ศบค.พบผู้สูงอายุ 2.17 ล้านคนไม่ได้ฉีดวัคซีน ยอดตายไต่ขึ้นเส้นแดงแล้ว

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.

ศบค.เผย 8 เรื่องสำคัญถกศบค.ชุดใหญ่วันนี้ ชี้อัตราป่วยหนักใส่ท่อช่วยหายใจล่าสุดไต่ขึ้นเส้นสีแดงแล้ว คาดตายมากสุดช่วงต้นเดือนพ.ค. อึ้ง! มีผู้สูงอายุมากถึง 2.17 ล้านคนยังไม่ได้ฉีดวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว ยันแม้ผ่อนคลาย-ปรับระดับสีแล้ว สถานบันเทิงยังห้ามเปิดทุกพื้นที่ นับถอยหลัง 1 ก.ค.65 โควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น ย้ำสงกรานต์ห้ามสาดน้ำ ประแป้ง ปาร์ตี้โฟม

วันที่ 18 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศบค. มีการประชุมและแถลงผลการประชุมในเรื่องสำคัญช่วงเช้า เช่น เรื่องการปรับพื้นที่สี การปรับมาตรการเข้าประเทศใหม่ การต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมถึงมาตการจัดงานช่วงเทศกาลสงกรานต์

ต่อมาเวลา 12.30 น. นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงรายละเอียดเพิ่มเติม โดยสรุป 8 ประเด็นสำคัญที่ศบค.ชุดใหญ่ประชุมกันในวันนี้ ประกอบไปด้วย

ศบค. สรุป 8 ประเด็นใหญ่

  • 1.สรุปสถานการณ์ประจำวัน
  • 2.ยูเซป พลัส usep plus
  • 3.สถานบันเทิงยังไม่เปิดให้บริการ
  • 4.แผนการปรับสู่โรคประจำถิ่น 1 ก.ค. 2565
  • 5. แผนกระจายวัคซีน เร่งฉีดเข็ม 3
  • 6.การปรับมาตรการเข้าราชอาณาจักรของไทย 1 เมษายน 2565 เข้าไทยวันแรก คงการตรวจเป็น RT-PCR วันที่ 5 หรือ เดย์ 5 ตรวจแบบ Self ATK
  • 7.กรมอนามัย จัดทำคู่มือจัดงานช่วงสงกรานต์ เน้นประเพณีดั้งเดิม รดน้ำดำหัว สรงน้ำพระ ห้ามประแป้ง งดสาดน้ำ ปาร์ตี้โฟม ห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงาน หลังกลับสงกรานต์เน้นตรวจ ATK ทำงาน work from home(wfh)
  • 8.ประกาศขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรออกไปเป็นครั้งที่ 17 มีผล 1 เมษายน-31 พฤษภาคม 2565

นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวว่า เรื่องแรกคือนายกฯฝากขอบคุณทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จิตอาสาทุกท่าน ที่ร่วมมือกัน ทำให้เราได้ผ่านวิกฤตการณ์ต่างๆมาได้ จนทำให้ประชาชนคนไทยได้เกิดการเรียนรู้และอยู่ร่วมกันกับโรคโควิด-19 ที่ปรับเข้ากับวิถีใหม่ในชีวิตได้

และในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมนี้ เป็นช่วงที่ผลไม้ของไทยจะมีผลผลิตออกไปสู่ตลาดโลก นายกฯได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงสาธารณสุขได้บูรณาการร่วมกันร่วมมือกัน เพื่อให้การส่งออกผลไม้ของไทยไปถึงประเทศผู้ซื้อได้ โดยไม่ทำให้สถานการณ์ต่างๆมาเป็นผลกระทบต่อการส่งออก

ภาพรวมไทยเสียชีวิตต่ำกว่าหลายประเทศ

สำหรับการสรุปสถานการณ์รายวันนี้ ทางปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้นำเสนอภาพการติดเชื้อของทั้งประเทศ ล่าสุดทั่วโลกติดเชื้อโควิดไปแล้ว 466 ล้านคน เสียชีวิตไปแล้วกว่า 6 ล้านคน หรือคิดเป็น 1.31% โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 17 ของโลก จากผู้ติดเชื้อรวม 3.3 ล้านคน

ขณะที่ประเทศในแถบเอเชียหลายประเทศยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่และเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ทั้งเกาหลีใต้ เวียดนาม ญี่ปุ่น ฮ่องกง มาเลเซีย ขณะที่ทางสหรัฐและยุโรปตัวเลขเริ่มลดลง แต่ก็ยังนับว่าสูงกว่าของไทยอยู่

