แผ่นดินไหวหมู่เกาะอันดามันถี่ยิบ ใกล้ภูเก็ต-พังงา ทุ่นเตือนภัยสึนามิใช้งานไม่ได้

เตือนแผ่นดินไหวหมู่เกาะอันดามัน
อัพเดตล่าสุด วันที่ 6 กรกฎาคม 2565 เวลา 14.30 น.

ดร.เสรี ศุภราทิตย์ เผยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 4-5 Mw ที่บริเวณหมู่เกาะอันดามันเกินกว่า 20 ครั้ง ใกล้ภูเก็ตและพังงา ขณะที่ทุ่นเตือนภัยสึนามิของไทยและอินเดียรวม 7 ทุ่น ใช้งานไม่ได้ เตือนแผ่นดินไหวขนาดเล็กหลายครั้ง อาจตามมาด้วยแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ และอาจเกิดสีนามิได้ แนะถ้ารู้สึกว่าแผ่นดินไหวริมชายฝั่งทะเล ให้รีบขึ้นที่สูง ด้านผู้ว่าฯภูเก็ตสั่งเตรียมพร้อมรับสถานการณ์

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊กเตือนภัยเกี่ยวกับสถานการณ์แผ่นดินไหวในทะเลอันดามันว่า เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4-5 Mw ที่บริเวณหมู่เกาะอันดามันกว่า 20 ครั้ง ในขณะเดียวกัน ทุ่นเตือนภัยในมหาสมุทรอินเดีย ทั้งของไทย (2 ทุ่น) และอินเดีย (5 ทุ่น) ใช้งานไม่ได้ ทำให้เกิดความตระหนก และกังวลเรื่องสึนามิชายฝั่งทะเลอันดามันเหมือนกับเหตุการณ์ในปี 2547 ผมขอทำความเข้าใจในประเด็นที่สำคัญดังนี้

1) แผ่นดินไหวที่จะทำให้เกิดสึนามิตามมาในระดับที่เป็นอันตรายต้องมีขนาดใหญ่ > 7.5 Mw
2) การเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กหลายครั้ง (Foreshock) อาจตามมาด้วยแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้
3) แผ่นดินไหวทุกครั้งไม่จำเป็นต้องเกิดสึนามิทุกครั้ง ขึ้นอยู่กับขนาด ความลึก แนวรรอยเลื่อน และลักษณะการมุดตัว
4) แม้ว่าแผ่นดินไหวคาดการณ์ และเตือนภัยไม่ได้ แต่เราสามารถคาดการณ์ และเตือนภัยสึนามิได้
5) ระบบเตือนภัยสึนามิโดยใช้ทุ่นมักจะได้รับความเสียหายบ่อยครั้ง จึงไม่ใช่ทางออก
6) ระบบคาดการณ์ และเตือนภัยโดยใช้ฐานข้อมูล จึงมีความจำเป็น โดยศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และภัยพิบัติ ใช้ระบบนี้เฝ้าระวัง (แต่เราเฝ้าระวังเฉพาะเวลาทำงาน 08.00-17.00) หากเกิดกลางคืน ตัวใครตัวมันน่ะครับ
7) ความตระหนักเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด กล่าวคือเมื่อรู้สึกว่าแผ่นดินไหวริมชายฝั่งทะเล ให้รีบขึ้นที่สูง แล้วท่านและครอบครัวที่รัก จะปลอดภัยครับ

ทางด้านกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานแผ่นดินไหวในประเทศและพื้นที่ใกล้เคียง เมื่อที่ 5 กรกฎาคม 2565 ว่า ยังคงเกิดแผ่นดินไหว ขนาด 4.0-4.9 Mw บริเวณหมู่เกาะอันดามัน ประเทศอินเดีย ถึง 19 ครั้ง ความลึกประมาณ 5-10 กิโลเมตร ส่วนใหญ่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดภูเก็ตและพังงา ประมาณ 458-515 กิโลเมตร ไม่นับรวมแผ่นดินไหวขนาดเล็กที่ประเทศเมียนมาจำนวนหลายครั้งมาก (ดูตารางท้ายสุด)

