“กสทช.” หัก “นที” รื้อเกณฑ์คุม OTT เลิกเส้นตายเฟซบุ๊ก

บอร์ด กสทช.กำจัดจุดอ่อน สั่งยกร่างหลักเกณฑ์กำกับ OTT เปิดเวทีประชาพิจารณ์ ปิดข้ออ้าง 2 ยักษ์ต่างชาติฟ้องร้อง เร่งสปีดให้เสร็จใน 90 วัน ลั่นต้องทัน 6 ต.ค. เป็นผลงานบอร์ดชุดนี้ ย้ำแค่ขยับเส้นตาย บีบ “เฟซบุ๊ก-ยูทูบ” ลงทะเบียน

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด กสทช.ล่าสุด (5 ก.ค. 2560) มีมติให้คณะอนุกรรมการกำกับการแพร่ภาพและเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต (OTT) ยกร่างหลักเกณฑ์การกำกับ OTT ให้เสร็จภายใน 30 วัน เพื่อเสนอให้บอร์ด กสทช.พิจารณา ก่อนนำออกประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นสาธารณะ วิเคราะห์ข้อดีข้อเสียและผลกระทบต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับปรุงแล้วเสนอให้บอร์ดพิจารณาอนุมัติเพื่อประกาศใช้ในราชกิจจา นุเบกษา โดยมีกรอบเวลาดำเนินงานทั้งหมด 90 วัน

“ที่ประชุม กสทช.เห็นว่า การทำธุรกิจ OTT ที่เปิดให้บริการในประเทศไทยต้องอยู่ภายใต้กฎหมายประเทศไทย แต่แนวทางกำกับของเดิมแม้ประธานอนุกรรมการ (พ.อ.นที ศุกลรัตน์) จะยืนยันว่ากระบวนการปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างถูกต้องแล้ว แต่ประธาน กสทช. พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ได้มีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับข้อท้วงติงที่เผยแพร่สู่สาธารณะ เสนอให้ที่ประชุมพิจารณา ที่ประชุมจึงมีการอภิปรายเกี่ยวกับข้อห่วงใยเรื่องการบังคับใช้ตามกฎหมายว่า จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ หลังจากมีข้อโต้แย้งกลับมา ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นการดำเนินการตามมติของบอร์ด กสท. ยังไม่ใช่บอร์ดใหญ่ ดังนั้นเพื่อปิดจุดอ่อนที่จะทำให้เอกชนฟ้องร้องได้ และเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในการกำกับดูแลที่จะไม่มีข้อโต้แย้งในอนาคต จึงมีมติให้คณะอนุกรรมการ OTT ยกร่างประกาศ กสทช.ขึ้นมาให้ชัดเจน โดยทั้งหมดต้องทำให้เสร็จภายในวันที่ 6 ต.ค.นี้ ซึ่งบอร์ด กสทช.จะหมดวาระ เพื่อให้เป็นผลงานของบอร์ดชุดนี้”

ส่วนกระบวนการลงทะเบียนของผู้ให้บริการ OTT ก่อนหน้านี้ จะต้องดำเนินการใหม่ทั้งหมดตามประกาศหลักเกณฑ์ที่จะนำมาบังคับใช้ ดังนั้น กำหนดเส้นตายการลงทะเบียน 22 ก.ค.นี้ จะถูกเลื่อนออกไปก่อน จนกว่าหลักเกณฑ์กำกับดูแลจะประกาศใช้

“ในที่ประชุมอภิปรายกันหลาย ประเด็น ทั้งในส่วนที่ว่าจะต้องการออกหลักเกณฑ์เป็นประกาศ กสทช. ต้องมีหรือไม่ กรอบระยะเวลาดำเนินการ ข้อดีข้อเสียในการดำเนินการที่ผ่านมา วิเคราะห์ว่าจะมีจุดอ่อนในการถูกฟ้องร้องทำให้กฎเกณฑ์ไม่มีผลบังคับต่อไป หรือไม่ ก็ได้ข้อสรุปมาว่าต้องออกร่างประกาศ กสทช.ออกมา ส่วนจะมีเนื้อหาอย่างไรนั้น ก็ต้องรอให้ที่ประชุมอนุกรรมการยกร่างมาก่อน ซึ่งทาง พ.อ.นทีแจ้งว่าอาจจะต้องมีการปรับปรุงจากแนวทางเดิมที่กำหนดไว้เล็กน้อย”

ขณะที่การครบวาระของบอร์ด กสทช. ที่เหลือเวลาอีกไม่มากนั้น เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ไม่มีผลกระทบกับการขับเคลื่อนนโยบายกำกับ OTT เนื่องจากตราบใดที่บอร์ด กสทช.ชุดใหม่ยังไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เข้ารับตำแหน่ง บอร์ดชุดเดิมจะเป็นผู้รักษาการไปพลางก่อน สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ แทนได้ ส่วนกระบวนการสรรหาบอร์ด กสทช.ชุดใหม่เป็นหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มกระบวนการใด ๆ จึงคาดว่าบอร์ดชุดปัจจุบันจะต้องรักษาแทนไประยะหนึ่ง

ด้านแหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช. เปิดเผยว่า การยกร่างหลักเกณฑ์กำกับดูแล OTT ต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ซึ่งให้อำนาจ กสทช.ในการกำกับดูแลการให้บริการ OTT ไม่ว่าจะถือว่าบริการดังกล่าวเป็นบริการประเภทบรอดแคสต์หรือโทรคมนาคม แต่ปัญหาคือ หากเป็นบริการด้านบรอดแคสต์ ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 คุณสมบัติของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจาก กสทช.ได้ หุ้นส่วนบริษัทต้องเป็นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่า 75% ดังนั้นผู้ประกอบการ OTT รายใหญ่ แม้จะมาตั้งออฟฟิศ จดทะเบียนตั้งนิติบุคคลในประเทศไทย ก็ไม่ได้ทำให้เป็นผู้ให้บริการสัญชาติไทยไปได้ เพราะส่วนใหญ่จะจดทะเบียนหุ้นเป็นต่างด้าวทั้ง 100% จึงเท่ากับว่าบริษัทเหล่านี้ไม่สามารถรับใบอนุญาตและประกอบกิจการบรอดแคสต์ ในไทยได้

“ประเด็นนี้จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ กสทช.จะต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร เนื่องจากวัตถุประสงค์เดิมที่กำหนดเงื่อนไขไว้เช่นนี้ เพราะมองว่าบริการบรอดแคสต์เป็นกิจการที่มีผลกระทบโดยตรงกับสังคม จึงมีเงื่อนไขเรื่องต่างด้าวที่เข้มงวดกว่ากิจการด้านโทรคมนาคม”