นท้าชนจีน-มอเตอร์โชว์เดือด

คลอดแล้วแพ็กเกจส่งเสริมรถอีวีลดอากรขาเข้า “ญี่ปุ่น-เกาหลี” เหลือ 0% เงินอุดหนุนอีก 1.5 แสน รถราคาไม่เกิน 2 ล้าน ลดสรรพสามิตอีก 6% ค่ายรถขานรับระบุมอเตอร์โชว์ มี.ค.นี้เดือดแน่ โตโยต้าพร้อมชนค่ายจีน วงการชี้อีวีญี่ปุ่นกดราคาลงต่ำกว่าเครื่องยนต์สันดาป “โอร่า กู๊ดแค็ต-เอ็มจี แซดเอส” ถูกลงอีกคันละ5-6 หมื่นบาท บวกเงินชดเชยอีกก้อน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ รับทราบแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2564 และครั้งที่ 1/2565 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิต การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ให้เป็นไปตามเป้าหมายการผลิตและการใช้ยานยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicle : ZEV) ของยานยนต์ทุกประเภทอีกด้วย

ครม.ไฟเขียวทั้งแพ็กเกจ

นายธนกรกล่าวว่า เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาและขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนทั้งในส่วนของมาตรการทางภาษี และไม่ใช่ภาษี โดยเป็นมาตรการระยะสั้น ระหว่างปี 2565-2568 โดยในช่วง 2 ปีแรก (ปี 2565-2566) มาตรการสนับสนุนจะให้ความสำคัญกับการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างกว้างขวางโดยเร็ว ครอบคลุมทั้งการนำเข้ารถยนต์/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) และกรณีรถยนต์/รถยนต์กระบะ/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ (CKD) ผ่านการยกเว้นหรือลดอากรนำเข้า ลดอัตราภาษีสรรพสามิต และ/หรือให้เงินอุดหนุนตามเงื่อนไขที่กำหนด ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มอุปสงค์ยานยนต์ไฟฟ้าในภาพรวม สร้างแรงจูงใจและดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของผู้ประกอบการในไทย

นายธนกรกล่าวว่า ส่วนช่วง 2 ปีถัดไป (ปี 2567-2568) มาตรการสนับสนุนจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศเป็นหลัก โดยยกเลิกการยกเว้น/ลดอากรนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) แต่ยังคงมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิต และ/หรือให้เงินอุดหนุนตามเงื่อนไขที่กำหนดต่อไป เพื่อทำให้ต้นทุนรถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปทั้งคันที่นำเข้าสูงกว่ารถยนต์/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเร่งผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ รองรับแนวโน้มความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น ลดการนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งจะเป็นการสนับสนุนการผลิตรถยนต์/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

นอกจากนี้ยังได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการผลิตรถยนต์/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ อาทิ การยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับชิ้นส่วนที่มีการนำเข้าในช่วงปี 2565-2568 การให้นับมูลค่าของเซลล์แบตเตอรี่ที่นำเข้าเป็นต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศสำหรับการคำนวณมูลค่าเพิ่มในประเทศได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของราคายานยนต์ไฟฟ้าหน้าโรงงาน การผลิตรถยนต์/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศเพื่อชดเชยการนำเข้าในช่วงแรก (กรณีผลิตชดเชยภายในปี 2567 ให้ผลิตเท่ากับจำนวนที่นำเข้าในปี 2565-2566 และหากจำเป็นต้องขยายเวลาการผลิตชดเชยถึงปี 2568 และการผลิตหรือใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตหรือประกอบในประเทศตามเงื่อนไขที่กำหนด)

“การดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า มุ่งหวังให้ราคารถยนต์และรถจักรยานยนต์ประเภทรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) สามารถแข่งขันได้ และแผน 30@30 โดยปี ค.ศ. 2030 จะผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ของการผลิตรถยนต์ในไทย แพ็กเกจนี้บางส่วนสามารถเริ่มได้เลยตั้งแต่วันนี้ เพราะ ครม.เห็นชอบแล้ว”

รถญี่ปุ่น-เกาหลีเหลือ 0%

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการจูงใจซื้อรถอีวีจะเป็นมาตรการระยะยาวประมาณ 4-5 ปี เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยปรับมาใช้รถอีวีกันมากขึ้น รายละเอียดมาตรการจะมีทั้งการลดภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร และรัฐบาลให้เงินอุดหนุนภายใต้กรอบวงเงิน 40,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้รถอีวี ประมาณ 300,000 คัน ในระยะเวลา 5 ปีตั้งแต่ปี 2565

