กทม.พร้อมผนึกกำลัง Greenpeace แก้ปัญหาฝุ่นจิ๋วและส่งเสริมพลังงานสะอาด

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

“ชัชชาติ” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมหารือกับผู้แทนกรีนพีซใน 2 ประเด็น ได้แก่ กรณีการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 และกรณีการส่งเสริมใช้พลังงานสะอาด

วันที่ 26 กรกฎาคม 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม ประชุมหารือแนวทางความร่วมมือในการลดฝุ่น PM2.5 รวมถึงการดำเนินการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในพื้นที่กรุงเทพฯ กับผู้แทนกรีนพีซ (Greenpeace) นำโดย นายสมบัติ เหสกุล และนายธารา บัวคำศรี ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า วันนี้ได้คุยกับกรีนพีซ เรื่องสิ่งแวดล้อม โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันที่จะทำอย่างไรให้สภาพสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพฯดีขึ้น มี 2 ประเด็นหลัก

1.ฝุ่น PM2.5 กรุงเทพมหานครมี 16 แผนปฏิบัติการ และกรีนพีซเน้นเรื่องการปรับมาตรฐานให้เข้มข้นตาม WHO หาพื้นที่ Sandbox (แซนด์บอกซ์) ที่จะทำต้นแบบการจำกัดเรื่องฝุ่น PM2.5 ซึ่งสอดคล้องกับ 16 แผนปฏิบัติการของกรุงเทพมหานครที่เริ่มเดินหน้าการตรวจฝุ่น ควันพิษ การติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นเพิ่ม ออกมาตรการเข้มข้นกับสถานประกอบการต่าง ๆ

2.การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดด้วยการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) อาจเริ่มจากหน่วยงานกรุงเทพมหานครก่อน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร หรือสวนสาธารณะ ซึ่งมีอยู่ในแนวคิดอยู่แล้ว แต่จะดูเรื่องการลงทุน ความคุ้มทุน ปัจจุบันมีหลายรูปแบบ เช่น การลงทุนร่วมกับเอกชน แต่คงไม่ได้หยุดแค่ Solar Rooftop ยังพูดถึงเรื่องพาหนะไฟฟ้า (EV) เพื่อลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากรถยนต์ด้วย

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ได้มีการพูดถึงเรื่องการกำจัดขยะ หลายอย่างตรงใจกัน การกำจัดขยะต้นทุนสูงมาก หัวใจหลักคือการลดต้นทุนในการกำจัดขยะ ถ้าลดตั้งแต่ต้นทางได้ทั้งกระบวนการก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีหลายมิติในการจัดการ ซึ่งตรงกัน เป็นแนวทางในการหาเครือข่ายขยายตัวขึ้น การทำงานจะเป็นรูปธรรมขึ้น

นายสมบัติ ผู้แทนกรีนพีซ กล่าวว่า เวลาพูดถึงขยะคนจะคิดถึงการกำจัดขยะ คำถามคือจะช่วยให้คนกรุงเทพมหานครรู้จักการจัดการขยะอย่างไร นี่คือหัวใจสำคัญ ตอนนี้งบประมาณในการจัดการขยะของ กทม.จริง ๆ อยู่ที่ 1 หมื่นกว่าล้านบาท ไม่ใช่ 7-8 พันล้าน

เงินของ กทม.มีจำกัด หากเอามาจัดการขยะอย่างเดียวคงไม่พอ ด้านการศึกษา สวัสดิการผู้สูงอายุ การกำกับดูแลเรื่องโรคติดต่อ ต้องใช้เงิน หากลดต้นทุนการจัดการขยะได้ก็จะมีเงินเหลือมาจัดการในเรื่องเหล่านี้ วันนี้ กทม.เก็บค่าธรรมเนียมจัดการขยะได้ต่ำมากเพียง 500-800 ล้านบาท ทำอย่างไรจะลดต้นทุนการจัดการขยะแล้วสร้างระบบการจัดการขยะจากทุกภาคส่วน ต้องมีแพลตฟอร์ม Startup (สตาร์ตอัพ) ระดับเขตที่เป็นเส้นเลือดฝอยจริง ๆ ยกระดับคนทำงานในพื้นที่อย่างซาเล้งให้เป็นเส้นเลือดฝอยที่สำคัญของ กทม.จริง ๆ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการจัดการขยะได้มากขึ้น

ด้านนายธารา ผู้แทนกรีนพีซ กล่าวเสริมว่า สิ่งที่กรีนพีซดูอยู่คือเรื่องแผนแม่บทการเปลี่ยนแปลงสภาพคุณภาพอากาศ ซึ่งได้รับการอนุมัติแล้ว เป็นแผนที่มองไปข้างหน้า 20 ปี นโยบายหลายด้านของผู้ว่าฯชัชชาติ เน้นหลายประเด็นเกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจก สิ่งที่กรีนพีซเสนอและมีการแลกเปลี่ยนไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้พลังงานหมุนเวียน การจัดการมลพิษทางอากาศในเมือง การจัดการขยะ จะนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรุงเทพฯ ที่ตั้งเป้าว่าจะเป็น Net Zero Emission ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าไปเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการในการจัดการสภาพภูมิอากาศของกรุงเทพมหานคร

นายพรพรหม ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวว่า นอกเหนือจากการเสนอของกรีนพีซในเรื่อง PM2.5 แล้ว กรุงเทพมหานครได้เสนอ 16 แผนปฏิบัติการ เช่น นักสืบฝุ่นในการหาต้นตอฝุ่น พื้นที่ปลอดฝุ่น การติดเซ็นเซอร์ตรวจวัดค่าฝุ่นเพิ่ม รวมถึงการทำอย่างในกับรถควันดำไม่เข้ามาในพื้นที่โดยเฉพาะรถบรรทุก ซึ่งกรุงเทพมหานครมีมาตรการดูตั้งแต่ต้นทาง ให้ไซต์ก่อสร้างพิจารณา กรีนพีซช่วยแชร์ข้อมูลการตรวจวัดฝุ่นจากสถานีตรวจวัดฝุ่นของกรุงเทพมหานครที่มีอยู่ 70 แห่ง ส่งเสริมให้ประชาชนรับรู้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปลายปี

“สิ่งแวดล้อม กทม.ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องร่วมมือกับภาคีเครือข่าย มีหลายจุดเริ่มต้นแล้ว มีการพบกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงทรัพยากรฯกับปลัดกรุงเทพมหานคร ต้องให้มีผลเป็นรูปธรรมในสิ้นปีนี้ มีการไปดูการจัดการขยะของมูลนิธิกระจกเงา พบกรีนพีซ ลงไปดูการกำจัดขยะจริง ๆ ในพื้นที่ ต้องทำ ระยะยาวต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ PM2.5 วันนี้ยังไม่วิกฤต แต่ถ้าถึงฤดูกาลก็จะหนักขึ้น

สิ่งที่จะนำร่องเป็นรูปธรรมและทำร่วมกับกรีนพีซได้ก่อนคือเรื่อง Sandbox และ Solar Rooftop ดูความเป็นไปได้ว่า กทม.จะลดค่าไฟโดยใช้โซลาร์เซลล์ได้มากน้อยแค่ไหน หาอันที่เป็นรูปธรรม สิ่งที่แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญ หลายอย่างสามารถเริ่มได้เลย” นายชัชชาติกล่าว