ส่องแผนร่วมทุน PPP Book รถไฟฟ้า-ท่าเรือ-มอเตอร์เวย์ปรับเพิ่มวงเงิน

บนความยากลำบากของสถานการณ์โควิด 3 ปี (2563-2565) ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรง งบประมาณมีจำกัดแต่ความจำเป็นลงทุนโครงสร้างพื้นฐานประเทศยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

ทางเลือกในการลงทุนรูปแบบ PPP-Public Private Partnership หรือการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนจึงได้รับความสนใจมากขึ้นเป็นทวีคูณ โดยหน่วยงานเจ้าภาพ “สคร.-สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ” กระทรวงการคลัง ได้ประกาศ 11 ประเภทกิจการที่อยู่ในข่ายทำ PPP ได้

ยุคโควิดของแพง-แห่เพิ่มวงเงิน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจ PPP Book รอบเดือนสิงหาคม 2564 เปรียบเทียบรอบเดือนมีนาคม 2565 พบว่าแผนร่วมทุนประเภท PPP Initiative (เริ่มต้นศึกษาโครงการ) มีการปรับวงเงินลงทุน 19 โครงการ (ดูตารางประกอบ)

โดยเป็นการ “ปรับลด” วงเงินลงโดยมีความแตกต่าง 4 โครงการ ได้แก่ แผนร่วมลงทุนสถานีขนส่งสินค้านครพนม จาก 1,307 ล้านบาท ลดเหลือ 1,058 ล้านบาท, แผนร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสีแดง โรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะ เชียงใหม่ จาก 27,211 ล้านบาท ลดเหลือ 25,639 ล้านบาท

แผนร่วมลงทุนท่าเรือขนถ่ายสินค้าเหลว มาบตาพุด จาก 17,366 ล้านบาท ลดเหลือ 3,760 ล้านบาท และแผนร่วมลงทุนโคเวิร์กกิ้งสเปซรองรับนักท่องเที่ยว จาก 18 ล้านบาท เหลือ 9 ล้านบาท

และมี 3 โครงการที่ปรับวงเงินใกล้เคียงของเดิม ได้แก่ แผนร่วมลงทุนสถานีขนส่งสินค้ามุกดาหาร จาก 737 ล้านบาท ปรับเป็น 759 ล้านบาท, แผนร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสีเขียว ตลาดเซฟวัน-บ้านนารีสวัสดิ์ โคราช จาก 7,115 ล้านบาท ปรับเป็น 7,116 ล้านบาท และแผนร่วมลงทุนให้เอกชนเช่า ท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก จาก 2,856 ล้านบาท ปรับเป็น 2,853 ล้านบาท

โดยมี 1 โครงการที่ขอยกเลิกถอนตัวจากแผนร่วมลงทุนคือ โครงการพัฒนา 3 มิติ เมืองโบราณอู่ทอง วงเงิน 19 ล้านบาท

ในขณะที่มี 11 โครงการ ขยับวงเงินเพิ่มขึ้น อาทิ รถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีเทา วัชรพล-ทองหล่อ จาก 27,543 ล้านบาท เพิ่มเป็น 35,888 ล้านบาท, โครงการรถไฟฟ้ารางเบา บางนา-สุวรรณภูมิ จาก 26,792 ล้านบาท เพิ่มเป็น 36,937 ล้านบาท, แผนร่วมลงทุนมอเตอร์เวย์ M9 บางขุนเทียน-บางบัวทอง จาก 51,800 ล้านบาท เพิ่มเป็น 54,316 ล้านบาท, ท่าเรือขนถ่ายสินค้าทั่วไป มาบตาพุด จาก 2,184 ล้านบาท เพิ่มเป็น 5,112 ล้านบาท เป็นต้น

อุดช่องโหว่กฎหมายปี 2556

“ปานทิพย์ ศรีพิมล” ผู้อำนวยการ สคร. กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือบอร์ด PPP อัพเดตพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนปี 2562 ถือเป็นกฎหมายที่นิ่งที่สุดแล้ว เพราะปรับปรุงจากข้อปัญหาของกฎหมายในอดีต 3 ฉบับคือ ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 (ปว.58) พ.ร.บ.การร่วมลงทุนปี 2535 และ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนปี 2556