สำหรับรายละเอียดของมาตรการ ได้แก่ ลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% และลดภาษีศุลกากร หรืออาการขาเข้า 40% เช่น ค่ายรถญี่ปุ่น ที่ปัจจุบันยังเสียภาษีนำเข้าอัตรา 20% จะเหลือ 0% ค่ายรถเกาหลี ปัจจุบันเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 40% ก็จะได้รับการลดภาษี เหลือ 0% ขณะที่ค่ายรถยุโรป ปัจจุบันเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 80% ก็จะได้รับการลดภาษีเหลือ 60%

ขณะที่เงินอุดหนุนการซื้อรถราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ได้ 1.5 แสนบาท (พิจารณาจากปริมาตรแบตเตอรี่มากกว่า 30 kWh) ราคาเกิน 2 ล้านไม่ได้เงินอุดหนุน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องผลิตชดเชยอัตรา 1:1 คันภายในปีแรก หากไม่สามารถทำได้ต้องผลิตชดเชย 1:1.5 คันในปีถัดไป

ดันอีวีปี’65 แตะ 1.88 หมื่นคัน

นายเอลเลียต จาง ประธานเกรท วอลล์ มอเตอร์ ภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย เปิดเผยว่า นโยบายส่งเสริมใช้รถอีวีของรัฐบาลจะทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเติบโตเพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับระยะหลังหลายค่ายรถยนต์มีรถอีวีให้เลือกมากขึ้น เกรท วอลล์ฯประเมินว่า ตลาดรถยนต์ปี 2565 จะมีปริมาณ 820,000-850,000 คัน โต 8-12%

แบ่งเป็นรถยนต์ xEV 94,000 คัน และในจำนวนนี้จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% จำนวน 18,800 คัน มีส่วนแบ่ง 20% ในตลาดรถ xEV เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ผ่านมาที่มียอดขายรถยนต์โดยรวมอยู่ที่ 760,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ xEV จำนวน 43,317 คัน และในจำนวนนี้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% จำนวน 1,935 คัน มีส่วนแบ่ง 4.5% ในตลาดรถ xEV

ขณะที่นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เป็นเรื่องดีมาก จะทำให้ตลาดเปิดกว้างมากขึ้น เชื่อว่าเร็ว ๆ นี้น่าจะมีรถอีวีจากญี่ปุ่น และเกาหลี เข้ามาทำตลาดในบ้านเรามากขึ้น สมดังเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นฮับอีวี

ซึ่งในส่วนเอ็มจีก็จะได้ประโยชน์จากภาษีสรรพสามิต ที่จะลดจาก 8% เหลือ 2% หรือเสียน้อยลง 6% ซึ่งเอ็มจีมีรถอีวี เอ็มจี ZS (อีวี) และเอ็มจี อีพี (อีวี) ระดับราคาประมาณ 1.2 ล้านบาท ก็น่าจะได้ส่วนลดราว 5 หมื่นบาท ซึ่งจะทำให้รถอีวีของเอ็มจีมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

อีวีญี่ปุ่นถูกกว่ารถยนต์สันดาป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า แพ็กเกจสนับสนุนรถอีวีถือว่ามีแรงจูงใจในการใช้รถอีวีอย่างมาก คนใช้จะได้ทั้งเงินอุดหนุน 1.5 แสนบาท สำหรับรถที่ราคาขายปลีกไม่เกิน 2 ล้านบาท ส่วนผู้ประกอบการต้นทุนก็ต่ำลง ทั้งอากรขาเข้าที่บางค่ายเป็นศูนย์ โดยเฉพาะค่ายญี่ปุ่นที่ลงมาเท่ากับค่ายจีน และยังได้ลดภาษีสรรพสามิตอีก 6% (เดิม 8% คิดแค่ 2%)

โดยแหล่งข่าวจากตัวแทนจำหน่ายรถยนต์นิสสันในเขตพื้นที่ภาคกลาง ประเมินราคานิสสัน ลีฟ ก่อนมีแพ็กเกจ ขายอยู่ 1.5 ล้านบาท ส่วนหลังจากมีแพ็กเกจสนับสนุน ราคาจะลดลงจากเงินอุดหนุน 1.5 แสนบาท บวกกับต้นทุนผู้ประกอบการที่หายไปอีก ทั้งอากรขาเข้าที่เป็นศูนย์ จากเดิมที่เคยเสีย 20% (ของราคารถ) ประเมินคร่าว ๆ ราว 1.5 แสนบาท บวกกับภาษีสรรพสามิตอีก 6% คิดจากราคาหน้าโรงงานราว ๆ 6 หมื่นบาท รวมกัน 3 ตัวเท่ากับ 1.5 แสนบาท+1.5 แสนบาท+6 หมื่นบาท ดังนั้น ราคาขายนิสสัน ลีฟ จะเหลือประมาณ 1.2 ล้านบาท

