ชัชชาติ เผย 6 เรื่อง พัฒนาคุณภาพชีวิตคนกรุง ร่วมกับ TDRI

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหารือประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย 6 เรื่องต่อไปนี้ 1.เรื่องการศึกษา 2.การฝึกอาชีพ 3.หาบเร่แผงลอย 4. การขนส่ง 5.การแยกขยะ 6. ความโปร่งใส

วันที่ 16 มิถุนายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ว่า

การหารือร่วมกับ TDRI เป็นเรื่องที่ดีมาก ที่ทำให้เห็นมิติของความร่วมมือ ของ กทม. และ TDRI ซึ่งได้มีการศึกษานโยบายทั้ง 216 ข้อมา พร้อมให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์และทำให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับการหารือร่วมกันในวันนี้ ประกอบด้วย 6 เรื่องสำคัญ โดยเรื่องแรก เป็นเรื่องการศึกษา ซึ่ง TDRI ได้นำแผนการศึกษา 29 เรื่องภายใต้นโยบาย 216 ข้อมาศึกษาว่าจะดำเนินการอย่างไร หัวใจอย่างหนึ่งคือการมีเครือข่ายภาคีที่จะมาร่วมกัน มีคนที่มีความรู้ความสามารถจากหลายองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน โดย TDRI จะช่วยในการเชื่อมโยงเพื่อการปรับเรื่องคุณภาพของการศึกษา ซึ่งกทม. ก็มีความอิสระในระดับหนึ่งในการปรับเรื่องหลักสูตร อุปกรณ์ และครุภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งถือเป็นความร่วมมือที่สำคัญในเรื่องการศึกษา และเป็นหัวใจสำคัญในเรื่องการลดความเลื่อมล้ำ

เรื่องที่ 2 การฝึกอาชีพ ปัจจุบัน กทม. มีโรงเรียนฝึกอาชีพ และศูนย์ฝึกอาชีพอยู่แต่ยังไม่ตอบโจทย์ของความต้องการทางภาคอุตสาหกรรม รวมถึงธุรกิจในอนาคต หรือธุรกิจสร้างสรรค์ TDRI ได้แนะนำให้ปรับหลักสูตรการเรียนให้มีความทันสมัยขึ้น อาทิ coding หรือวิชา computer ต่างๆ โดยรับประกันได้ว่าเรียนจบแล้วมีงานทำ และจะดูว่าในอนาคตอาจจะมีพันธมิตรเข้าร่วมในการฝึกอาชีพ ซึ่งกทม. ต้องดำเนินการและมีส่วนช่วยดูแลในการเตรียมแรงงานที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจสมัยใหม่ ไม่ใช่เฉพาะแค่กลุ่มที่เป็นรากหญ้า ตลอดจนขยายการให้บริการแก่กลุ่มคนทำงาน หรือพนักงานออฟฟิศ ปรับความรู้ให้เชื่อมโยงกับความต้องการของตลาดด้วย

เรื่อง 3 เรื่อง หาบเร่-แผงลอย TDRI ได้ทำการศึกษามาโดยละเอียดว่าระเบียบของกทม. เป็นอย่างไร ซึ่งหลายอย่างมีความสอดคล้องกันทั้งในเรื่องการขึ้นทะเบียน การกำหนดพื้นที่ การจัดพื้นที่ทำการค้ารวม และการหาความร่วมมือกับเอกชน ทั้งนี้เรื่องหาบเร่-แผงลอย ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องหารือกันในระยะยาวต่อเนื่อง

เรื่องที่ 4 การขนส่ง TDRI ได้ให้คำแนะนำที่ดีในเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งกทม.สามารถรับไปดำเนินการได้ และมีข้อสังเกตหลายเรื่องที่ต้องศึกษา ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นเรื่องที่มีข้อมูลรายละเอียดมาก จะทำการหารือนอกรอบกันอีกครั้ง และได้หารือกันเรื่องป้ายรถเมล์ ควรจะมีการกำหนดจุดที่เหมาะสม

ซึ่งก็เป็นแผนที่กทม. ต้องทำ เนื่องจากรถเมล์ก็เป็นส่วนสำคัญของการเดินทาง ต้องมีข้อมูลอย่างเช่นระบบ GPS ว่าต้องรอรถเมล์นานเท่าไร และกระจายในทุกพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันป้ายรถเมล์รุ่นใหม่เป็นสิ่งที่ดี อาจจะขยายจากที่มีอยู่ในใจกลางเมืองออกไปถึงชานเมือง อาจจะเป็นป้ายรถเมล์เล็กๆ ติดตั้งในจุดที่เหมาะสม โดยประสานความร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบกด้วย

เรื่องที่ 5 แยกขยะ กทม. และ TDRI มีความเห็นตรงกันว่าในอนาคตคงจะฝังกลบยาก ดังนั้นการแยกขยะต้องเริ่มจากการแยกขยะเปียกและขยะแห้งก่อน โดยเริ่มทำพื้นที่นำร่องก่อน เช่น เริ่มจากบางสำนักงานเขต เนื่องจากต้องมีระบบในการจัดเก็บ ตั้งแต่การคัดแยก การเก็บขยะเปียกนำไปทำอะไร ขยะแห้งแยกเป็นรีไซเคิล หรืออาจจะทำเป็นเชื้อเพลิงต่อไป เรื่องนี้ต้องเริ่มเลย ไม่เช่นนั้นอนาคตจะมีขยะที่เหลือทิ้งและกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

และเรื่องที่ 6 เรื่องความโปร่งใส ซึ่งเป็นโจทย์ที่ ACT โครงการต่อต้านคอรัปชั่นได้มาหารือร่วมกับ TDRI โดย ACT จะเป็นเจ้าภาพในการศึกษาเรื่องนี้ ซึ่ง กทม. จะเน้นไปที่เรื่องการขอใบอนุญาตก่อสร้าง และใบอนุญาตต่างๆ ที่เป็น one stop service เพื่อลดปัญหาเรื่องทุจริตคอรัปชั่น ทำให้เกิดความโปร่งใสและการบริการที่สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

“เป็นการหารือที่ดีมาก โดยส่วนตัวเชื่อว่า TDRI เหมือนเป็นสมองให้กับหลายหน่วยงาน ปัญหาหลาย ๆ อย่างของกทม. TDRI ได้ทำการศึกษาไว้แล้ว การที่ได้ร่วมมือกันจะทำให้เราจะมีคำตอบที่รวดเร็วและถูกต้อง มีประสิทธิภาพมากขึ้น นโยบาย 216 ข้อ อาจมีข้อผิดพลาดอยู่บ้าง หาก TDRI มีข้อเสนอแนะหรือติชม กทม. ยินดีน้อมรับเพราะสุดท้ายแล้วก็เป็นประโยชน์ต่อประชาชน วันนี้เราเห็นมิติของความร่วมมือ เป็นมิติความหวังของคนกรุงเทพฯ ที่เรามาร่วมมือกันและเดินหน้าไปด้วยกัน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

ทั้งนี้ การประชุมในวันนี้ นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร และนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมประชุมด้วย ณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย TDRI ซ.รามคำแหง39 เขตวังทองหลาง