“เรื่องที่สำคัญคือเรื่องอัตราการเสียชีวิต ซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงการเตรียมการประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น โดยของไทยอัตราการเสียชีวิตยังอยู่ระดับต่ำกว่าประเทศในเอเชีย รวมถึงประเทศอื่นๆด้วย จะเห็นได้ว่าสหรัฐอเมริกาเสียชีวิตไปแล้ว 9 แสนกว่าคน และทำให้อัตรการเสียชีวิตต่อประชากร 1 ล้านคน ตัวเลขอยู่ที่เกือบ 3,000 คน มากกว่าเราเกือบ 10 เท่า โดยของไทยเราอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 342 ราย/ประชากร 1 ล้านคน”

สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อในประเทศวันนี้ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 มีผู้ป่วยรายใหม่ 27,071 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,079,734 ราย หายป่วยแล้ว 879,997 ราย และ เสียชีวิตสะสม 2,377 ราย ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,303,169 ราย หายป่วยแล้ว 3,048,491 ราย เสียชีวิตสะสม 24,075 ราย

ขณะที่มีผู้มารับวัคซีน ณ วันที่ 17 มีนาคม 2565 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 72,486 รายเข็มที่ 2 จำนวน 19,039 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 95,087 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 – 17 มีนาคม 2565 มีผู้รับวัคซีนสะสมทั้งหมด จำนวน 126,799,701 โดส

อัตราการครองเตียงยังรับได้

วันนี้มีเสียชีวิต 80 คน ทำให้อัตราการเสียชีวิตสะสมระลอกนี้อยู่ที่ 2,377 คน คิดเป็น 0.22% รวมเสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 มีจำนวน 24,075 ราย คิดเป็น 0.73% ยังต่ำกว่าของโลกอยู่ และรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 68,776 ราย และโรงพยาบาลสนามและอื่นๆ 161,827 ราย อาการหนัก 1,391 ราย ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 511 ราย อัตราการครองเตียงยังอยู่ที่ 27%

“อัตราการครองเตียงยังอยู่ที่ 27% ยังรองรับได้อยู่ มีเตียงที่ใช้ไป 1 ใน 4 ขอให้ทุกท่านได้ดูแลสุขภาพ ดีๆ เพื่อไม่ต้องเข้ามาใช้เตียงตรงนี้ เพื่อใช้สำหรับผู้ป่วยหนักจริงๆ” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวและว่า

ผู้ป่วยปอดอักเสบ-เสียชีวิตน่าห่วง

“หากดูจากเส้นกราฟจะพบว่าตัวเลขการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยใหม่จะเกาะไปกับเส้นกราฟสีเขียว แต่ตัวเลขผู้ป่วยปอดอักเสบที่ใส่ท่อช่วยหายใจตอนนี้ไปแตะที่เส้นสีแดงแล้ว ซึ่งอันนี้แหละที่บอกว่าจะไปกินทรัพยากรของเตียง ถ้าเส้นนี้ไต่ไปเรื่อยๆจะเป็นปรากฎการณ์ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากขึ้น ซึ่งเราจะต้องกดลงมาให้ได้ “

ส่วนมาตรการเจอแจกจบมีการกระจายไปทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1-13 มีนาคม 2565 มีจำนวนผู้รับบริการสะสม 207,534 ราย เฉลี่ยต่อวัน 15,964 ราย โดยจังหวัดรอบๆปริมณฑลได้ดำเนินการในสถานบริการทั้งหมด 901 แห่ง

ส่วนการจ่ายยาในรายที่อาการไม่มากมีการจ่ายยาลดไข้ แก้ไอไปแล้ว 52% จ่ายยาฟ้าทะลายโจรไป 24% และยาฟาวิพิราเวียร์ 26% ซึ่งเป็นการยืนยันว่าระบบของเรายังอยู่ได้ และผู้ป่วยยังกลับมาเป็นปกติได้

ปรับระดับพื้นที่สีใหม่ “สถานบันเทิง”ยังห้ามเปิด

นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่อง ยูเซป พลัส (UCEP PLUS) สามารถดำเนินการไปได้ด้วยดี ทั้งผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง ที่สามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลใดก็ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ประสานไปยังหน่วยงานโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนพบว่ามีการดำเนินการไปได้ด้วยดี ซึ่งผู้ติดเชื้อได้รับการรักษาไม่ต่างไปจากระบบเดิม

เรื่องที่ 3 คือเรื่องการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์และการปรับมาตรการป้องกันโรคแบบบูรณาการ ตอนนี้มีการปรับเปลี่ยนสี จากเดิมมีพื้นที่สีส้มอยู่ 44 จังหวัด ตอนนี้ปรับลดเหลือ 20 จังหวัด ส่วนพื้นที่สีเหลืองเฝ้าระวังสูงจาก 25 จังหวัดก็จะเพิ่มเป็น 47 จังหวัด ซึ่งการปรับระดับสีจะเห็นการเปลียนแปลงในภาคเหนือและภาคอีสานเป็นส่วนใหญ่