ซึ่งหากนำไปเปรียบเทียบกับราคาขายปลีกรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน อาทิ โตโยต้า อัลติส, มาสด้า3 หรือ ฮอนด้า ซีวิค ปรากฏว่าราคารถอีวีญี่ปุ่นลดลงมาใกล้เคียง หรือต่ำกว่ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ด้วยซ้ำ

โอร่า กู๊ดแค็ต เหลือไม่ถึงล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า รถอีวีอีกรุ่นที่ราคาขายจะจูงใจการเป็นเจ้าของอย่างมาก ได้แก่ โอร่า กู๊ดแค็ต จากค่ายเกรท วอลล์ฯ ซึ่งมีราคาเริ่มต้น 9.89 แสนบาท ส่วนรุ่นท็อป ราคา 1.19 ล้านบาท สองรุ่นนี้จะได้เงินอุดหนุน 1.5 แสนบาท แต่ไม่ได้ประโยชน์จากการลดอากรขาเข้าเพราะแหล่งที่มาสินค้าจากประเทศจีน ไม่เสียอากรขาเข้าหรือเป็นศูนย์ ส่วนภาษีสรรพสามิตที่หายไป 6% ซึ่งผู้ประกอบการน่าจะคิดส่วนลดให้อีกระดับหนึ่ง

ดังนั้น โอร่า กู๊ดแค็ต จึงนับเป็นรถอีวีอีกรุ่นที่น่าสนใจ มีราคาขายเริ่มต้นเพียง 8 แสนกว่าบาท ไปจนถึงรุ่นท็อปที่ราคาอาจไม่ถึงล้านบาท

อีวีรุ่นใหม่พร้อมถล่มมอเตอร์โชว์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแพ็กเกจส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) บรรดาค่ายรถยนต์ต่างตอบรับพร้อมส่งรถอีวีใหม่ถล่มตลาดกันเต็มที่ โดยเฉพาะในงานมอเตอร์โชว์ครั้งที่ 43 ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 23 มีนาคม-3 เมษายน 2565

โดยค่ายรถที่มีความชัดเจนมากที่สุด ได้แก่ ค่ายโตโยต้า ซึ่งนายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ประกาศว่า โตโยต้าพร้อมขายรถยนต์ไฟฟ้า 100% ในประเทศไทย โดยรุ่นแรกจะเป็นครอสโอเวอร์ แบรนด์ bZ (Beyond Zero) รุ่น 4X เป็นรถอีวีที่พัฒนาขึ้นบนแพลตฟอร์ม e-TNGA สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ ใช้แบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออน 71.4 kWh โดยชาร์จเต็มสามารถวิ่งได้ไกล 500 กม. รุ่นขับเคลื่อนสองล้อหน้าใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 150 kW อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ภายใน 8.4 วินาที ขณะที่รุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ สามารถวิ่งได้ 460 กม. ใช้มอเตอร์ 2 ตัวหน้า+หลัง 80+80 kWh ให้อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ภายใน 7.7 วินาที

อีกค่ายซึ่งมีความชัดเจน ได้แก่ ค่ายเกรท วอลล์ มอเตอร์ ซึ่งนายเอลเลียต จาง ประธาน เกรท วอลล์ มอเตอร์ ภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย เปิดเผยถึงแผนการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยว่า แพ็กเกจสนับสนุนและส่งเสริมรถอีวีเป็นเรื่องดี ปีที่แล้ว เกรท วอลล์ฯขาย โอร่า กู๊ดแค็ต ได้มากถึง 462 คัน ถ้ามีแพ็กเกจสนับสนุนก็น่าจะโตได้อีกเยอะ

โดยเร็ว ๆ นี้พร้อมเปิดตัวรถรุ่นใหม่อีก 5 รุ่น จาก 3 แบรนด์ ได้แก่ แบรนด์ฮาวาล คือ ฮาวาล เอช6 ปลั๊ก-อิน ไฮบริด 1 รุ่น, แบรนด์โอร่า ซึ่งจะเป็น 2 รุ่น คือ รถยนต์ไฟฟ้า 100% และอีก 2 รุ่นจะเป็นแบรนด์ใหม่

ขณะที่ค่ายเอ็มจี พร้อมเทงบฯอีก 2.5 พันล้าน ขึ้นไลน์ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยในปีหน้า โดยนายจาง ไห่โป กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ “เอ็มจี” เปิดเผยว่า ได้ลงทุนกับโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าและรถปิกอัพไฟฟ้า จังหวัดชลบุรี และเร็ว ๆ นี้จะมีรถรุ่นใหม่ลงตลาดโดยเฉพาะในงานมอเตอร์โชว์