แผ่นดินไหวขนาด 4.6 หมู่เกาะอันดามัน

ล่าสุดวันนี้(6 ก.ค.) กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่ายังคงเกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.6 เมื่อช่วงเช้าเวลา 07.26 น. บริเวณหมู่เกาะอันดามัน ประเทศอินเดีย อยู่ห่างไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.เมือง จ.พังงา ประมาณ 515 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีแผ่นดินไหวขนาดเล็กที่ประเทศเมียนมาหลายครั้ง บริเวณศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากอ.แม่สาย จ.เชียงราย และอ.ฝาง จ.เชียงใหม่ประมาณ 36-84 กิโลเมตร และห่างจากอ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 51 กิโลเมตรด้วย

น้ำท่วมบริเวณชายฝั่งจ.ภูเก็ต

ทางด้านนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า กรณีเกิดเกิดแผ่นดินไหวจำนวน 23ครั้ง บริเวณนอกชายฝั่งหมู่เกาะนิโคบาร์ ห่างจากจังหวัดภูเก็ตไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 400 กิโลเมตร ประกอบกับน้ำทะเลหนุนขึ้นมาทำให้เกิดน้ำท่วมขังบนถนนช่วงระยะเวลาหนึ่ง ทำให้ประชาชนวิตกกังวลว่าจะเกิดสึนามินั้น

กรณีดังกล่าวได้กำชับให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต(ปภ.ภูเก็ต) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและถ้าเกิดเหตทุกหน่วยงานต้องเข้าพื้นที่ทันที พร้อมให้เตรียมเครื่องมือสำรวจอุปกรณ์ต่างๆให้เรียบร้อย

“ขณะนี้ยังไม่น่ากังวลมาก แต่มีการเตรียมพร้อมไว้แล้ว เพราะไม่ทราบจะเกิดอะไรขึ้นมาซึ่งชาวภูเก็ตเคยมีประสบการณ์คลื่นยักษ์สึนามิมาเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว เราก็ไม่ประมาท มีอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆมีเจ้าหน้าที่ดูแลอยู่ และการเตรียมการสำคัญ คือ การดูแลพี่น้องประชาชน” นายณรงค์ กล่าว

เตือนแผ่นดินไหวทะเลอันดามัน

เตือนแผ่นดินไหวหมู่เกาะอันดามัน

เตือนแผ่นดินไหวหมู่เกาะอันดามัน

เตือนแผ่นดินไหวหมู่เกาะอันดามัน

กรมอุตุฯรายงานแผ่นดินไหวหมู่เกาะอันดามัน

ล่าสุดดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาและ นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แถลงประเด็นแผ่นดินไหวผ่านทางไลฟ์เฟซบุ๊ก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM

โดยดร.ชมภารี ให้ข้อมูลว่า กลุ่มแผ่นดินเกิดขึ้นตามแนวพื้นมหาสมุทร ไม่ได้เลื่อนตัวทางแนวดิ่ง อยู่ในระดับไม่รุนแรง ในกรณีที่เกิดขึ้นช่วงวันที่ 4-6 ก.ค. ที่ผ่านมา พบมีการเกิดแผ่นดินไหว 32 ครั้ง อยู่ที่ระดับ 4.0-4.9 ริกเตอร์ ถือว่าเป็นการสั่นปานกลาง ไม่ก่อผลกระทบ หรือสินามิ และเหตุการณ์น้ำทะเลหนุนสูงเกิดจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ก่อตัวขึ้น ทำให้เกิดคลื่นสูง 2-3 เมตรในฝั่งอันดามัน แต่การเกิดแผ่นดินไหวนั้น ไม่ก่อให้เกิดสึนามิ