ส่วนพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวสีฟ้าเพิ่มจาก 8 จังหวัดเพิ่มเป็น 10 จังหวัด โดยมี 2 จังหวัดที่เพิ่มทั้งจังหวัด ได้แก่เพชรบุรี และเชียงใหม่ ส่วนจังหวัดอื่นยังเป็นสีฟ้าในบางพื้นที่ยังเป็น 18 จังหวัดอยู่

นับถอยหลัง 1 ก.ค. 65 โควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น

“ที่สำคัญทุกพื้นที่ยังปิดบริการสถานบันเทิงและสถานบริการอื่นๆที่คล้ายกันอยู่ ถึงแม้จะมีข่าวว่าผู้ประกอบการอยากจะขอเปิด แต่ทางศปก.ศบค.พิจารณาร่วมกันกับกระทรวงสาธารณสุขว่ายังไม่เห็นชอบว่าจะให้เปิดได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ขอให้ท่านได้ใช้ช่องทางของการปรับพื้นที่เป็นร้านอาหารเพื่อให้บริการได้ แต่ต้องดำเนินการตามมาตรการ covid free setting” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว

เรื่องที่ 4.การนำแผนบริหารจัดการสถานการณ์โควิดเข้าสู่โรคประจำถิ่น pandemic ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้นำเสนอแผนอย่างเป็นทางการต่อ ศบค.ชุดใหญ่ เพื่อให้เห็นภาพไปด้วยกัน

มองแล้วสถานการณ์ ณ ตอนนี้อยู่ในระยะแรกคือระยะที่ต้องต่อสู้กัน(Combatting) โดยช่วงต้นเดือน เม.ย.หากเราช่วยควบคุมป้องกันได้อย่างดี พอเข้าระยะที่ 2 คือ ระยะ Plateau หรือ ระยะทรงตัว และจะค่อยๆลดลงตามการคาดการณ์คือปลายเดือน พ.ค.-มิ.ย. และถ้าเป็นไปตามการคาดการณ์คือวันที่ 1 ก.ค.2565 น่าจะเห็นตัวเลขที่กดลดลงไปได้

 

“ทั้งหมดทั้งปวง ทั้งประเทศต้องช่วยกันกดกราฟลงให้ได้ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ ผอ.ศบค.ก็เห็นชอบด้วย นี่คือสิ่งที่ต้องทำแผนด้วยกัน ส่วนสถานการณ์จริงวันที่ 1 ก.ค.จะเป็นอย่างไร ก็ต้องดูกันไป แต่ถ้าหากมีการปรับเปลี่ยนจากนี้ก็ต้องเปลี่ยนแผนไปด้วย เพราะฉะนั้นคนกำหนดตัวชี้วัดข้างหน้าได้ก็ขึ้นอยู่กับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศได้ช่วยกัน” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว และว่า

ทั้งนี้จะต้องมีมาตรการขึ้นมา 4 ด้านด้วยกัน คือ ด้านสาธารณสุข ด้านการแพทย์ ด้านกฎหมายและสังคม และด้านสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่จะต้องมีการใช้กันทั้งประเทศ

ชูเป้าหมาย 3  ด้าน กดอัตราเสียชีวิตลงเหลือ 0.1%

สำหรับเป้าหมาย 3 ด้านที่จะต้องดำเนินการเพื่อการเข้าสู่โรคประจำถิ่นได้ คือ 1.อัตราการเสียชีวิตต้องไม่เกิน 0.1% 2.ความครอบคลุมของวัคซีนเข้มกระตุ้นมากกว่า 60% เพราะเข็มแรกเข็มสองเกินแล้ว แต่เข็มกระตุ้นยังต่ำอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูงอย่างผู้สูงอายุ อยู่ที่ประมาณ 20-30% เท่านั้น บางจังหวัดยังต่ำเป็นหลักหน่วยด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นต้องขอความร่วมมือกัน และเรื่องที่ 3. ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากๆ คือเรื่องการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง

“หลายคนพอประกาศว่า เราจะเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ก็ผ่อนคลายกันทันทีทันใด ณ เดี๋ยวนี้ เราจะไปไม่ถึงจุดหมายในการเป็นโรคประจำถิ่นในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ไม่ได้นะครับ ย้ำว่ายังไม่เกิดเดี๋ยวนี้ ตัวเลขยังสูงอยู่ เพราะฉะนั้นการสื่อสารประชาสัมพันธ์ยังคงต้องเข้มอยู่ และเข้มในการป้องกันส่วนตัว เราก็จะช่วยกดตัวเลขลงได้” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว

พบผู้สูงอายุ 2.17 ล้านคนไม่ได้ฉีดวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว

5.เรื่องวัคซีนโควิด พบว่าในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป 12.7 ล้านกว่าคน ได้เข็มแรกและเข็มสองอย่างละประมาณ 10 ล้านคน แต่เข็ม 3 อยู่ที่ 4.1 ล้านคนเท่านั้น เราเข้าเป้าในเข็มหนึ่งและเข็มสอง แต่พอเข็มสามเราอยู่ที่ 32.5% เท่านั้น เพราะฉนั้นยังมีกลุ่มผู้สุงอายุหลักหลายล้านรายยังขาดเข็มกระตุ้นอยู่ คือ กลุ่มเสี่ยงทำให้ป่วยหนักและเสียชีวิตได้ คณะกรรมการมีความห่วงใย

ขณะเดียวกันในส่วนของกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี ยังทยอยฉีดอยู่ โดยในเข็มกระตุ้นของเด็กยังได้เข้มสองเพียง 0.5% ผู้ปกครองก็ต้องช่วยกัน หากป่วยแล้วต้องนอนโรงพยาบาล เพราะไม่สมัครใจฉีดวัคซีน ก็จะไปใช้ทรัพยากรของเตียง เครื่องช่วยหายใจ มีเท่าไรก็จะไม่พอ การลดป่วยลดตายต้องมารับวัคซีน นี่คือสิ่งที่ศบค.เน้นย้ำ

“ผู้ที่ยังไม่สมัครใจรับวัคซีนขอให้เปลี่ยนใจเดี๋ยวนี้เลย หลายประเทศที่ได้รับวัคซีนสูงๆ เขาเปิดประเทศได้ ก็เพราะการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ทำให้สิ่งต่างๆที่เราผ่อนคลายขึ้นกับปริมาณการฉีดวัคซีนเช่นกัน ซึ่งหากเข้าถึงได้เร็วก็ปรับเปลี่ยนได้เร็ว”

“นอกจากนี้จากการเก็บข้อมูลผู้เสียชีวิต 928 ราย ตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ หรือเกือบพันคน พอวิเคราะห์เข้าไปแล้ว พบว่าผู้สูงอายุยังไม่ได้รับวัคซีน 2.17 ล้านคน โดยคนกลุ่มนี้เสียชีวิตไปถึง 557 คน อัตราการเสียชีวิตต่อประชากร 1 ล้านคนมีถึง 257 คน” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวในเชิงเป็นห่วงจากตัวเลขผู้สูงอายุกลุ่ม 608 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว

ย้ำฉีดเข็มกระตุ้น ลดอัตราการตายลงได้ 41 เท่า

“เพราะฉะนั้นถ้าลูกหลานจะกลับสงกรานต์ หากพบว่าพ่อแม่ปู่ย่าตายายยังไม่รับวัคซีน ตัวเลขตรงนี้ท่านต้องพึงระวัง เพราะจากการเก็บสถิติพบว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีน 2 เข็ม อัตราการเสียชีวิตลดลง 6 เท่า และหากฉีดเข็ม 3 อัตราการเสียชีวิตจะลดลงถึง 41 เท่า เพราะฉนั้นข้อมูลชุดนี้ต้องถึงพี่น้องประชาชนและต้องเน้นย้ำบ่อยๆ เพราะฉะนั้นการรับผิดชอบต่อตนเองคือรับผิดชอบต่อประเทศ นี่คือสิ่งที่นายกฯฝากมาและอยากให้ทุกๆท่านได้ใช้ชุดข้อมูลเหล่านี้เป็นตัวตัดสินใจ และต้องเร่งในตอนนี้ก่อนสงกรานต์ เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันก่อน 2 สัปดาห์

“ขอเรียกร้องกันเลยนะครับ ตอนนี้วัคซีนเรามีวัคซีนเหลือเฟือ เพียงพอ แน่นอน เราตั้งเป้าเข็มกระตุ้นให้ได้ถึงร้อยละ70 ก่อนเทศกาลสงกรานต์ มีวัคซีนที่ต้องเพิ่มไว้ 3 ล้านโดส เราเตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว และที่เรารณรงค์คือ เซฟ 608 ด้วยบูสเตอร์โดส รวมถึงการไปเคาะประตูบ้าน” นพ.ทวีศิลป์กล่าว และว่า

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับทราบในส่วนแผนการรับบริจาคและส่งคืนวัคซีนไปต่างประเทศด้วย กรมอนามัยจัดทำคู่มือจัดงานช่วงสงกรานต์แบบประเพณีดั้งเดิม รดน้ำดำหัว สรงน้ำพระ ห้ามประแป้ง งดสาดน้ำ ปาร์ตี้โฟม ห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงาน รวมถึงการประกาศขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปเป็นคราวที่ 17  มีผลตั้งแต 1 เมษายน-31 พฤษภาคม 2565