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เอ็มจีประสบความสำเร็จกับรถยนต์ไฟฟ้า เอ็มจี ZS และเอ็มจี EP ซึ่งเชื่อกันว่าในงานมอเตอร์โชว์เที่ยวนี้ก็น่าจะมีรุ่นใหม่ และรุ่นพิเศษเข้ามาเสริมตลาด

อีวียุโรปดาหน้าลงตลาด

นายอเล็กซานเดอร์ บารากา ประธานและซีอีโอ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดเผยว่า ปีนี้บริษัทจะเดินหน้าเข้าสู่ตลาดรถอีวีอย่างจริงจัง รวมทั้งเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ถึง 10 รุ่น มาครบทั้งบีเอ็มดับเบิลยู มินิ และบีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า i4 ในไทย ตั้งราคาขาย 4,499,000 บาท พร้อมแพ็กเกจบำรุงรักษา BSI Standard นาน 4 ปี ไม่จำกัดระยะทาง ฟรี BMW Wallbox พร้อมติดตั้งให้กับลูกค้าจำนวน 22 คนที่จองออนไลน์

i4 มี 2 รุ่น รุ่นแรกจาก M GmbH มอเตอร์ไฟฟ้าส่งพลังได้ถึง 400 กิโลวัตต์/544 แรงม้า อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ในเวลาเพียง 3.9 วินาที วิ่งได้สูงสุดถึง 521 กิโลเมตร อีกรุ่นบีเอ็มดับเบิลยู i4 eDrive40 M Sport ใหม่ มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 250 กิโลวัตต์/340 แรงม้า อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงที่ 5.7 วินาที วิ่งได้ไกล 590 กิโลเมตร ทั้งนี้ บีเอ็มฯมีรถยนต์ไฟฟ้าทำตลาดหลากหลายรุ่น อาทิ i8, i3, iX, iX3 นอกจากนี้ยังมี มินิ เอสอี

ขณะที่นายโรลันด์ โฟล์เกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า 
เร็ว ๆ นี้พร้อมจะประกาศราคาขายเมอร์เซเดส-อีคิวเอส รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งพร้อมขึ้นไลน์ผลิตในไทย เชื่อว่าเมอร์เซเดส-อีคิวเอส จะได้การตอบรับที่ดีด้วยสเป็กและสมรรถนะ มาพร้อมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว ซึ่งทำงานโดยแบ่งหน้าที่กัน ระหว่างการขับเคลื่อนล้อหน้า และชุดล้อหลัง ให้แรงม้าสูงสุด 333 แรงม้า ความเร็ว 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ในเวลา 5 วินาที สามารถวิ่งได้ไกลถึง 770 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง

ไม่ต่างจากนายคริส เวลส์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากวอลโว่ประกาศเป้าหมายว่าจะเป็นบริษัทที่ทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศไทย ทุกรุ่นภายในปี 2573 ตั้งแต่กลางปี 2562 และประเดิมแนะนำรถยนต์ไฟฟ้า XC40 เป็นรุ่นแรก ซึ่งได้รับความสนใจและยอดจองเยอะมาก ในงานมอเตอร์โชว์ลูกค้าจะได้สัมผัส C40 อีวี ออกสู่ตลาดในงานมอเตอร์โชว์ 2022 นอกจากนี้ ปี 2566 จะมีรถไฟฟ้าเข้ามาเปิดตัวอีก 1 รุ่น

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับแพ็กเกจอีวีรัฐบาลสนับสนุนเฉพาะผู้ประกอบที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนในประเทศซึ่งต้องมีไลน์ผลิต ดังนั้น ตอนนี้มีเพียงแบรนด์เดียวเท่านั้น คือ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ซึ่งในตัวแพ็กเกจลดอากรขาเข้าลง 20% และภาษีสรรพสามิตลดลงอีก 6% ส่วนเงินอุดหนุนไม่ได้ เพราะมีราคาขายเกิน 2 ล้านบาท

ปิกอัพไม่ได้ประโยชน์

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยเพิ่มเติมว่า แพ็กเกจสนับสนุนรถอีวีครั้งนี้ยังไม่เอื้อประโยชน์กับรถปิกอัพ เนื่องจากมาตรการกำหนดให้เป็นซีเคดีเท่านั้น ส่วนนำเข้าไม่ได้รับสิทธิ์ และเท่าที่ดูแนวโน้มผู้ประกอบการคาดว่าในส่วนการขึ้นไลน์ผลิตรถปิกอัพไฟฟ้าในประเทศอาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง