คิดให้กว้างกว่าเดิม

คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

นานหลายเดือนแล้วที่รัฐบาลเล็งออกแพ็กเกจสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี เพื่อนำเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ด้วยเกี่ยวพันกับหลายหน่วยงานทั้งกระทรวงพลังงาน กรมศุลกากร บอร์ดอีวี ฯลฯ จึงทิ้งเวลามาพักใหญ่

ทั้งที่ว่าไปแล้วการสนับสนุนรถพลังงานไฟฟ้า หลายประเทศทั่วโลกเดินหน้ามานานนับสิบ ๆ ปี ทั้งสนับสนุนด้านภาษี ลดค่าธรรมเนียมรายปี หรือกระทั่งจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคา ไม่นับรวมถึงการวางแผนห้ามรถยนต์สันดาปภายในวิ่งในอนาคตอันใกล้ เช่น ประเทศในกลุ่มยุโรป

แต่ที่เป็นรูปธรรมและน่าจะเป็นประเทศแรก ๆ ที่สนับสนุนให้ประชาชนใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง ต้องยกให้ “จีน” ที่ออกแพ็กเกจชุดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นเงินชดเชย ลดราคาป้ายทะเบียน

เพราะที่จีนการซื้อรถหนึ่งคันต้องซื้อป้ายทะเบียนราคาสูงพอสมควร แต่ถ้าเป็นรถพลังงานไฟฟ้าจะได้ส่วนลดจำนวนมาก จึงทำให้จีนเป็นประเทศที่มีรถยนต์ไฟฟ้าใช้มากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก รวมถึงค่ายรถยนต์ในจีนสามารถเบียดขึ้นเป็นผู้นำในตลาดนี้ไม่แพ้ประเทศกลุ่มยุโรป หรือญี่ปุ่น

เกือบทุกประเทศที่สนับสนุนใช้รถพลังงานไฟฟ้ารัฐบาลยังเร่งดำเนินการสร้างสถานีชาร์จให้มากและครอบคลุมที่สุด เพราะแน่นอนว่าหากรถยนต์ไฟฟ้าไม่มีสถานีชาร์จที่ครอบคลุมเพียงพอ ความสนใจของผู้บริโภคยิ่งน้อยลง

เพราะแม้ผู้ใช้จักสามารถชาร์จไฟที่บ้านได้ และปัจจุบันเทคโนโลยีการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าก้าวไกล ชาร์จแต่ละครั้งวิ่งได้หลายร้อยกิโลเมตร แต่การเดินทางไปต่างพื้นที่ไกล ๆ ย่อมเป็นปัญหาไม่มากก็น้อย

สำหรับประเทศไทยนอกจากเชื่องช้าในแพ็กเกจสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว จำนวนสถานีชาร์จยังมีอยู่น้อยมาก แม้ตอนนี้จำนวนรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่มากนัก แต่เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องลงทุนเพิ่มจำนวนให้เพียงพอหรือเกินพอ เพื่อจูงใจผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าอีกทางหนึ่ง เหมือนเช่นหลาย ๆ ประเทศดำเนินการอย่างจริงจัง

เพราะการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ผลประโยชน์ทั้งทางตรงและอ้อมยิ่งมากเท่านั้น อาทิ ลดปริมาณใช้น้ำมัน เพราะไฟฟ้าสามารถผลิตได้จากหลากหลายพลังงาน ยิ่งหากเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศไทยมีเหลือเฟือ ยิ่งประหยัดเงินตราต่างประเทศ

ที่สำคัญคือปัญหามลพิษน้อยลง คนในประเทศมีสุขภาพดีขึ้นเท่าใด เท่ากับรัฐเสียค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลน้อยลงเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งของผู้บริหารประเทศไทยยุคปัจจุบัน หรือบางรัฐบาลในอดีต มักมองแต่ผลประโยชน์เฉพาะหน้า หรือผลประโยชน์ทางตรงเท่านั้น ไม่ได้คิดกว้างไกลเพียงพอว่าบางสถานการณ์เราต้องยอมเสียอย่างหนึ่งเพื่อให้ได้อีกอย่างหนึ่ง


เพราะหลาย ๆ กรณีสิ่งที่รัฐต้องสูญเสียในทางตรง เมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้กลับมาในรูปแบบผลประโยชน์อื่น ๆ ยังมากกว่าด้วยซ้ำ