สั่งควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ห้ามนำเข้า-ขายบุหรี่ไฟฟ้า ทุกรูปแบบ

คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ มีมติเห็นชอบ ห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบในประเทศไทย หลังข้อมูลชี้ชัดทำให้เสพติดบุหรี่มากขึ้น

วันที่ 28 มีนาคม 2565 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) ครั้งที่ 1/2565

โดยมีนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สปสช. สสส. และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น เข้าร่วมประชุม

นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) ครั้งที่ 1/2565 มีมติเห็นชอบให้คงมาตรการห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ตามจุดยืนของประเทศไทยในฐานะประเทศรัฐภาคีภายใต้กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก เพื่อป้องกันเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ที่ไม่สูบบุหรี่ รวมถึงประชาชนทุกคน ไม่ให้ได้รับพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท ภายใต้แนวนโยบาย “ปลอดภัยไว้ก่อน เพื่อสุขภาพที่ดีที่สุด”

เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นต้นทางของการสูบบุหรี่ธรรมดาในเด็กและเยาวชน นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดการเสพติดที่สำคัญ นอกจากนั้น บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้เลิกบุหรี่ได้จริงแล้วยังส่งผลเสียต่อสังคม ทำให้ประเทศไทยถอยหลังในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ฉะนั้น การห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า

จึงเป็นมาตรการสำคัญในการปกป้องเด็กจากการตกเป็นเหยื่อ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และเตรียมพิจารณาหากเข้าเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องจะนำเสนอเข้า ครม.เพื่อให้ทราบมติจากที่ประชุมต่อไป


ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คผยช. กล่าวว่า แม้ขณะนี้ประเทศไทยมีมาตรการทางกฎหมายในการห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า แต่ยังพบมีการฝ่าฝืนสูบบุหรี่ไฟฟ้า จากผลสำรวจการบริโภคยาสูบของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบว่ามีคนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 78,742 คน ของประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นเพศชาย 71,486 คน เพศหญิง 7,256 คน ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และภาคกลาง โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กเยาวชนและวัยรุ่นอายุระหว่าง 15-24 ปี 24,050 คน