Round up รถไฟฟ้าใต้ดินสีส้มตะวันตก

รถไฟฟ้าสายสีส้ม

รถไฟฟ้าเมืองกรุงที่คนรอคอยมานานอีกเส้นทางหนึ่ง “สายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์”

โดยเป็นแผนลงทุนที่บรรจุในโครงการ “รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี” (สุวินทวงศ์) ซึ่งมีความยาวถึง 35.9 กิโลเมตร และแนวเส้นทางตัดจากขอบเมืองโซนบางขุนนนท์หรือโซนกรุงเทพฯตะวันตก ผ่าเข้าใจกลางเมืองย่านศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ถนนรัชดาภิเษก จากนั้นพาดผ่านไปแตะขอบเมืองโซนสุวินทวงศ์ หรือโซนกรุงเทพฯ ตะวันออก

ดังนั้นจึงมีการแยกประมูลเป็น 2 ช่วง โดยสื่อสารผ่านชื่อตามโซนเมืองให้เข้าใจง่าย แบ่งเป็นเส้นทาง “สีส้มตะวันออก” ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เปิดประมูลไปแล้ว อยู่ระหว่างก่อสร้าง

ล่าสุด จึงเหลือคิวเปิดประมูลของเส้นทาง “สีส้มตะวันตก” ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ เพื่อให้การก่อสร้างทำได้เต็มเส้นทางตามที่ออกแบบไว้ (ดูตารางประกอบ)

รายละเอียดเต็มโครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (ใต้ดิน 10 สถานี, ยกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

รฟม.

24 พ.ค. 65 เดินหน้าสีส้มตะวันตก

ไทม์ไลน์การเปิดประมูลเป็นทางการในปี 2565 เริ่มนับเมื่อวันอังคาร 24 พฤษภาคม 2565 โดย “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” ประกาศเชิญชวนเข้าร่วมคัดเลือกเป็นผู้ร่วมลงทุน ซึ่งเป็นลักษณะโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (ร่วมลงทุน PPP-Public Private Partnership) โดย รฟม.ลงทุนด้านการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งโครงการ รวมทั้งดำเนินการก่อสร้างงานโยธาโครงการส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

และผู้ร่วมลงทุน รับผิดชอบลงทุนงานออกแบบและก่อสร้างงานโยธาโครงการส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย งานออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง และทดสอบการทำงานของอุปกรณ์งานระบบรถไฟฟ้า รวมทั้งงานให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษาตลอดทั้งเส้นทาง รวมถึงเป็นผู้จัดเก็บค่าบริการ (PPP Net Cost)

โดยแผนร่วมลงทุนแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 มี 2 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 การออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง ทดสอบระบบรถไฟฟ้า และทดลองเดินรถไฟฟ้าของ “โครงการส่วนตะวันออก” เป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี 6 เดือน

กับส่วนที่ 2 การออกแบบและก่อสร้างงานโยธา และการออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง ทดสอบระบบรถไฟฟ้าและทดลองเดินรถไฟฟ้าของ “โครงการส่วนตะวันตก” เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 ปี

ระยะที่ 2 การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา เป็นระยะเวลา 30 ปี นับจากวันที่เริ่มให้บริการเดินรถไฟฟ้าโครงการส่วนตะวันออก

สำหรับการคัดเลือกดังกล่าว จะเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 และ พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย 2543 อย่างเคร่งครัด กำหนดเปิดขายซองประกวดราคาระหว่าง 27 พฤษภาคม-10 มิถุนายน 2565

10 มิ.ย.-14 รับเหมาซื้อซองประมูล

วันที่ 10 มิถุนายน 2565 รฟม.อัพเดตมี 14 บริษัทติดต่อขอซื้อเอกสารประกวดราคาทั้งสิ้น 14 ราย ดังนี้ 1.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM 2.บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD 4.บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC 5.บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) 6.China Harbour Engineering Company Limited

7.บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) 8.โตคิว คอนสตรัคชั่น คัมพานี ลิมิเต็ด 9.Incheon Transit Corporation 10.บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) 11.บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) 12.RH International (Singapore) Corporation PTE. LTD. 13.Kumagai Gumi Co., LTd. และ 14.บริษัท ซีเมนต์ โมบิลิตี้ จำกัด