ทั้งนี้ “ผอ.ปานทิพย์” ยกตัวอย่างสาระสำคัญที่ควรรู้ อาทิ “มาตรา 7” อุดช่องโหว่กฎหมายปี 2556 กำหนดประเภท 11 กิจการที่ต้องทำ PPP ได้แก่ 1.กิจการถนน ทางหลวง ทางพิเศษ การขนส่งทางถนน 2.กิจการรถไฟ รถไฟฟ้า การขนส่งทางราง 3.กิจการท่าอากาศยาน การขนส่งทางอากาศ 4.กิจการท่าเรือ การขนส่งทางน้ำ

5.กิจการจัดการน้ำ การชลประทาน การประปา การบำบัดน้ำเสีย 6.กิจการพลังงาน 7.กิจการโทรคมนาคม การสื่อสาร 8.กิจการโรงพยาบาล การสาธารณสุข 9.กิจการที่อยู่อาศัยหรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้มีรายได้น้อยหรือปานกลาง ผู้สูงวัย ผู้ด้อยโอกาส หรือผู้พิการ และเพิ่มใหม่ประเภทที่ 11 กิจการโรงเรียน การศึกษา

สำหรับหน่วยงานรัฐทุกประเภท ข้อแนะนำมี 2 องค์ประกอบที่สามารถไขคำตอบ 1.กฎหมายจัดตั้งหน่วยงานระบุให้มีหน้าที่จัดทำโครงการ 2.โครงการหรือแผนลงทุนอยู่ในข่าย 11 กิจการหรือไม่

ม.72-กฎหมายล้างป่าช้า

ทั้งนี้ ในบทเฉพาะกาลมีการกำหนด “มาตรา 70” ตามกฎหมายร่วมลงทุนปี 2562 ให้คณะกรรมการที่แต่งตั้งตามมาตรา 72 ตามกฎหมายร่วมลงทุนปี 2556 ทำงานต่อไปได้จนกว่าคณะรัฐมนตรีจะสั่งการตามข้อเสนอของคณะกรรมการดังกล่าว

สาระสำคัญคือก่อนหน้านี้เมื่อมีปัญหาข้อพิพาทจากโครงการร่วมลงทุน เมื่อมีความเห็นไม่สอดคล้องกันระหว่างหน่วยงานจึงมักส่งปัญหาไปหารือที่กฤษฎีกา ทำให้การหาข้อยุติคั่งค้างจำนวนมาก โดยกรรมการตามมาตรา 72 ของปี 2556 เขียนให้ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน มีกรรมการตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้มีข้อเสนอทางเลือก 3 แนวทางคือ “แก้ไข-เดินหน้าต่อ-ยกเลิกโครงการ” แล้วนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.เป็นผู้ตัดสิน

“กฎหมายปี 2556 กรรมการมาตรา 72 จะเรียกว่าล้างป่าช้าก็ได้ เพราะมีโครงการที่มีข้อพิพาทคาราคาซังจำนวนมาก ก็ให้คณะกรรมการพูดคุยกันแล้วทำ 3 ทางเลือกให้ไปยุติที่ ครม. ทำให้ล้างไพ่ปัญหาตกค้างไปได้เยอะ”

ตั้งชุดเล็ก PPP Fast Track

ไฮไลต์ยังรวมถึง “มาตรา 26” ความสำคัญคือ มีการกำหนดไว้ในกฎหมายการร่วมลงทุนปี 2562 ให้มีคณะทำงาน PPP Fast Track ขึ้นมา โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้เป็นเวทีวอร์รูม หากมีข้อสงสัยให้นำมาหารือในคณะทำงานชุดเล็ก เพื่อให้การประชุมคณะทำงานชุดใหญ่สามารถหาข้อยุติได้รวดเร็วขึ้น

ตัวชี้วัดคือ ขั้นตอนและเวลาการทำแผน PPP ปกติใช้เวลา 2-3 ปี สามารถร่นเวลาเหลือเพียงไม่เกิน 9 เดือนได้