เปิดบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน นำเข้า-จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า

เปิดบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนนำเข้า-จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ปรับเงินสูงสุด 5 เท่าของสินค้า

คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 มีมติเห็นชอบให้คงมาตรการห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ตามจุดยืนของประเทศไทยในฐานะประเทศรัฐภาคีภายใต้กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก เพื่อป้องกันเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ที่ไม่สูบบุหรี่ รวมถึงประชาชนทุกคน ไม่ให้ได้รับพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท ภายใต้แนวนโยบาย “ปลอดภัยไว้ก่อน เพื่อสุขภาพที่ดีที่สุด”

ทั้งนี้ เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นต้นทางของการสูบบุหรี่ธรรมดาในเด็กและเยาวชน นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดการเสพติดที่สำคัญ อีกทั้งบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้เลิกบุหรี่ได้จริง แล้วยังส่งผลเสียต่อสังคม ทำให้ประเทศไทยถอยหลังในการควบคุมการบริโภคยาสูบ

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีมติเห็นชอบมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และเตรียมพิจารณาหากเข้าเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องจะนำเสนอเข้า (ครม.) เพื่อให้ทราบมติจากที่ประชุมต่อไป

“ประชาชาติธุรกิจ” พาทำความรู้จักบุหรี่ไฟฟ้า และอันตรายจากการใช้อุปกรณ์ดังกล่าว พร้อมเปิดข้อกฎหมายหากผู้ใดฝ่าฝืนนำเข้าและจำหน่าย

บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร

ข้อมูลจาก นพ.จตุภัทร คุณสงค์ จิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลกรุงเทพระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์สูบบุหรี่ชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้กลไกไฟฟ้าทำให้เกิดความร้อนและไอน้ำที่ประกอบไปด้วยสารเคมีต่าง ๆ โดยไม่มีควันจากกระบวนการเผาไหม้เหมือนบุหรี่ปกติทั่วไป ประกอบด้วยส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน คือ แบตเตอรี่  ตัวทำให้เกิดไอและความร้อน (Atomizer) และน้ำยา

ถ้ากล่าวถึงเฉพาะส่วนของน้ำยาที่จะถูกทำให้เป็นไอและเข้าสู่ร่างกายของผู้สูบ จะประกอบด้วยสารประกอบหลัก ๆ คือ นิโคติน, โพรไพลีนไกลคอล, กลีเซอรีน และ สารแต่งกลิ่นและรส

บุหรี่ไฟฟ้า อันตรายหรือไม่ ?

สารเคมีชนิดต่าง ๆ ที่พบในน้ำยาสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น นิโคติน เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง เพิ่มความดันโลหิต เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ มะเร็งช่องปาก หลอดอาหาร และตับอ่อน นอกจากนี้ นิโคตินยังกระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลเพิ่มขึ้น ซึ่งสารนี้ทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น เป็นสาเหตุของการเป็นโรคเบาหวาน

นิโคตินกระตุ้นให้จำนวนเซลล์ผนังหลอดเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้เส้นเลือดตีบ เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง สำหรับหญิงตั้งครรภ์นิโคตินส่งผลต่อการพัฒนาของสมองทารกในครรภ์ การได้รับสารนิโคตินในระดับที่สูง (60 mg ในผู้ใหญ่ และ 6 mg ในเด็กเล็ก) เสี่ยงต่อการเสียชีวิต

โทษฝ่าฝืน โทษสูงสุด ปรับ 5 เท่า คุก 10 ปี

สำหรับบทลงโทษบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นสินค้าต้องห้าม บุคคลที่มีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในความครอบครองตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ซึ่งผู้ที่ฝ่าฝืนลักลอบนำเข้าจะต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้าหรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงให้ริบสินค้า และพาหนะที่ใช้ในการบรรทุกสินค้านั้นด้วย

นอกจากนี้ ตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 ได้กำหนดโทษสำหรับผู้ประกอบธุรกิจทั่วไปให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ที่กระทำผิดเป็นผู้ประกอบธุรกิจในฐานะผู้ผลิต ผู้สั่ง หรือผู้ที่นำเข้ามาเพื่อขายต้องรับโทษเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

คนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเท่าไร

ขณะที่ผลสำรวจการบริโภคยาสูบของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2564 พบว่ามีคนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 78,742 คน ของประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นเพศชาย 71,486 คน เพศหญิง 7,256 คน ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯและภาคกลาง โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กเยาวชนและวัยรุ่นอายุระหว่าง 15-24 ปี ถึง 24,050 คน