ทางด้านนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีหลักปฏิบัติในกรณีเกิดแผ่นดินไหว เมื่อได้รับการยืนยัน 7.8 ริกเตอร์ขึ้นไป เราจะแจ้งเตือนผ่านหอเตือนภัย 130 แห่ง เพื่อแจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ ๆ เสี่ยงทั้ง 6 จังหวัด เราจะส่งสัญญานจากที่ศูนย์ไปยังหอเตือนภัยปลายทาง ระบบเฝ้าระวังมีเจ้าหน้าที่คอยตามข้อมูลแนวโน้มการเกิดสึนามิ 24 ชั่วโมง

เรามีเครื่องมือในการใช้แจ้งเตือน เรียกว่าทุ่นสึนามิ หลังจากมีกรณีแผ่นดินไหว ถ้ามีแนวโน้มเกิดสึนามิ ทุ่นจะส่งสัญญาณมาที่กรม และส่งไปยังศูนย์ที่สหรัฐ แต่ในภาวะทุ่นไม่สามารถทำงานได้ เช่นในปัจจุบันนี้ ดังที่เป็นข่าว

เนื่องจากตัวทุ่นหลุดออกจากแท่นยึด เราจะมีระบบเครือข่าย คือทุ่นจากประเทศต่าง ๆ ที่จะส่งไปยังศูนย์กลางสหรัฐ แล้วส่งมายังประเทศเครือข่าย ซึ่งทุ่นในประเทศต่าง ๆ ก็ไมส่งสัญญาณ แต่ถ้าระกับ 7.8 ทางสหรัฐจะส่งข้อมูลการแจ้งเตือนมาให้ ทางเรายังได้รับข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ในกรณีที่ไม่มีทุ่นยังมีสถานีวัดระดับน้ำทะเลเรากับอินโดนีเซียที่ยังคอยส่งข้อมูลกันได้

นายบุญธรรมยังกล่าวต่อว่า มีการเตรียมความพร้อมศูนย์พักพิง นอกจากนั้นในช่วงเดือนมกราคมซึ่งถือว่าเป็นหน้าเทศกาลจะมีนักทองเที่ยวเยอะ เราได้เน้นย้ำผู้ว่าราชการจังหวัดให้เตรียมความพร้อม นอกจากนั้นแล้วในการเตรียมรับมือเราได้มีการกำหนดให้มีการฝึกซ้อมในระดับจังหวัด และระดับอำเภอ

โดยมีกำหนดการก่อนหน้าแล้ว คือ จังหวัดพังงาวันที่ 4 ก.ค. สตูลวันที่ 6 ก.ค. กระบี่วันที่  7 ก.ค. ระนองวันที่ 18 ก.ค. ตรังวันที่ 19 ก.ค. ภูเก็ตวันที่ 20 ก.ค. ซึ่งได้มีการวางเวลาไว้ก่อนหน้าอยู่แล้ว ขอให้พี่น้องประชาชนมีความมั่นใจ ว่าเรายังทำหน้าที่ เตรียมความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง

ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงกรณีทุ่นที่เสีย จะมีการติดตั้งตอนไหน นายบุญธรรมกล่าวว่า ทุ่นไม่สามารถติดตั้งได้ทันที เนื่องจากตัวที่ 1 ซึ่งเป้นตัวใหญ่ต้องรอส่งมอบจากต่างประเทศ ซึ่งจะมาถึงประเทศไทยในเดือนกรกฎาคมนี้ ส่วนตัวที่ 2 อยู่ใกล้ มีความพร้อมที่จะติดตั้งทันที่ แต่เนื่องจากสภาพคลื่นลมตอนนี้ไม่เหมาะที่จะออกไปติดตั้ง เบื้องต้นเรากำหนดไว้ที่เดือนพฤศจิกายน ในส่วนหอเตือนภัยสึนามิเรามีทั้งหมด 130 แห่ง มีซ่อมที่ภูเก็ต 1 แห่ง ที่ตำบลไม้ขาว