ถัดมา วันที่ 15 มิถุนายน 2565 “กิตติกร ตันเปาว์” รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) รฟม. เป็นประธานในการประชุมชี้แจงการคัดเลือกเอกชนเข้าเป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงรายละเอียดแก่เอกชนผู้ซื้อเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนฯ (เอกสาร RFP) ถึงประเด็นที่ควรทราบเกี่ยวกับรายละเอียดโครงการหรืองานในสัญญา รวมถึงรายละเอียดการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการ

เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำเอกสารข้อเสนอ สำหรับการร่วมลงทุนก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้า และการซ่อมบำรุงรักษาต่อไป

สำหรับขั้นตอนต่อไป รฟม.มีกำหนดการให้เอกชนยื่นข้อเสนอ (ยื่นซองประมูล) ภายในเดือนกรกฎาคม 2565 โดยคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนได้ภายในปลายปี 2565

7 ก.ค.-มีคำสั่งศาลปกครองกลาง

ถัดมา วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 580/2564 ระหว่างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี (ผู้ฟ้องคดี) กับ คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี)

คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติยกเลิกการประมูลในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และ รฟม. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) มีประกาศ ลว. 3 ก.พ. 2564 ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ซื้อและยื่นเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย

โดยศาลปกครองกลางพิพากษาเพิกถอนมติของคณะกรรมการมาตรา 36 ที่เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้ม ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และเพิกถอนประกาศ รฟม. เรื่อง ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุน PPP สายสีส้ม และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติ และตั้งแต่วันที่ รฟม.มีประกาศดังกล่าว

ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ รฟม.สามารถยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาได้ภายใน 30 วัน

21 ก.ค.-รฟม.ชี้แจงข้อเท็จจริง

ทั้งนี้ วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 “สุรมนต์ มีเมศกุล” ผู้รับมอบอำนาจจาก BTSC ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนกรณีที่ รฟม.ได้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ)

ถัดมา วันที่ 21 กรกฎาคม 2565 รฟม.ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ดังนี้

1.ประเด็นคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 580/2564 ตามที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ให้เพิกถอนมติและประกาศยกเลิกการคัดเลือกเอกชนนั้น คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับ จนกว่าคดีจะถึงที่สุดตามมาตรา 70 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542

และปัจจุบัน รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 หรือ “คณะกรรมการคัดเลือก” อยู่ระหว่างใช้สิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน คดีดังกล่าวจึงยังไม่ถึงที่สุดแต่อย่างใด

2.ประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลห้ามคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ใช้เอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 นั้น ศาลพิพากษาว่า ศาลไม่อาจมีข้อสังเกตตามข้ออ้างดังกล่าวได้ เนื่องจากมิใช่ประเด็นแห่งคดี ประกอบกับศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ 354/2564 ไม่รับฟ้องในข้อหาที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ศาลพิพากษาห้ามมิให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม.กระทำการที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ และคำสั่งดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว

3.ประเด็นการกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอเอกชนร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตามประกาศเชิญชวนวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ในการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มีผู้แทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เข้าร่วมสังเกตการณ์ตามระบบข้อตกลงคุณธรรมด้วยทุกครั้ง ซึ่งการกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอฯ ได้พิจารณาโดยอ้างอิงจากระเบียบและกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

คุณสมบัติดังกล่าวจึงมีลักษณะเปิดกว้างเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และไม่เป็นการกีดกันหรือเอื้อประโยชน์แก่เอกชนรายใด

27 ก.ค.-2 ยักษ์รับเหมายื่นข้อเสนอ

ล่าสุด วันที่ 27 กรกฎาคม 2565 รฟม.อัพเดตความก้าวหน้าอีกครั้ง โดยมีผู้มายื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนทั้งสิ้น 2 ราย ได้แก่ 1.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) หรือ BEM 2. ITD Group

โดยขั้นตอนต่อไป รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 จะพิจารณาข้อเสนอ และดำเนินการตามขั้นตอนในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 ต่อไป